ถอดโมเดล ร้าน “ทุกอย่างราคาเดียว” ทำยังไงให้รอดตายได้ทุกยุค


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่า ธุรกิจร้าน “สินค้าราคาเดียว” ที่มีหลากหลายระดับราคาขาย เริ่มตั้งแต่ทุกอย่าง 10 บาท, 20 บาท, 60 บาทไปจนถึง 69 บาทจะได้รับความนิยมอย่างมากจนผุดขึ้นราวดอกเห็ดทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และโดยเฉพาะต่างจังหวัด

ด้วยกลยุทธ์ชูจุดแข็งเกาะกระแสญี่ปุ่น “ดูแพง” แต่ “ขายถูก” คุณภาพเหนือราคา การแข่งขันจึง ดุเดือด ไล่บี้กันตั้งแต่ความหลากหลายของสินค้า คุณภาพ นวัตกรรม ดีไซน์ แฟชั่น การจัดวางหรือดิสเพลย์ที่ดึงดูดใจ ตลอดจนบรรยากาศภายในร้าน ด้วยมูลค่ากว่าปีละ 3,000 ล้านบาท โตต่อเนื่องปีละ 20-50%

ถ้าดูจำนวนสาขา ธุรกิจนี้เติบโตมากกว่า 50% มีผู้ประกอบการที่ชิงพื้นที่ในตลาดประมาณ 15 แบรนด์ มีตั้งแต่ ญี่ปุ่นแท้ๆไปจนถึงไทยจีน เกาหลี และมาเลเซียที่แปลงร่างเป็นญี่ปุ่น รวมแล้วมีสาขาเกือบๆ 600 สาขา โดยมียอดลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 คนต่อสาขาต่อเดือน ใช้จ่ายต่อบิลไม่ต่ำกว่าครั้งละ 200 บาท

ร้านค้าที่เป็นที่นิยมเป็นอันดับต้นๆคงไม่พ้น Daiso (ไดโซ) ซึ่งมีทั้งสิ้น 92 สาขา Daiso หรือร้าน 100 เยนในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้บุกเบิกตลาด “สินค้าราคาเดียว” เจ้าแรกในไทย ตั้งแต่ปี 2546 ขายสินค้ากว่า 10,000 รายการ ทุกอย่างราคาเดียว คือ 60 บาท ร้าน KOMONOYA ไลฟ์สไตล์ช็อปสัญชาติญี่ปุ่น ที่ ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล ขายสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นในราคาเริ่มต้น 60 บาท เน้นกลุ่มสินค้าประเภทอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านที่มีฟังก์ชันใช้งานได้จริง คุ้มค่า ราคาไม่แพง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่

 

 

นอกจากนี้มีร้าน MINISO แบรนด์จีนที่แปลงร่างคล้ายแบรนด์ญี่ปุ่น ชูความเป็นร้านจำหน่ายสินค้าดีไซน์มินิมอล ครอบคลุมหลายกลุ่มลูกค้า มีหลากหลายราคา เริ่มต้นที่ 69 บาท จนถึงราคาหลักร้อยขณะที่แบรนด์จีนอย่างร้าน Mumuso ฉีกคอนเซปต์เป็นสินค้าสไตล์เกาหลี ขายสินค้าหลากหลายกว่า 3,000 รายการ ครอบคลุม 8 กลุ่มสินค้า อาทิ สินค้าเด็ก เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน ไอที กระเป๋า เครื่องเขียน สกินแคร์ และเครื่องสำอาง ราคาเริ่มต้น 39 บาท

ร้าน Arcova ร้านไลฟ์สไตล์ช็อปสัญชาติเกาหลี ที่สร้างความแตกต่างด้วยสินค้าสไตล์เกาหลี ราคาเริ่มต้น 50 บาท, ร้าน Tokutokuya เป็นร้านระบบสมาชิก ใช้กลยุทธ์ยึดโยงกับลูกค้าสร้างรอยัลตี้ ขายราคาเดียวที่ 60 บาท และร้าน Can Do ชูแคมเปญโปรโมชันที่มีจัดต่อเนื่องตลอดทั้งปี ราคาเริ่มต้น 60 บาท เช่นกันส่วนร้าน Look Cool และ MR.D.I.Y. ร้านไลฟ์สไตล์ช็อปสัญชาติมาเลเซีย ขายสินค้าจิปาถะต่างๆ ราคาเริ่มต้น 5 บาท จนถึงหลักพันบาท มีสินค้าขายในร้านมากกว่า 20,000 รายการ ครอบคลุม 9 กลุ่มสินค้า คือ อุปกรณ์เครื่องมือฮาร์ดแวร์ ของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ประดับยนต์ ของเล่น เครื่องเขียน ของขวัญ กีฬา เครื่องประดับและเครื่องสำอาง

 

ขณะที่แบรนด์ไทยล้วนๆอย่างร้าน Just Buy กลุ่มโรบินสัน เน้นขายสินค้าหลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่สไตล์ญี่ปุ่นอย่างเดียว ราคาเริ่มต้น 60 บาท, ร้าน Penguin12shop เริ่มต้น 12 บาท, Bear Store ขายราคาเดียว 20 บาท เน้นสินค้าดีไซน์ทันสมัย ราคาถูก, Moshi Moshi ขายราคาเริ่มต้น 20 บาท ด้วยสินค้าดีไซน์ทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่, ร้าน MINI MONO ภายใต้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่ขายสารพัดสินค้าราคาเริ่มต้น 60 บาท และร้าน STRAWBERRY CLUB ที่ขายสินค้าทุกอย่างเริ่มต้น 10 บาท รวมกว่า 1,000 รายการ ใน 6 กลุ่มสินค้า อาทิ กิฟต์ช็อป ของใช้ต่างๆ อุปกรณ์ไอที กระเป๋าช็อปปิ้ง งานไม้ อุปกรณ์เสริมสวย

 

 

แม้การแข่งขันจะดุเดือดย่างไร ไดโซก็ยังคงความเป็นเจ้าตลาดทั้งจำนวนสาขาและยอดขาย ด้วยกลยุทธ์ชูความเป็นร้าน 100 เยน ร้านไลฟ์สไตล์ช็อปราคาเดียว 60 บาท สินค้าในร้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของใช้ในครัวเรือน และเพิ่มหมวดสกินแคร์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าไฮไลต์จากญี่ปุ่นเข้ามาเพิ่มเติม

สำหรับกลยุทธ์ของร้านค้าราคาเดียว สินค้าส่วนใหญ่ เป็นประเภท Fast Fashion ที่มีดีไซน์เปลี่ยนตามฤดูกาล สิ่งที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงตัวสินค้าได้ดีที่สุดคือ การเข้ามาสัมผัสสินค้าและบรรยากาศในร้านด้วยตัวเอง รวมทั้งการดีไซน์ ตกแต่งร้านต้องชูความเป็นญี่ปุ่น ตัวสินค้า บรรจุภัณฑ์ ชุดพนักงาน สไตล์การให้บริการแม้กระทั่ง ชื่อร้านก็ต้องมีความเป็นญี่ปุ่นด้วย การจัดแบ่งหมวดหมู่ จำนวนสินค้า ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ยิ่งโลกออนไลน์ และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีผลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เทรนด์ต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งมีความสำคัญ
หัวใจที่ทำให้ร้านทุกอย่างราคาเดียวเติบโตและขยายได้รวดเร็ว

และที่จะปฏิเสธไม่ได้คือ การที่ร้านค้าเหล่านี้เฝ้าติดตามเทรนด์สินค้า พฤติกรรมผู้บริโภค แล้วนำ 2 สิ่งเหล่านี้ มาผสานกันในราคาถูก ราคาเดียว จูงใจให้มีการซื้อซ้ำเมื่อใช้หมด

 

 

คำถามคือ ถ้าอยากให้ “ร้านค้าราคาเดียว” ไม่ตายแถมยังอยู่รอดได้ทุกยุค ไม่ว่าในเศรษฐกิจแบบไหน ต้องทำอย่างไร?

คำตอบก็คือ ร้านคุณต้องมีคอนเซปต์ที่ชัด ถูกจริตผู้บริโภคยุคนี้ที่ต้องการ “ของดี คุ้มค่า ราคาถูก” มีสินค้าหลากหลายให้เลือก สมราคา ตรงความต้องการผู้ประกอบการ มีไอเดียแปลกใหม่ ใช้งานแล้วช่วยให้ชีวิตสะดวก หมั่นมีโปรโมชั่นหรือกลยุทธ์กระตุ้นการขายที่ทำให้ลูกค้าหยิบสินค้ามากกว่าหนึ่งรายการแบบไม่กังวลเรื่องราคา ก็จะทำให้ร้านคุณเป็นตัวเลือกในใจที่ไม่ว่าเดินเข้ามาเมื่อไหร่ ก็อดใจที่จับจ่ายไม่ไหว นั่นเอง

Source : Bangkok Bank SME