หากเอ่ยถึงสินค้าที่เป็น “แบรนด์เนม” สุดหรู แน่นอนว่าจะต้องมีแบรนด์ Gucci (กุชชี่) ติดโผบนสินค้าราคาแพงที่เป็นที่ต้องการของคนทั้งโลกอย่างแน่นอน
Gucci ก้าวเดินคู่กับวงการแฟชั่นโลกมานานร่วม 100 ปีแล้ว และแม้อายุจะนานเท่ากับคนแก่วัยชราสุดๆ คนหนึ่ง แต่สินค้าหรูหราของแบรนด์นี้ยังคงครองใจคนมาทุกยุคสมัย แม้แต่วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนยุคมิลเลนเนียล หรือรวมไปถึงคนเจน Z ก็เปิดให้ Gucci เข้ามาอยู่ในหัวใจได้เหมือนกัน
เพราะสิ่งที่สะท้อนว่าสินค้าสุดหรูหราแบรนด์นี้มันครองใจคนรุ่นใหม่ คือตัวเลขยอดขายของ Gucci ที่มีถึง 62% มาจากคนซื้อที่อายุต่ำกว่า 35 ปี หรือคิดเป็นมูลค่าขายได้ทั่วโลกราว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเป็นเงินไทยก็ราว 2.4 แสนล้านบาท
ซึ่งตัวเลขนี้น่าสนใจตรงที่ว่า กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 35 ปี คือ กลุ่มคนที่สินค้าแบรนด์เนมเจาะตลาดได้ยากที่สุด แต่ไม่ใช่กับ Gucci เพราะพวกเขาได้ตลาดกลุ่มนี้มาครองอย่างถล่มทลาย
Marco Bizzarri ซีอีโอของ Gucci ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนแบรนด์ให้เติบโตอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ที่เข้ามาบริหาร “แบรนด์เนม” ยี่ห้อนี้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เขาเผยถึงความสำเร็จของ Gucci ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า “มันคือการหาสมดุลระหว่างการสร้างสรรค์กับเทคโนโลยี และศิลปะ”
เทคโนโลยีที่ถูก Gucci หยิบนำมาใช้ หากเป็นตัวอย่างที่พอเห็นภาพคือ การเปิดตัว “Gucci ArtLab” ที่เปิดโอกาสให้ช่างที่มีฝีมือ สามารถครีเอทสินค้าของ Gucci ได้ด้วยตัวเอง และมันเป็นงานทำมือที่ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ในแง่ของสินค้าที่ “ไม่เหมือนใคร” ก็ทำให้ไม่ยากที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคในเจนมิลเลนเนียม หรือคนเจน Z ที่วัยสูงสุดของกลุ่มนี้คืออายุแค่ 24 ปีเท่านั้น ผลของ Gucci ArtLab มันทำให้เกิดการเพิ่มสีสันที่น่าตื่นตาตื่นใจมาสู่แบรนด์
Bizzarri ให้ภาพกับเรื่องเทคโนโลยี ว่า Gucci ไม่ได้กลัว แต่กลับมอง “ในแง่ดี” เพราะเห็นโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ทำงานที่น่าเบื่อ แล้วนำเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่น เช่นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เขาจึงนำเทคโนโลยีมาใช้กับบริษัทเพื่อช่วยให้ประสบการณ์การชอปปิ้งของผู้บริโภคเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น ทั้งยังทุ่มทุนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารชัพพลายเชน การคาดหมายยอดขาย และระบบสั่งการด้วยเสียงสำหรับพนักงานขายในร้าน สิ่งเหล่านี้ช่วยดึงดูดเจน Z ซึ่งเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการคาดหมายว่าการช้อปฯ จะต้องไร้รอยต่อ
เห็นได้ชัดว่า ทิศทางการบริหารของแบรนด์เนมดังระดับโลกอย่าง Gucci ค่อนข้างให้ความสำคัญอย่างมากกับกลุ่มผู้บริโภค “หน้าใหม่” หรือกับคนรุ่นใหม่ เห็นได้จากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 4 ปี ที่ผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นอย่าง Bizzarri เข้ามา “รัน” ให้กับ Gucci เขาตระเวนไปทั่วโลกเพื่อตั้ง “บอร์ดบริหารเงา” ซึ่งประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี เพื่อให้สะท้อนมุมมองทุกด้านของความต้องการของคนวัยนี้กลับมาสู่องค์กร เพื่อผลิตสินค้าหรูหราให้ตรงกับความต้องการของตลาดนี้มากที่สุด
และที่น่าสนใจคือ เขาเชิญคนรุ่นใหม่อยู่บ่อยครั้งให้เดินเข้าสำนักงานใหญ่ของ Gucci เพื่อขอการ “เบรนด์สตรอม” หรือการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ Gucci แม้ว่าตัวแบรนด์มันจะขายได้ด้วย “ชื่อ” ของตัวเองก็ตาม แต่สิ่งที่ Bizzarri มันสะท้อนได้ว่าแบรนด์เนมยี่ห้อนี้ ไม่หยุดยั้งในการเดินหน้าเพื่อ “เอาใจ” ผู้บริโภค
“ในฐานะซีอีโอ ผมต้องลดอีโกลงไปเสียบ้าง เพราะในโลกยุคนี้ที่เรากำลังดำรงชีพอยู่ เราไม่อาจจะรู้ไปทุกเรื่องได้ และเรื่องบางเรื่องคนรุ่นใหม่เขารู้ดีกว่าคนรุ่นเรา” พลังแง่บวกที่สะท้อนถึงการทำงานของ Bizzarri ที่ให้สัมภาษณ์เอาไว้กับสื่อต่างประเทศ
มือดีที่อยู่ข้างกาย Bizzarri คือผู้อำนวยการครีเอทีฟอย่าง Alessandro Michele หลังจากทั้งคู่เข้ามาบริหารจัดการ Gucci แง่บวกกลับเพิ่มให้กับองค์กรนี้ทันที เพราะธุรกิจขยายตัวได้สูงถึง 3 เท่า มีพนักงานใหม่เข้ามาร่วมงานกว่า 8,000 คน และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมของฝ่ายสนับสนุนในการจัดหาสินค้า อย่างซัพพลายเชน ซึ่งทำให้บริษัทสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ 3 เท่าอย่างรวดเร็ว อันตอบรับกับความต้องการของลูกค้าในยุคนี้ที่เมื่อชอบสินค้าใดแล้ว ก็อยากได้ไว้ในครอบครองทันที
ถือเป็นอีกแบรนด์เนมที่ใช้ “ความเคลื่อนไหว” ของโลกมาประยุกต์ใช้กับแบรนด์ที่มีอายุร่วมร้อยปีได้อย่างลงตัว จากมันสมองของผู้นำองค์กรที่ไม่ยอมให้ความใหม่ ความคิดของคนรุ่นใหม่มาครอบงำความทะนงตัวที่มี และเดินหน้าแบรนด์ให้เป็นของคู่กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างราบรื่น