ภาวะกลัวตกกระแส 5G


ภาวะกลัวตกกระแสสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้หลายคนหมกมุ่นกับการเช็กข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ตลอดเวลา จนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตหรือที่เรียกกันว่า FOMO (Fear of Missing Out) ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการแสดงออกและความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง

ตอนนี้ในระดับประเทศก็มีภาวะที่คล้ายคลึงกัน แต่เป็นภาวะกลัวตกกระแส 5G ทำให้พยายามกระพือข่าวให้รีบเร่งประมูล 5G ทั้งที่ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่า เราพร้อมมีบริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้วหรือยัง ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่า เราต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไปสู่ยุค 5G การเปลี่ยนผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก 2G มาสู่ 3G 4G และ 5G ตามลำดับเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ช่วงทองของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละยุคอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ก่อนที่จะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในอีก 10 ปีต่อมา จนเลิกผลิตอุปกรณ์ที่ล้าสมัยในที่สุด จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ก้าวสู่ 5G

5G จะสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมต่างๆ ก้าวกระโดดสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างแท้จริง แต่ไม่ใช่ใน 2 ปีนี้ จากการสำรวจผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลก คาดการณ์ว่า ในระยะเริ่มแรก บริการหลักที่สร้างรายได้ของ 5G จะเกิดจาก “บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” ร้อยละ 74 “บริการอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” ร้อยละ 21 และ “บริการสื่อสารความหน่วงต่ำ” เพียงร้อยละ 5 ดังนั้นโมเดลธุรกิจของ 5G ในช่วงแรกคือการให้บริการ Immersive content เช่น AR VR และ Time slice broadcasting บริการนี้จึงเป็น Cash cow ของ 5G ระยะแรก

ส่วนการใช้ 5G ในอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ เริ่มมีการใช้ในการควบคุมทางไกลกับหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร บริการสื่อสารความหน่วงต่ำนี้จึงเป็น Rising star ของ 5G แต่การพัฒนาบริการนี้ต้องอยู่บนฐานความร่วมมือกับอุตสาหกรรมนั้นๆ ต่างจากการเสนอขายบริการการสื่อสารสำเร็จรูปแบบดั้งเดิม และในส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งก็ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาและการกำหนดมาตรฐานในระดับโลกของแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์อัจฉริยะ หรืออากาศยานไร้คนขับ คงใช้เวลาอีกระยะกว่าจะเห็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์

ดังนั้น การจัดสรรคลื่นความถี่จึงไม่ใช่คอขวดที่แท้จริงของการก้าวสู่ 5G แต่เป็นตัวอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและ use case ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้รัฐอยู่เฉยๆ รอให้ 5G สุกงอมเอง เพราะอย่างที่ยอมรับกันแล้วว่า 5G ต้องอยู่บนฐานความร่วมมือ รัฐจึงต้องมีภาระในการสร้างให้เกิดความร่วมมือ

การเปิดบริการ 5G ที่เร็วไปไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใด ยกเว้นผู้ขายอุปกรณ์และโครงข่าย ที่กระพือข่าว 5G อย่างต่อเนื่องเพื่อยอดขายของตน แต่สำหรับค่ายมือถือ หากอุปกรณ์ใช้งานยังมีไม่มาก Immersive content ยังไม่เพียงพอ การลงทุน 5G คือการก่อหนี้ทันที แต่ต้องรอรายได้ในอนาคต ต่างจากการประมูล 3G และ 4G ที่มีอุปกรณ์พร้อมและมีความต้องการใช้งานรออยู่ ทำให้สร้างผลตอบแทนได้ตั้งแต่ปีแรกของการเปิดบริการ

เราจึงไม่ควรตกอยู่ภายใต้ภาวะ FOMO จนทำให้ 5G คลอดก่อนกำหนดหรือท้องไม่พร้อม แต่ต้องเตรียมความพร้อมให้เกิด 5G ที่ก่อประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง

อ้างอิง: กสทช.