เผยผลสำรวจ แนวโน้มเงินเดือนคนไทย ในปี 2568
บริษัทจัดหางานชื่อดัง โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มเงินเดือนประจำปี 2568 ทั้งตลาดแรงงานทั่วโลกและประเทศไทย โดยรวบรวมข้อมูลจากพนักงานและนายจ้างในไทยที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2567 เพื่อนำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมทั้งด้านแนวโน้มเงินเดือน ความคาดหวัง และกลยุทธ์ในการรักษาบุคลากรในปีที่กำลังจะมาถึง
ภาพรวมตลาดแรงงานไทย ปี 2568 ความต้องการบุคลากรในประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น นายจ้างส่วนใหญ่มีแผนปรับขึ้นเงินเดือนในหลายอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของพนักงานยังคงสูง ทำให้นายจ้างเผชิญกับความท้าทายในการรักษาและดึงดูดบุคลากรคุณภาพ โดยพนักงานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ ค่าตอบแทน เป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการสมดุลระหว่างชีวิตและงาน (Work-Life Balance) อย่างชัดเจน จากการสำรวจ อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีความต้องการบุคลากรสูง ได้แก่
- การผลิตและสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) เช่น ผู้จัดการโรงงานและผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)
- ทรัพยากรบุคคล (HR) หรือตำแหน่งที่บริหารจัดการคนและธุรกิจ เช่น HR Business Partner (HRBP)
- การดูแลสุขภาพ (Healthcare) เช่น นักการตลาดและผู้เชี่ยวชาญด้านการขายเพื่อขยายตลาด
- การเงินและธนาคาร โดยการออกใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banking) จะกระตุ้นความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีและการเงิน
โดยนายจ้างยังมองหาทักษะด้าน การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา รวมถึง การใช้ AI และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในสายงาน เช่น บัญชี การเงิน และซัพพลายเชน และการใช้เทคโนโลยีในการสรรหาพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายจ้างเริ่มใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การสัมภาษณ์ออนไลน์ การจัดตารางงานอัตโนมัติ และการประเมินผลออนไลน์ เพื่อลดข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และเพิ่มความรวดเร็วในการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม การใช้งาน AI ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและองค์กรระดับนานาชาติ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ใช้ AI ในงานสรรหา ช่วยปรับปรุงกระบวนการจ้างงานให้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น และ ความต้องการทักษะใหม่ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้งาน AI ในสายงานต่างๆ
สำหรับตลาดแรงงานไทยปี 2568 กำลังเผชิญกับความท้าทายที่พนักงานกว่า 80% มีแผนเปลี่ยนงาน นายจ้างจึงต้องมุ่งเน้นการสร้าง ความผูกพันในองค์กร (Employee Engagement) สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่หลากหลายและครอบคลุม พร้อมลงทุนในโครงการพัฒนาทักษะ ยกย่องชมเชยพนักงาน และการเพิ่มสวัสดิการที่ดึงดูดใจ เช่น
- โบนัส พนักงานกว่า 85% เห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญ
- ชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่นและทำงานทางไกล ซึ่งกว่า 63% ให้ความสำคัญกับการทำงานรูปแบบนี้
- ประกันสุขภาพ กว่า 60% ต้องการประกันสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น
การปรับเงินเดือนในปี 2568 นายจ้างในหลายภาคส่วนมีแผนปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สมัครที่มีทักษะขาดแคลน เช่น การจัดการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อัตราการปรับขึ้นอาจสูงถึง 15-20% สำหรับพนักงานใหม่ที่มีศักยภาพ ส่วนพนักงานที่ทำงานต่อเนื่องคาดว่าจะได้รับการปรับเงินเดือน 2-4% โดยคาดว่าตลาดแรงงานไทยในปี 2568 จะมีการแข่งขันสูง ทั้งในแง่การดึงดูดและรักษาบุคลากร นายจ้างต้องปรับตัวทั้งในด้านค่าตอบแทน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดใจ และการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
คลิกอ่าน: เปิดเทรนด์การจ้างงาน สาย Tech ในปี 2025
Post Views: 19