อยากมีรถซักคัน ดาวน์เยอะ ผ่อนนาน แบบไหนคุ้มกว่า?
แม้ปัจจุบันจะมีระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่รถยนต์ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของใครหลายๆ คน เพราะไม่เพียงนำพาเราไปที่ต่างๆ ที่ต้องการ และสำหรับบางคน รถยนต์ยังเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพได้ด้วย รถยนต์ เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ราคาไม่น้อย สถาบันการเงินจึงมีบริการเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีทั้งสำหรับรถใหม่และรถใช้แล้วให้เลือกใช้บริการ
- รถใหม่ สถาบันการเงินมักให้วงเงินประมาณ 70-80% ของราคารถยนต์ อีก 20-25% ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์
- รถใช้แล้ว วงเงินจะขึ้นอยู่กับสภาพรถ ระยะทาง อายุการใช้งาน และภาวะเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยรถใช้แล้วจะสูงกว่า เพราะเมื่อเทียบกับรถใหม่ สถาบันการเงินที่ให้เช่าซื้อเพื่อขายรถใช้แล้วมีความเสี่ยงสูงกว่าหากต้องนำรถใช้แล้วมาขายทอดตลาด
ในการเช่าซื้อรถยนต์ ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินเป็นงวดๆ โดยสามารถนำรถมาใช้งานได้ก่อนแม้จะยังจ่ายเงินไม่ครบ แต่กรรมสิทธิ์ในรถจะยังไม่เป็นของผู้เช่าซื้อจนกว่าจะชำระเงินครบตามสัญญา ส่วนการคิดดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะคิดแบบเงินคงที่ (Flat Rate) ซึ่งคิดจากเงินต้นทั้งจำนวนและระยะเวลาการผ่อนชำระทั้งหมด
ตัวอย่างเปรียบเทียบการผ่อนรถที่มีจำนวนงวดหรือเงินดาวน์ที่แตกต่างกัน
สมมุติให้รถที่เราต้องการซื้อมีราคา 600,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย 3% ต่อปี วางเงินดาวน์ 20% ซึ่งทำให้เหลือเงินต้นมาผ่อน 480,000 บาท หากเราเลือกผ่อน 5 ปี หรือ 60 เดือน (กรณี A) เราจะต้องจายเดือนละ 9,200 บาท แต่ถ้าเราสามารถจ่ายเพิ่มอีกนิดเพียง 2,000 บาทต่อเดือน (กรณี B) เป็นเดือนละ 11,200 บาท เราจะประหยัดดอกเบี้ยได้ 14,400 บาท และหมดหนี้เร็วกว่าถึง 1 ปี เพราะใช้เวลาผ่อนเพียง 48 เดือน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยิ่งผ่อนต่องวดมาก ดอกเบี้ยยิ่งน้อย กรณีเงินดาวน์เท่ากัน แต่จำนวนงวดผ่อนต่างกัน ถ้าไม่จำเป็นต้องรีบซื้อรถ แนะนำว่าให้เก็บสะสมเงินดาวน์ไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งมีเงินดาวน์มากก็ยิ่งช่วยให้เราจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงไม่ต้องเป็นเหยื่อไฟแนนซ์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ สมมุติว่าเราต้องการผ่อนรถคันเดิมโดยใช้เวลาผ่อน 48 เดือน หากเรามีเงินดาวน์มากถึง 50% หรือ 300,000 บาท (กรณี C) เมื่อเทียบกับ B ที่ดาวน์เพียง 20% แต่ใช้เวลาผ่อนเท่ากัน จะพบว่าสามารถประหยัดดิกเบี้ยได้ 21,600 บาท แถมจ่ายเงินต่องวดน้อยกว่าถึง 4,200 บาท กรณีจำนวนงวดผ่อนเท่ากัน แต่เงินดาวน์ต่างกัน
Did You Know
- เมื่อตัดสินใจซื้อรถ แล้วต้องทำใจด้วยว่า ราคาย่อม “ลด” ไปตามความเสื่อมที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
- อย่าติดกับดัก จ่ายน้อยๆ (แต่จ่ายนานๆ) เพราะการเพิ่มเงินผ่อนต่อเดือนอีกเล็กน้อย โดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและการออมเงินเผื่อเหตุฉุกเฉิน จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยและปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
- นอกจากต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ต้องไม่ลืมนึกถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้รถ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าพ.ร.บ. ค่าต่อทะเบียน ค่าเบี้ยประกัน ค่าที่จอดรถ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางรายการจะสูงขึ้นตามราคาของรถที่ซื้อด้วยเช่นกัน
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย