++ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมด้วยทรัพยากรที่หลากหลายพรรณ พรรณไม้ท้องถิ่น ผักพื้นบ้าน แต่ถ้าผู้ประกอบการอยากแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อจำหน่าย แต่ไม่มีทุนทรัพย์หรือองค์ความรู้เรื่องของการวิจัยและพัฒนา “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศ” หรือ วว.คือหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือ SMEs ด้านงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชนที่มีศักยภาพนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์
++ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดลองกอง หนึ่งในความสำเร็จในการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากลองกอง ที่เกิดปัญหาราคาตกต่ำเนื่องจากผลิตภัณฑ์ล้นตลาด เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบเครื่องสำอางจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ “De LongKong” (เดอ-ลองกอง) พัฒนาสูตรตำรับที่มีศักยภาพของเปลือกผลลองกอง ที่มีฤทธิ์ชีวภาพโดดเด่นคือ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
++โดยเฉพาะอนุมูลอิสระที่ชนิดที่มีอันตรายสูงต่อเซลล์ร่างกาย ฤทธิ์ด้านการกลายพันธุ์ ฤทธิ์ลดการอักเสบล และฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบบทีเรียก่อโรค ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์เน้นสูตรตำรับที่ปราศจากสารซัลเฟตและพาราเบน (sulphate-free และ paraben-free) เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และไม่ใช้สัตว์ทดลองในการทดสอบเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดสากลโดยสหภาพยุโรป (European Union, EU) เหมาะสำหรับการบำรุงทุกสภาพผิวรวมทั้งผู้ที่มีปัญหาผิวพรรณ เช่น สิว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เจลล้างหน้า ผลิตภัณฑ์โทนเนอร์ และผลิตภัณฑ์มาส์กพอกหน้า
++จากหิ้งสู่ห้าง เข้ากลุ่มสินค้าออแกนิกส์
++ดร.ประไพภัทร คลังทรัพย์ นักวิจัยอาวุโสฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. กล่าวว่า
ในการวิจัยดังกล่าว ทีมงานเลือกใช้วัตถุดิบจากสวนเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก อีกทั้งในการพัฒนาสูตรเครื่องสำอางก็ยังไม่ใช้น้ำหอมและสารกันบูดเป็นส่วนผสม เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยหลังการผลิต แม้ลองกองจะเป็นวัตถุดิบใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แต่คาดว่าไม่นานจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ด้วยคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความงามได้อย่างลงตัว และส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติโดยไม่ผสมสารเคมี
++เครื่องสำอางจากลองกองจะยังถือเป็น “วิจัยบนหิ้ง” ที่รอภาคเอกชนมารับลงหิ้งไปสู่ห้าง แต่โอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จากลองกองมีสูงมาก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอย่างอียู อเมริกาและญี่ปุ่น ผู้บริโภคนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผู้ประกอบการที่จะรับการต่อยอดโนฮาวน์ต้องมีความพร้อมของธุรกิจเป็นทุนเดิมด้วย จึงจะก้าวสู่ตลาดโลกที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักได้อย่างมั่นคง
++“คาดว่าก่อนสิ้นปีนี้น่าจะพร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้กับภาคเอกชนที่สนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์โดยวว.จะเป็นพี่เลี้ยงให้ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งการทำตลาด ทั้งยังมีแผนจะต่อยอดความรู้ไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่อไป เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่หลากหลายเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัตถุดิบอื่น และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนในอนาคต”
++สารสกัดฟักข้าว จ่อคิวต่อยอดโนว์ฮาว
++ขณะนี้ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว.ประสบความสำเร็จในการต่อยอดบูรณาการงานวิจัยผักพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ผักและใยอาหารชนิดเม็ดแคลอรี่ต่ำจากผักพื้นบ้าน หรือ “TISTR FiberLite” วิจัย และพัฒนาจาก ผักเชียงคา ผักแพว และผักขะแยง ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่มีศักยภาพโดดเด่น คือ มีปริมาณใยอาหารสูง (ทั้งชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ) และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เหมาะสำหรับผู้นิยมบริโภคพืชพื้นบ้านและต้องการดูแลสุขภาพด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติโดยเฉพาะประเภทใยอาหาร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคท้องผูก และริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ใยอาหารยังเป็นบทบาทสำคัญในการควบคุมน้ำหนัก และป้องกันโรคอ้วนได้
++ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดใหม่จากสารสกัดฟักข้าว หรือ “BIO-GAc Skin Care” ที่มีองค์ประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์สารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติจากสารสกัดของผลฝักข้าว ไม่มีสารซัลเฟตและพาราเบน ซึ่งเป็นกระแสนิยมของเครื่องสำอางทั้งในยุโรปและเอเชีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์วิปโฟมล้างหน้า ผลิตภัณฑ์โทนเนอร์ ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวใต้ดวงตา
++ผู้ประกอบการที่จะรับการต่อยอดโนว์ฮาวสอบถามรายละเอียดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสารสกัดลองกอง ติดต่อได้ที่ Call Center สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร.0-2577-9300