คนไทยขอรัฐบาลแก้ความรุนแรงทางเพศ ข่มขืน


ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน สสส. นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เกาะติดความปลอดภัยของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,094 ตัวอย่าง ช่วงวันที่ 15 พ.ย. ถึง 15 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมาพบว่า ถ้าไม่นับรวมปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการ ผลสำรวจชี้ชัดว่า ความรุนแรงทางเพศ ข่มขืน ร้อยละ 55.7 กับ อุบัติเหตุจราจร การตายบนถนน ร้อยละ 55.5 และ ยาเสพติด ร้อยละ 54.2 กลายเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการ รองลงมาคือ การศึกษา ร้อยละ 51.3 อาชญากรรมทั่วไป ร้อยละ 47.3 

 

 

จากการพิจารณาคือ ความขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 39.4 ไม่ได้อยู่ในอันดับต้น ๆ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองได้รับการแก้ไขคลี่คลายลงโดยรัฐบาลชุดปัจจุบันแตกต่างไปจากช่วงขัดแย้งรุนแรงบานปลายในช่วงปี 2556 – 2557 อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.9 ระบุมีคนในครอบครัว คนใกล้ชิดเคยประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บ เสียชีวิต และค่าเฉลี่ยความปลอดภัยทางถนนที่ประชาชนให้มาเมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนนได้เกินครึ่งเพียงเล็กน้อยคือ 5.29 คะแนนเท่านั้น
และที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.0 อยากเห็นรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญและจริงจังความปลอดภัยทางถนนค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เพียงร้อยละ 3.0 เท่านั้นรู้สึก เฉย ๆ และประเด็นในกรอบนโยบายพรรคการเมืองที่กำลังแข่งขันกันในขณะนี้ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ระบุ กรณีมีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิต ต้องมีการจัดการอย่างเด็ดขาดกับพฤติกรรมเสี่ยงที่อันตรายกับสังคม ได้แก่ ย้อนศร ฝ่าไฟแดง ชนแล้วหนี รองลงมาคือ ร้อยละ 63.3 ระบุ สิทธิสำหรับคนเดินถนน ต้องมีจัดการทางเดินเท้า ฟุตบาธ ทางม้าลายที่ปลอดภัย ร้อยละ 62.5 ระบุ มีรถสาธารณะที่สะดวก ทั่วถึงและปลอดภัย และ ถนนต้องปลอดภัยมีระบบตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนที่รัดกุม มีการแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย โค้งอันตราย โค้งร้อยศพแยกวัดใจ จะต้องแก้ไขและหมดไป และร้อยละ 48.4 ยกเลิกเงินสินบนนำจับ จากเงินค่าปรับ โดยนำเงินค่าปรับมาเป็นกองทุนเพื่อใช้สำหรับการจัดหาอุปกรณ์ในการดำเนินงานและหนุนให้มีการตั้ง ศาลจราจร