ศึกโลจิสติกส์ไทย ในร้านรับ-ส่งพัสดุ 24 ชม.


ขณะนี้ธุรกิจโลจิสติกส์ เอ็กซ์เพรส ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว วัดจากข้อมูลวันคนโสดปี 61 ที่มีการสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของอาลีบาบากว่า 1 พันล้านคำสั่งซื้อ โดยการส่งสินค้า 100 ล้านชิ้นแรก ใช้เวลาส่งเพียง 2.6 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการนำระบบ IoT และ Blockchain เข้ามาช่วยบริหารจัดการส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 56 ที่ต้องใช้เวลาถึง 9 วัน, ปี 57 (6 วัน), ปี 58 (4 วัน), ปี 59 (3.5 วัน) และปี 60 (2.8 วัน)

ส่วนในไทยเอง ก็มีการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การให้บริการของโลจิสติกส์ของภาครัฐอย่างไปรษณีย์ไทย ที่ได้ขยายเวลาให้บริการถึง 2 ทุ่ม บนสาขาทำการไปรษณีย์กว่า 1,194 แห่ง แบบไม่มีวันหยุด ทั้งยังเปิดรับส่งปลาตู้เป็นครั้งแรก และลดค่า EMS ลง 20% หรือแม้แต่บริการส่งสินค้าข้ามประเทศในราคาประหยัด จึงคาดว่าการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนั้น ช่วงปลาย พ.ย. 61 ที่ผ่านมา เบสท์ เอ็กซ์เพรส โลจิสติกส์ ภายใต้การดูแลของอาลีบาบา ประเทศจีน ก็ชูการนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาบุกไทย และจะขยายไปในอาเซียน โดยขณะนี้ เฉพาะในกรุงเทพฯได้เปิดไปแล้วมากกว่า 70 สาขา

หรือแม้แต่ร้านค้าปลีกรายใหญ่ของไทยอย่างเซเว่นฯ สังกัด ซีพี ออลล์ ก็ได้ร่วมกับ บริษัท ไดนามิค โลจิสติกส์ เพื่อเปิดบริการรับส่งพัสดุด่วน 24 ชั่วโมงภายใต้ชื่อ สปีด-ดี โดยได้เริ่มให้บริการแล้วกว่า 3,700 สาขา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ส่วนแฟมิลี่มาร์ท ภายใต้เครือเซ็นทรัล ก็ได้จับมือกับ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เพื่อตอบรับธุรกิจ อีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 20% ใน 3-5 ปีที่ผ่านมา เน้นเป็นตัวกลางการรับ-ส่งพัสดุด่วนให้เคอรี่ เอ็กซ์เพรส 24 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มต้นไปแล้วในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล กว่า 350 สาขา พร้อมออกแคมเปญรับปี 62 ด้วยกล่องพัสดุลายลิมิเต็ด อิดิชั่น ฟรี เมื่อจัดส่งพัสดุตั้งแต่ 79 บาทขึ้นไป และเลือกชำระผ่านทางดิจิทัลเพย์เมนท์ต่างๆ

ซึ่งหากมองเรื่องราคาค่าจัดส่ง ค่าเฉลี่ยก็ได้ไม่ต่างกัน เพราะแต่ละที่จะคิดตามน้ำหนัก วัสดุที่ใช้บรรจุ รวมถึงระยะทาง แต่เพราะการทำธุรกิจไม่เคยหยุดนิ่ง หากมองเรื่องสาขาของแบรนด์สะดวกส่ง 24 ชม. ที่ปัจจุบันเซเว่นฯ มีกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 11,000 แห่ง เทียบกับ แฟมิลี่มาร์ทที่มีอยู่เพียง 1,100 แห่ง (ไม่รวมสาขาของเคอรี่เอง) การเข้าถึงผู้บริโภค 24 ชม. ในอนาคตก็ต้องยกให้เซเว่น

ในแนวโน้มของโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น ก็ทำให้ความต้องการแรงงานด้านนี้เพิ่มขึ้นตามมาเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การจะวัดกันเรื่องสาขาในตอนนี้ก็อาจเร็วไป การพัฒนาซัพพลายเชนด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในเรื่องของบุคลากรสำคัญที่สุด ซึ่งเราก็รู้กันดีว่าซีพี ออลล์ มีวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ ส่วนเคอรี่ ก็เร่งพัฒนาโดยได้จับมือกับคณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยราชภัฏโคราช เพื่อสรรหาบัณฑิตคุณภาพเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ยังพบความนิยมของเคอรี่ในมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 20.06% มาเป็นอันดับ 2 รองจากไปรษณีย์ไทยที่ 20.37% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเคอรี่สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพ และยังครองใจผู้ใช้บริการในไทยอยู่ในขณะนี้