ภาษี ที่ SME ควรต้องรู้…..ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 11)


การวางแผนภาษีโดยใช้สัญญาทางธุรกิจ กับ เกณฑ์เงินสด และเกณฑ์สิทธิ

เกณฑ์เงินสด และเกณฑ์สิทธิคืออะไร เราต้องทำความเข้าใจกับทั้งสองเกณฑ์นี้ก่อนครับว่าคืออะไร และจะนำสัญญาทางธุรกิจมาใช้ในการวางแผนภาษีได้อย่างไร

เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) คือ เกณฑ์ที่ใช้ในการบันทึกบัญชีรายได้และรายจ่าย โดยจะบันทึกตามที่ได้รับหรือจ่ายจริงเท่านั้น ดังนั้น หากมีการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นเงินเชื่อ ซึ่งยังไม่ได้รับเงินทันที กรณีนี้ก็จะยังไม่มีการบันทึกบัญชีเป็นรายได้ หรือกรณีเป็นรายจ่ายแต่ยังไม่ได้มีการชำระหรือถึงกำหนดชำระ ก็จะยังไม่ถือเป็นรายจ่ายในทางบัญชี โดยเกณฑ์นี้จะใช้กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนเกณฑ์สิทธิ หรือในทางบัญชีจะเรียกว่าเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) คือ เกณฑ์การรับรู้รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นหรือเป็นของรอบระยะเวลาบัญชีใดก็ให้ถือเป็นรายได้และรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่คำนึงว่าจะได้รับเงินสด หรือจ่ายเงินสดออกไปแล้วหรือไม่ ดังนั้น รายได้และรายจ่ายเมื่อถึงกำหนดชำระ หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงินจะถือเป็นรายได้ค้างรับหรือรายจ่ายค้างจ่าย และต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิ ในทำนองเดียวกัน หากรายได้ใดได้รับล่วงหน้าหรือรายจ่ายใดได้จ่ายล่วงหน้าเป็นค่าสินค้าหรือค่าบริการโดยที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากสินค้าหรือบริการนั้น ก็ยังไม่ถือเป็นรายได้และรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่รับและจ่าย จึงไม่ต้องนำรายได้รับล่วงหน้าหรือรายจ่ายล่วงหน้าดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยเกณฑ์นี้จะใช้กับภาษีเงินได้นิติบุคคล

ทุกท่านคงพอจะเข้าใจหลักเกณฑ์ทั้งสองนี้แล้วนะครับ กล่าวคือ เกณฑ์เงินสด จะให้ความสำคัญกับการรับหรือจ่ายเงิน โดยไม่สนใจว่าจะได้รับประโยชน์จากสินค้าหรือบริการนั้นแล้วหรือไม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับเกณฑ์สิทธิ ที่ไม่สนใจว่าจะมีการรับหรือจ่ายเงินกันหรือไม่ แต่จะดูว่ามีการได้รับประโยชน์จากสินค้าหรือบริการนั้นแล้วหรือยังเป็นสำคัญ

แล้วสัญญาทางธุรกิจจะมีส่วนช่วยในการวางแผนภาษีได้อย่างไร?

การคำนวณภาษีเพื่อเสียภาษีเงินได้ของทั้งบุคคลธรรมดา ซึ่งใช้เกณฑ์เงินสด และนิติบุคคล ซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิ โดยปกติจะกำหนดระยะเวลาบัญชีตามรอบปีประดิทิน (ปีปฏิทิน) คือ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของทุกปี

ในกรณีของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งใช้เกณฑ์เงินสด หากท่านทำสัญญาในช่วงปลายปี ท่านอาจกำหนดแบ่งงวดการชำระในสัญญาออกเป็นหลายงวด และให้คาบเกี่ยว 2 ปีภาษี ก็จะเป็นการกระจายรายรับ ซึ่งจะมีผลทำให้ภาษีที่ต้องเสียลดลง เพราะอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นแบบขั้นบันได คือ มีเงินได้สุทธิมากก็จะเสียภาษีมาก มีเงินได้สุทธิน้อยก็จะเสียภาษีน้อย การวางแผนในลักษณะนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายไม่ถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด

ในส่วนกรณีของภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณ ก็สามารถวางแผนได้ในลักษณะเช่นเดียวกัน โดยจะต้องให้ความสำคัญในการกำหนดผลสำเร็จของงานในแต่ละงวดให้ชัดเจนประกอบกับการกำหนดค่าจ้างตามสัดส่วนงานที่ทำสำเร็จ กรณีนี้จะเป็นประโยชน์มากสำหรับบริษัทนิติบุคคลประเภท SMEs เพราะมีอัตราภาษีแบบแบ่งเป็นขั้นเช่นเดียวกัน (*** 1. กำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก ยกเว้นภาษี 2. กำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาท – 3,000,000 บาท เสียภาษีอัตรา 15% และ 3. กำไรสุทธิ ตั้งแต่ 3,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษีอัตรา 20%) ซึ่งหากแบ่งรายรับออกเป็น 2 ปีภาษีตามตัวอย่างข้างต้น ก็จะทำให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงเช่นเดียวกัน

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ [email protected]