เราเคยได้ยินเทรนด์ Slow Life หรือการใช้ชีวิตแบบเนิบช้า ที่หลายท่านกำลังฝึกชะลอตัวเองให้ไม่ไหลอย่างไร้ทิศทางไปตามกระแสสังคม ซึมซับกับธรรมชาติรอบตัว ใส่ใจกับคนรอบข้างมากขึ้น ในสไตล์แบบ “ช้าๆ แต่ไม่ล้าหลัง”
อันที่จริง เทรนด์การใช้ชีวิตสไตล์นี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะ ความไม่สมดุลของการใช้ชีวิต ที่หลายท่านต้องอุทิศเวลาให้กับการทำงาน การทำมาหากิน ซึ่งต้องเร่งรีบ แข่งกับเวลา เน้นสร้างความสำเร็จให้เร็ว ด้วยหวังว่าจะได้เลิกทำงานและมีเวลาไปหาความสุข จนทำให้เสียสุขภาพ กระทบกับชีวิตครอบครัว หรือพลาดสิ่งดี ๆ ในระหว่างทางไปไม่น้อย
แต่ในโหมดที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้ ทำให้ธุรกิจโดยรวม มีความยากลำบากที่จะเพิ่มหรือคงการเติบโตในอัตราเดิมเหมือนช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว ปัจจัยความเร่งรีบหรือการแข่งขันเพื่อคว้าโอกาสช่วงขาขึ้น จะมิใช่ตัวแปรหลักในทางธุรกิจกับโหมดเศรษฐกิจแบบชะลอตัว
กลายเป็นว่า เทรนด์ Slow Life เหมือนจะเข้ามามีบทบาทในขอบเขตของการดำเนินธุรกิจ ในแบบที่ผมขอเรียกว่า Slow Business เพื่อให้เข้ากับท้องเรื่องตามที่จั่วหัวไว้
ในอดีต เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะมีสูตรสำเร็จในการปรับตัว โดยจัดสรรเวลาให้กับกิจกรรมภายในองค์กรเพิ่มขึ้น หันกลับมาพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนงานต่างๆ ลดความสูญเสีย หรือพิจารณาตัดค่าใช้จ่ายในรายการที่ไม่สำคัญในแผนกต่างๆ
แต่ด้วยปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ธุรกิจ จำต้องมีการพัฒนาหรือปรับตัวร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องใน “สายคุณค่า” หรือ Value Chain เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
การทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ในมุมของผลิตภัณฑ์ เป็นการดัดแปลงหรือขยายไลน์สินค้าและบริการที่มีอยู่ (Product Extension) ให้ตอบโจทย์ตลาดในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ร่วมกับคู่ค้าในสายคุณค่าหรือในห่วงโซ่ธุรกิจ
ตัวอย่างของประเด็นที่น่าสนใจ คือ การดำเนินการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้สารอันตราย การพัฒนาหมวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิค หรือการร่วมพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะดวกต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเพิ่มยอดขายขององค์กร ไม่ว่าจะด้วยวิธี Up-Selling (เช่น เพิ่ม 10 บาท เป็นแก้วใหญ่ ไหมครับ) หรือ Cross-Selling (เช่น รับขนมจีบ ซาลาเปา เพิ่มไหมครับ) จะทำได้ยาก เพราะลูกค้าหรือผู้บริโภค มีกำลังซื้อลดลง หรือประหยัดมากขึ้น
สูตรสำเร็จเดิม ที่ธุรกิจใช้เพิ่มยอดขาย ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวคือ การลดราคา หรือ ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง หรือ ซื้อชิ้นแรก ชิ้นต่อไปลด 50% ฯลฯ ที่ธุรกิจเองก็ต้องยอมรับกับกำไรที่ลดลงด้วย
การดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ในมุมของลูกค้า เป็นการคงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยเปลี่ยนโฟกัสจากการทำโปรแกรม Promotion มาเป็นโปรแกรม Retention ด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมให้คงอยู่ และให้มียอดใช้จ่ายที่ไม่น้อยลงกว่าเดิม
วิธีการผูกพันรักษาลูกค้า (Customer Retention) จะแตกต่างจากการทำโปรโมชั่น ตรงที่ธุรกิจสามารถรักษายอดขาย โดยไม่ต้อง Trade-off กับกำไรที่ลดลง ด้วยการลดราคาหรือแถมสินค้า
ตัวอย่างของการผูกพันรักษาลูกค้า ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมให้ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ ด้วยการสร้างประสบการณ์ในการเป็นที่ยอมรับจากสังคม ต่อการใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ดังกล่าว เปลี่ยนโฟกัสจากการที่ลูกค้าจะได้รับคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์ มาเป็นการได้รับคุณค่าในเชิงสังคม เช่น การมอบสิทธิ์ให้ลูกค้าเดิมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การได้สิทธิ์เลือกซื้อสินค้าก่อนลูกค้าทั่วไป รวมไปถึงการสร้างคอมมูนิติ้สำหรับกลุ่มคนที่ชอบแบรนด์เดียวกันขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดแนวโน้มการบอกต่อไปยังคนรู้จักเพิ่มขึ้น และด้วยการบอกต่อของลูกค้ากันเอง จะมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นด้วย
Slow Business เป็นการรับมือกับเศรษฐกิจในช่วงขาลง ที่มุ่งรักษาลูกค้าหรือส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ โดยเก็บเกี่ยวยอดขายในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่งแข่งขัน หรือช่วงชิงตักตวงโอกาส เหมือนกับธุรกิจในช่วงตลาดขาขึ้น