วิจัยชี้ชัด กลุ่มคนทำงานก่อหนี้เพิ่มขึ้น ส่วนคนชรา เงินออมไม่พอใช้


รายงานภาพรวมการออมของประเทศของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน พบเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อผลวิจัยระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่เสี่ยงมีเงินเก็บไม่พอใช้ในยามเกษียณอายุ และกลุ่มคนวัยทำงานมีแนวโน้มเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

สำหรับรายงานดังกล่าวเก็บสถิติภาพรวมการออมของประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2560 คนไทยมีการออมเบื้องต้นของประเทศอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งแบ่งเป็นการออมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก สลาก พันธบัตร ประกันชีวิต นอกจากนี้ หากนับจำนวนเงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงิน (อ้างอิง เดือนสิงหาคม 2561) พบว่ามีจำนวนอยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 13.2 ล้านล้านบาท และธนาคารเฉพาะกิจ 4.7 ล้านล้านบาท

แม้การออมของคนไทยจะอยู่อันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศภูมิภาคเดียวกัน แต่เรื่องที่น่าตกใจ คือเมื่อดูพฤติกรรมการออมเงินของคนไทย พบว่า คนไทย ร้อยละ 34.6 ไม่มีเงินออม โดยการออมที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือการออมเผื่อยามฉุกเฉิน/เจ็บป่วย คิดเป็นร้อยละ 38.3 ตามมาด้วยการออมในยามแก่ชรา คิดเป็นร้อยละ 34.7 เมื่อลงรายละเอียดในเรื่องการออมในยามแก้ชรา พบว่า คนไทย ร้อยละ 85.8 มีความเสี่ยงเงินไม่พอใช้เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุ เพราะขาดการวางแผนทางเงิน มีบางส่วนที่วางแผนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ และสุดท้ายคือทำแล้ว แต่การออมไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่น่าสนใจของรายงานดังกล่าว คือ ปริมาณหนี้ครัวเรือนไทยมีอัตราปรับสูงขึ้นทั้งจำนวนเงินกู้ และจำนวนผู้กู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในวัยทำงานที่เริ่มก่อหนี้เร็วขึ้น