หมดห่วง! กรมสรรพากรเล็งใช้ AI แยกผู้เสียภาษีทั้งกลุ่มดีและกลุ่มเสี่ยง


กรมสรรพากรย้ำกฎหมาย e-Payment ส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมใช้ AI แยกผู้เสียภาษีกลุ่มดีหรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรม

นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ได้กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ว่าทางกรมยืนยันว่าการยกร่างแก้ไขกฎหมาย ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ไม่ได้เป็นการแก้ไขกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่เกินกว่าเหตุ เป็นการใช้สิทธิที่ชอบเพื่อประโยชน์สาธารณะ

โดยการแก้ไขกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี เป็นส่วนหนึ่งของแผนของกรมที่จะเดินหน้าเรื่องอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ สาระสำคัญคือ จะช่วยให้การเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3% ซึ่งจากเดิมผู้เสียภาษีจะต้องเตรียมเอกสารมายื่นต่อกรมเอง แต่สถาบันการเงินจะหักภาษีและเป็นผู้ยื่นให้กรมสรรพากรแทนทั้งหมด รวมทั้งกฎหมายใหม่ จะเป็นการรองรับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิสก์ในการยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่ต้องยื่นเอกสารเป็นกระดาษ ก็จะเปลี่ยนเป็นระบบอิเล็กทรอนิสก์แทน

ส่วนกรณีที่กฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินรวมถึง non-Bank ต้องแจ้งข้อมูลบัญชีที่รับเงินเข้าในข่ายที่เป็นธุรกรรมพิเศษ ประกอบด้วย 1.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีต่อธนาคาร และ 2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีต่อธนาคาร และยอดรวมของการรับฝากตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปนั้น กรมฯ ยืนยันว่าเป็นการส่งข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้เอาไปตรวจสอบเรียกเก็บภาษี เพราะไม่ใช่ว่าจะตรวจสอบง่ายๆ กรมต้องการเฉพาะข้อมูลเพื่อไปทำการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษี กลุ่มผู้เสียภาษี เพื่อทำแผนปรับปรุงประสิทธิภาพจัดเก็บต่อไป

“กรมไม่ได้มีเจตนาแก้ไขกฎหมายโดยมุ่งไปตรวจสอบใคร ธนาคารมีหน้าที่ส่งข้อมูลมาให้กรม และข้อมูลทุกอย่างจะอยู่ในระบบ ไม่มีเจ้าหน้าที่กรมคนไหนได้เห็นข้อมูลที่ส่งมา จะส่งมาเฉพาะ ชื่อ นามสกุล จำนวนครั้งที่ฝากโอน และวงเงินที่ได้รับเท่านั้น” นายปิ่นสาย กล่าว

ส่วนกรณีที่กังวลว่าจะไปเรียกเก็บภาษีจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และกลุ่มเอสเอ็มอีหรือไม่นั้น กรมยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาโดยตรงที่จะเข้าไปจัดเก็บ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร หากกลุ่มผู้ค้าดังกล่าว มีรายได้ถึงเกณฑ์ ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่ามีการออกกฎหมายแล้วจะต้องเสียภาษี เพราะทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีให้ถูกต้อง โดยตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2-8) กำหนดให้อาชีพอิสระต้องเสียภาษีเหมาจ่าย 0.5% ของรายได้ หรือนำรายได้ไปคูณด้วย 0.005 ซึ่งหากกลุ่มผู้ค้าออนไลน์มีรายได้ถึงเกณฑ์เข้าบัญชี 2 ล้านบาท ก็จะเสียภาษีแค่ 10,000 บาท

จากการแก้ไขกฎหมายจะทำให้กรมสามารถแยกข้อมูลผู้เสียภาษี รวมทั้งกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ได้แม่นยำมากขึ้น โดยจะแยกเป็นกลุ่มดีและกลุ่มเสี่ยง ในกลุ่มดีที่เสียภาษีถูกต้อง ก็จะให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงก็จะดูว่าเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ในรายที่รายได้ถึงเกณฑ์แต่ไม่เคยมีการยื่นแบบเสียภาษีเลย กรมก็จะส่งหนังสือไปให้ยื่นแบบให้ถูกต้อง หรือ หากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก ก็จะต้องออกหนังสือเชิญมาพบ พูดคุย

นายปิ่นสาย กล่าวว่า กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 และจะมีผลต่อการยื่นแบบเสียภาษีในปี 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขรายละเอียดในการดำเนินงาน เช่น จะไม่นับข้อมูลผู้ที่ฝาก โอน หรือถอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง รวมทั้งการเปิดบัญชีครั้งแรก 2 ล้านบาท ก็จะไม่ให้ส่งข้อมูลเข้ามาที่กรม และการเปิดบัญชีร่วม ที่อยู่ระหว่างหาข้อสรุปว่า จะนับจำนวนที่บุคคลใด ทั้งนี้ เชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายจะไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 26,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 4-5 แสนบาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่า 2 ล้านบาท ไม่ต้องเข้าเกณฑ์เสียภาษีอยู่แล้ว

ที่มา : กรมสรรพากร