นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองในประเทศมากที่สุดธุรกิจหนึ่ง ดังนั้นธนาคารกสิกรไทยจึงร่วมมือกับ 3 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ออกโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยเน้นกลุ่มเอสเอ็มอี 5 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจโรงแรมและที่พัก 2. ธุรกิจร้านอาหาร 3. ธุรกิจนำเที่ยวและสปา 4. ธุรกิจบริการรถเช่าและเรือเช่า 5. ธุรกิจขายของฝากและของที่ระลึก โดยให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงิน และองค์ความรู้
การสนับสนุนด้านการเงิน ธนาคารกสิกรไทยมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจโรงแรมและที่พัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรายได้แปรผันตามฤดูกาลท่องเที่ยว จะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อที่ยืดหยุ่น สามารถเลือกผ่อนชำระสูงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และผ่อนชำระน้อยช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวได้ และกรณีต้องการลงทุนก่อสร้างใหม่เพื่อขยายธุรกิจ ธนาคารฯ จะให้เวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 12 ปี
สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยวและสปา ธุรกิจบริการรถ-เรือเช่า และธุรกิจขายของฝากและของที่ระลึก มีข้อจำกัดค่อนข้างหลากหลาย เช่น ไม่มีหลักประกัน เนื่องจากสถานประกอบการเป็นที่เช่า สามารถขอได้สูงสุด 5 ล้านบาท หรือธุรกิจที่มีการเดินบัญชีน้อย เนื่องจากเป็นธุรกรรมเงินสดนั้น สามารถขอสินเชื่อสูงสุดได้ 10 ล้านบาท และผู้ประกอบการที่หลักประกันไม่เพียงพอต้องการวงเงินเยอะ สามารถขอได้สูงสุด 3.33 เท่าของมูลค่าหลักประกัน
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ออกมาตรการให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง ด้วยการผ่อนชำระดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว (Grace Period) ระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน และ มอบโปรโมชั่นพิเศษส่วนลดดอกเบี้ยสูงสุด 2 % สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่สมัครสินเชื่อในงานสัมมนา ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้
การสนับสนุนองค์ความรู้ ธนาคารกสิกรไทยและพันธมิตร จะร่วมกันจัดสัมมนา “Tourism Solutions พลิกวิถีธุรกิจท่องเที่ยว SME ไทย” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูง โดยในงานสัมมนา แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1. ให้ความรู้เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ช่วงที่ 2. แนะนำผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะกับรูปแบบการทำธุรกิจ 3. ช่วงกรณีตัวอย่าง นำผู้ประกอบการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มโรงเเรมเเละร้านอาหาร มาแบ่งปันประสบการณ์ นอกจากนี้ จะมีการออกบูธโดยพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่มาร่วมงาน
นายพัชร กล่าวตอนท้ายว่า จากการประเมินพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทย พบว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีในกรุงเทพมหานครที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง มีประมาณ 17,500 ราย โดยลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบมีประมาณ 500 ราย มียอดสินเชื่อคงค้าง 3,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.72% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคาร ฯ ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจ ก่อสร้าง อิเล็คทรอนิคส์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ธนาคารฯ ได้แนะนำผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการรับมือกับสถานการณ์การเมืองที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ดังนั้นเมื่อเข้าสู่การเปิด AEC ในปี 2558 อาจต้องเผชิญการแข่งขันกับผู้ประกอบการจากประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อลดการแข่งขันกันเอง และเสริมสร้างธุรกิจท่องเที่ยวไทยให้แข็งแกร่งขึ้น
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีความเข้มแข็งและสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2556 ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีสัดส่วนเป็น 10% ของมูลค่า GDP ประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ลูกค้าในกลุ่มนี้ มีการขยายตัวด้านสินเชื่อถึง 11% มียอดสินเชื่อที่ประมาณ 15,331 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน
นายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าจะร่วมสนับสนุนโครรงการนี้ ด้านการประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานสัมมนาให้แก่สมาชิกหอการค้าและผู้ประกอบการได้รับทราบ ผ่านทางหอการค้าจังหวัดในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว
นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้สามารถขับเคลื่อนได้ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยสสว.จะมีบทบาทในด้านการสนับสนุนองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านงานวิจัยด้านภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีและนโยบายภาครัฐในการเสริมภาคธุรกิจ ซึ่งสสว.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวนับเป็นกลุ่มธุรกิจบริการที่มีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจท่องเที่ยวที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำนวนกว่า 377,000 กิจการ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 536,000 ราย สร้างรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 2.54 แสนล้านบาท และจากการศึกษาของ สสว. พบว่า กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสูงในการแข่งขันในตลาดโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน พบว่า กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศอื่น