ยุค AEC SMEsไทยใช้เพื่อนบ้านเป็นฐาน


จากการเสวนา  “เปิดผนึก SMEs ไทย สู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมในยุค AEC” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วย Mr. Yoshihiro OTSUJI ศาตราจารย์กิติคุณ จาก GRIPS, นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ,ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)มาร่วมเสวนา

 

SMEs ไทยจะได้รับการผ่อนถ่ายเทคโนโลยี่จากญี่ปุ่น

Mr. Yoshihiro OTSUJI ศาตราจารย์กิติคุณ จาก GRIPS กล่าวว่าไทยกับญี่ปุ่นให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีมาช้านานแล้ว ส่วนใหญ่ได้ผ่อนถ่ายความรู้ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีการลงทุนร่วมกันในด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และยิ่งมีการเปิดตัวของAEC ก็ยิ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นเห็นความสำคัญกับการลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น

 

ในส่วนของ AEC จะส่งผลให้ไทยสามารถขยายการลงทุนและตลาดมากขึ้น การผ่อนถ่ายเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นสู่ไทยก็ยังคงมีสูงมากเพราะความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยมีมาอย่างยาวนาน  ญี่ปุ่นประสงค์ให้ไทยเป็นพี่เลี้ยงให้กับประเทศในกลุ่ม CLM  (กัมพูชา ลาว พม่า)ในการพัฒนา SMEs ต่อไป ซึ่งปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตที่มีเทคโนโลยีต่ำเข้าสู่กลุ่มประเทศ CLM บ้างแล้ว

 

Mr. Yoshihiro OTSUJI กล่าวว่า สิ่งสำคัญอันหนึ่งคือเรื่อง นวตกรรม การสร้างนวตกรรมเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ญี่ปุ่นหวังว่านักลงทุนไทยจะเข้าใจและเห็นความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพราะนวตกรรมจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ไทยในระยะยาว จะส่งเสริมให้ SMEsก้าวกระโดดไม่เฉพาะตลาดในประเทศ แต่หมายรวมถึงตลาดต่างประเทศด้วย

 

มองตลาด CLMV เป็นขุมทอง

 

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับ AEC  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในกลุ่มเปิดใหม่เช่น  CLMV ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่ SMEs เข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐหรือยุโรป ไทยมีมาตรฐานการผลิตที่สูงกว่าประเทศเหล่านี้โอกาสในการเคลื่อนย้ายสินค้าจึงมีมากกว่า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยบวกให้กับ SMEs ไทย

 

อย่างไรก็ตาม SMEs ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านลบด้วย การเปิดตัวของ AEC จะทำให้มีรายใหม่ที่แข่งแกร่งกว่าเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น  SMEs ไทยก็ต้องปรับตัว เช่นการบริหารการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุน การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนานวตกรรม ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลิตและการจัดการให้มากขึ้น  SMEs ต้องปรับมุมมองในการทำธุรกิจให้สามารถจับมือกับพันธมิตรมากขึ้น มองหาโอกาสของการร่วมมือกันแบบ win win  สร้างระบบการผลิตของตนเองเข้าสู่ supply chain ของรายใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นคงในการผลิตต่อไป

 

1 มาตรฐาน 1 กฏเกณฑ์

 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ตลาดเปิดตลอดเวลา  AEC เป็นเพียงกลไกหนึ่งของตลาดในระบบเสรีเท่านั้น การทำธุรกิจปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่ที่รายใหญ่หรือรายเล็ก สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจและความเก่งในการเข้าถึงตลาดโลกมากกว่า หากทำได้ก็สามารถเข้าถึงทุกเงื่อนไข ทุกโครงสร้าง เราจะเป็นผู้กำกับเองทั้งหมด

 

“โลกในอนาคตเป็นโลกของข้อตกลง ทุกวันนี้มีอยู่หลายสิบข้อตกลง แต่ในที่สุดทุกอย่างต้องเท่ากันหมด เหมือนกันหมด เราจะอยู่ภายใต้กติกา 1 standard 1 law (1 มาตรฐาน 1 กฏเกณฑ์) ทุกอย่างจะเป็นหนึ่งเดียวกันหมด อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน กฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เอสเอ็มอีหรือไม่ ทุกคนจะตอบโจทย์เดียวกัน ดังนั้นในระบบการผลิตรายใหญ่ต้องเกื้อกูลให้บริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (supply chain)เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันถึงจะไปรอด ส่วนSMEs ต้องปรับตัวให้ได้ ไม่เช่นนั้นรายใหญ่ก็จะไปหารายอื่นที่พร้อมกว่า” นายพรศิลป์กล่าว

SMEsไทย หลายปัญหารุมเร้า

 

ดร.วิมนกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า SMEsไทยทำงานอย่างโดดเดี่ยว ไม่เหมือนกับ SMEsญี่ปุ่นที่ทำงานภายใต้เครือข่ายของะบบ global supply chain มีบริษัทแม่ บริษัทพ่อคอยดูแล

 

ปัญหาใหญ่ที่สำคัญของ SMEs ไทยคือการเข้าถึงแหล่งทุน การขอกู้ของ SMEs ไทยต้องอาศัยสินทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ขาดโอกาสในการขยายธุรกิจ เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว นอกจากนี้การเป็น AEC นั้นยังเป็นเพียงเขตการค้าเสรี  ยังไม่เป็น economic union เหมือนกลุ่มประเทศยุโรป  ทำให้กฎระเบียบต่างๆ ในระบบภาษี ดอกเบี้ยแตกต่างกัน ถ้าเป็น SMEs เมืองไทยจ่ายดอกเบี้ย มากกว่า ต้นทุนในการทำธุรกิจใน AEC ไม่เท่าเทียมกัน ยังไม่รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกัน ทั้งหมดนี้ล้วน เป็นสิ่งที่รัฐต้องเข้าไปแก้ไข

 

ดร.วิมนกานต์ กล่าวว่า “โจทย์ของ SMEs ในหลายอุตสาหกรรมเป็นเรื่องของการลงทุน บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องเข้าไปบริหาร  Regional Supply chain หรือ Global  Supply chain บริษัทในระดับ  SMEs ก็ต้องเข้าไปบริหาร Supply chain เหมือนกัน  เราต้องใช้ประโยชน์จาก AEC ที่ไหนมีความเหมาะสมด้านการลงทุน มีแรงงานถูก  SMEs ไทยก็ต้องไป”