“จักรยานคาเฟ่” … ธุรกิจที่ต่อยอดจากกิจกรรมเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)


ปัจจุบันกระแสจักรยานกำลังอยู่ในความนิยม โดยเห็นได้จากจำนวนนักปั่นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา โดยจักรยานสามารถสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนได้หลากหลายรูปแบบ หลายสไตล์ ซึ่งมีให้เลือกใช้ตามความชอบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการปั่นไปทำงานในเมืองกรุง การปั่นออกกำลังกาย หรือบางแห่งมีการรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมาเพื่อปั่นไปทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ดังนั้น ด้วยกระแสความแรงของความนิยมที่ฉุดไม่อยู่ จึงทำให้ในปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจักรยานเติบโตอย่างก้าวกระโดหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “ธุรกิจจักรยานคาเฟ่”

 

แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจจักรยานคาเฟ่

 

แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจจักรยานคาเฟ่: จักรยานคาเฟ่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยได้รับแรงหนุนหลักจากกระแสรักษ์สุขภาพ และการหันมาออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยานมากขึ้น ทั้งในกลุ่มวัยรุ่น/วัยทำงาน ผู้สูงอายุ รวมไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ลงลึกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจะพบว่า เหตุผลที่คนหันมาปั่นจักรยานนั้นมีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไปอีก ทั้งการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อม บ่งบอกสถานะ งานอดิเรก กิจกรรมกับเพื่อนฝูงหรือใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง ฯลฯ นอกจากนี้ ภายใต้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะของการให้ความสนใจกิจกรรมประเภทต่างๆส่งผลให้กลุ่มคนที่มีความสนใจในกิจกรรมประเภทเดียวกัน นิยมนัดพบปะสังสรรค์เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจจักรยานคาเฟ่ ในการเป็นสถานที่รองรับการพบปะสังสรรค์ของกลุ่มสิงห์นักปั่น หรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบในมนต์เสน่ห์ของจักรยาน

 

รูปแบบการให้บริการของจักรยานคาเฟ่: จักรยานคาเฟ่ เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่เป็นมิตรกับกลุ่มจักรยาน ส่วนใหญ่จะให้บริการอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ในขณะที่บริการเสริมที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้า ได้แก่ มุมหนังสือสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับจักรยาน มุมแลกเปลี่ยนไอเดียความคิดเห็นระหว่างสิงห์นักปั่น ที่จอดจักรยานและจุดบริการเติมลมยาง เป็นต้น นอกจากนี้ การตกแต่งหรือการสร้างบรรยากาศในร้าน โดยการนำเอาจักรยานมาเป็นองค์ประกอบ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้จักรยานคาเฟ่ดูแตกต่างและดึงความสนใจจากลูกค้าได้มากขึ้น

 

กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย: หลักๆ จะมีอยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มคนปั่นจักรยาน และอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มวัยรุ่น/วัยทำงาน รวมไปถึงลูกค้าต่างชาติ ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ปั่นจักรยาน แต่มีรสนิยมชื่นชอบไลฟ์สไตล์ในรูปแบบนี้

 

สภาวะการแข่งขันในตลาด: สำหรับประเทศไทยแล้ว จักรยานคาเฟ่ยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดยังมีค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น ในเมืองกรุง (พื้นที่ใกล้กับรถไฟฟ้า ออฟฟิศ หรือแหล่งชุมชน เป็นต้น) หรือพื้นที่แถบชานเมือง ที่นักปั่นจักรยานสามารถแวะเวียนมาใช้บริการได้สะดวก อย่างไรก็ดี จากการที่ธุรกิจจักรยานคาเฟ่ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับการแข่งขันกับคาเฟ่ประเภทอื่นๆ ที่มีความแข็งแกร่งหลากหลายด้านและจำนวนสาขาที่มากกว่า จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจจักรยานคาเฟ่ จำเป็นต้องค้นหาจุดขายที่โดดเด่น เพื่อสร้างความแตกต่างและเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับลูกค้า โดยกลยุทธ์ในการเจาะตลาดผู้บริโภคที่สำคัญ ผู้ประกอบการควรกำหนดตำแหน่งด้านการแข่งขันของร้านในการเป็นศูนย์รวมหรือคอมมูนิตี้สำหรับกลุ่มคนที่ให้ความสนใจจักรยาน เพื่อดึงดูดลูกค้าที่จะเข้ามาเป็นกลุ่ม และเกิดการบอกต่อไปยังผู้ที่มีความสนใจในกิจกรรมเดียวกัน

 

สำหรับการลงทุนธุรกิจจักรยานคาเฟ่ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณา มีดังต่อไปนี้

 

ทำเลที่ตั้งควรจะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการ พื้นที่ที่มีศักยภาพในการตั้งร้านจักรยานคาเฟ่ ได้แก่ พื้นที่ใจกลางเมือง พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า(ที่สามารถเดินทางโดยจักรยานเพื่อต่อไปยังสถานที่อื่นๆ ได้) หรือพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ (ที่นักปั่นจักรยานสามารถเดินทางมาใช้บริการเป็นจุดนัดพบหรือแวะพักได้)

 

สินค้าและบริการต้องตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ลูกค้าเป้าหมายของจักรยานคาเฟ่ คือกลุ่มสิงห์นักปั่น และผู้ที่ชื่นชอบจักรยาน ดังนั้น การนำเสนอรูปแบบสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ยกตัวอย่างเช่น

การกำหนดธีมของร้าน ควรมีความชัดเจน น่าสนใจ แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งในด้านอาหารและสถานที่ โดยเน้นน้ำหนักไปที่การถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของจักรยาน

การตกแต่งร้าน ถือเป็นปราการด่านแรกที่จะทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ โดยไอเดียการตกแต่งร้านควรสร้างบรรยากาศภายในร้านและอาณาบริเวณรอบๆ ให้ดูผ่อนคลาย และมีกลิ่นไอของจักรยานเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

สิ่งอำนวยความสะดวกภายในร้าน สำหรับธุรกิจในลักษณะคาเฟ่ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ควรจะมี ได้แก่ ฟรี WiFi ที่ต้องจัดไว้บริการลูกค้าหลัก นั่นคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ภายในร้านควรมีมุมหนังสือจักรยานที่น่าสนใจ หรือมุมสำหรับนั่งพูดคุยสำหรับลูกค้าในการที่จะนักพบปะแลกเปลี่ยนไอเดียซึ่ง กันและกัน ในขณะที่บริเวณรอบๆ ร้านควรจัดสรรให้เป็นพื้นที่หรือลานจอดจักรยาน และมีบริการพร้อมสำหรับนักปั่นจักรยาน อาทิ จุดบริการเติมลมยาง เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่ม ถือเป็นเมนูคู่คาเฟ่ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่จะขาดไม่ได้เลย ก็คือ ชา-กาแฟ ซึ่งเป็นเมนูหลักที่ได้รับความนิยมเสมอๆ ในขณะที่เมนูอาหารอาจจะเป็นเมนูง่ายๆ สำหรับสิงห์นักปั่นที่จะเวียนแวะมารับประทานก่อน-ระหว่าง-หลังปั่นจักรยาน หรือบางร้านอาจจะเสนอด้วยเบเกอรี่ ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการจะวางคอนเซปร้านครอบคลุมอาหารประเภทใดบ้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า

 

การบริหารจัดการภายในร้านต้องมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น
การบริหารพื้นที่ภายในร้าน มีการจัดสรรพื้นที่ร้านอย่างลงตัว เช่น โซนรับออร์เดอร์ โซนที่นั่ง โซนที่จอดรถและการให้บริการเสริม
การบริหารต้นทุน-กำไร โดยทั่วไปแล้วคาเฟ่ในลักษณะของร้านอาหาร ผลตอบแทนจะแตกต่างกันไปตามขนาดธุรกิจ กล่าวคือ หากร้านมีขนาดเล็ก มีทำเลพื้นที่เป็นของตนเอง (ไม่ต้องเช่า) และสามารถประกอบอาหารและเครื่องดื่มได้เอง ก็สามารถทำกำไรให้ผู้ประกอบการได้ค่อนข้างสูง และคืนทุนได้เร็ว (ไม่ควรเกิน 1-2 ปี) แต่หากร้านมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น อาจจะต้องมีการจ้างพนักงานเพิ่ม ทั้งในส่วนของแม่ครัว พนักงานเสิร์ฟและพนักงานที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก
ให้กับลูกค้า ซึ่งทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น (โดยทั่วไปต้นทุนของอาหารต่อจานที่จำหน่ายไม่ควรจะเกินร้อยละ 30-40 ของราคาขาย) ในขณะที่การตั้งราคาเมนูอาหาร/เครื่องดื่มแต่ละประเภท จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการตลาดของแต่ละพื้นที่ โดยมีปัจจัยในการตั้งราคาดังนี้
                     1. ค่าเช่าพื้นที่                                                    2. รูปแบบของร้านและสินค้าและบริการที่นำเสนอ
                     3. ค่าจ้างพนักงาน                                               4. ราคาขายเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน
                     5. กลุ่มลูกค้าและกำลังซื้อของลูกค้าเป้าหมาย               6. สถานที่ตั้ง (ย่านเศรษฐกิจ/ ใจกลางเมือง/ ติดรถไฟฟ้า ฯลฯ)

 

การทำประชาสัมพันธ์ร้านให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ในวงกว้าง เนื่องจากฐานลูกค้าที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการบอกต่อจากลูกค้าเดิมๆ ไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อย่างไรก็ดี ในยุคที่ผู้บริโภครับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การหันมาให้ความสำคัญกับการทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ ก็น่าจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เพิ่มมากขึ้น โดยการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ ผู้ประกอบการควรจะนำเสนอทั้งในส่วนของที่มา แนวคิด คอนเซปของร้าน สินค้าและบริการที่มีไว้บริการลูกค้า กลุ่มนักปั่นที่เคยมาเยือน ตลอดจนข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจกับสิงห์นักปั่นทั้งหลาย (อาทิ การดูแลรักษาจักรยาน กิจกรรมหรือ ทริปที่น่าสนใจในการปั่นจักรยานเป็นต้น) ก็คาดว่าจะทำให้ร้านเป็นที่รู้จักในวงกว้างและสามารถเปิดรับลูกค้าใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย ผู้ประกอบการอาจมีการประสานงานกับพันธมิตรทางธุรกิจอาทิ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอะไหล่ อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนจักรยาน ในการให้สิทธิพิเศษ/ ส่วนลดในการรับบริการ หากเข้ามาใช้บริการตามที่กำหนดไว้ หรือลงทะเบียนเป็นสมาชิกของทางร้าน รวมไปถึงการวางแผนจัดกิจกรรมสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เช่น การจัดทริปปั่นจักรยานไปยังสถานที่ท่องเที่ยว หรือปั่นจักรยานไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าที่ไม่ควรมองข้าม

 

แหล่งที่มา: ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย