สสว. แนะ SMEs ใช้ BCP สู้วิกฤติ


สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศที่เริ่มส่งผลกระทบนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 เป็นต้นมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักได้คาดการณ์ว่าปี 2557 ประเทศไทยจะประสบวิกฤติภัยแล้งที่หนักที่สุดในรอบ 10-15 ปี ปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือภัยแล้งแล้วในพื้นที่ทั่วประเทศรวม 29 จังหวัด 192 อำเภอ 8,465 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

             สาเหตุสำคัญเกิดจากปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนต่างๆ มีน้อยกว่าทุกปี มีการปลูกพืชในฤดูแล้ง โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงมากขึ้นถึง 8.73 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ 20 ก.พ. 2557) จากปกติไม่ควรปลูกเกิน 4.74 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลให้น้ำมีความเค็มเกินกว่ามาตรฐาน ซึ่ง ปภ. คาดการณ์ว่าในปีนี้พื้นทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายจากภัยแล้งไม่น้อยกว่า 10.72 ล้านไร่ ใน 45 จังหวัด ขณะที่ความเค็มของน้ำยังส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคทั้งในภาคครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม

             “ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (OTOP) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการเตรียมการรองรับ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางวิกฤติการณ์ต่างๆ และแนวทางที่ สสว. เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ คือ การจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือ BCP” นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าว

             สำหรับการจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (BCP:Business Continuity Planning) เป็นการพัฒนาความสามารถขององค์กรในการกลับมาดำเนินธุรกิจเมื่อประสบภาวะวิกฤติหรือภัยพิบัติ รวมทั้งรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดทำ BCP จะต้องดำเนินการโดย

             กำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจนในการป้องกันการดำเนินธุรกิจจากภัยพิบัติและอุบัติเหตุต่างๆ เพื่อเป็นเกณฑ์จัดลำดับความสำคัญของสินค้าหรือบริการหลักๆ ขององค์กร รวมถึงกลยุทธ์ การวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ทั้งนี้จะต้องกำหนดขอบเขตในการจัดทำ BCP โดยคำนึงถึงความจำเป็นทางธุรกิจและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรม

             ต้องมีการระบุความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคาม โดยเลือกความเสี่ยงที่มีความสำคัญสูงสุด โดยทำการประเมินระดับความเสียหายและช่วงเวลาที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูกับระยะเวลาเป้าหมายในการฟื้นคืนสภาพ

             กลยุทธ์การฟื้นฟูธุรกิจ ส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของ BCP ซึ่งประกอบด้วย 1.การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติและการบรรเทาผลกระทบ SMEs 2.การรับมืออย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการหยุดชะงักของธุรกิจ 3.กลยุทธ์ความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยใช้มาตรการสำรองหรือมาตรการชั่วคราว ซึ่งต้องกำหนดและเตรียมทรัพยากรสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกที่จำเป็น และ 4.การเตรียมความพร้อมด้านการเงิน

             วงจรบริหารคุณภาพ โดยต้องมีการพัฒนาและปรับปรุง BCP อย่างต่อเนื่อง ด้วยวงจร PDCA คือ การวางแผน (Plan) ดำเนินการ (Do) ตรวจสอบและทบทวน (Check) รักษาไว้และพัฒนา (Act) ซึ่งการตรวจสอบและทบทวน ต้องทำเป็นระยะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ

             เชื่อว่า BCP จะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเตรียมการรับมือกับวิกฤติภัยแล้ง รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบ ด้วยการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายใต้การวางแผนรับมือกับปัญหาได้อย่างเร่งด่วน และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง” ผอ.สสว. กล่าว  

             ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ BCP และการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ สสว. ได้จัดหลักสูตรอบรมความรู้หลากหลายหัวข้อที่เป็นประโยชน์ ซึ่ง SMEs ที่สนใจ สามารถติดตามและลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมได้ที่  www.sme.go.th หรือที่ สสว. Call Center 1301 ทุกวันในเวลาราชการ