ท่ามกลางการแข่งขันจากตลาดเครื่องหนังทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่มีอยู่อย่างมากมาย via dante ก็สามารถสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง ด้วยการถ่ายทอดความเป็นไทยสู่ผลงานต่างๆ ยืนหยัดมาเป็นเวลากว่า 3 ปี
จุดกำเนิด via dante
เครื่องหนังไทยโดยส่วนมากที่เป็นกระเป๋า รองเท้า แฟชั่นต่างๆ มักไม่ค่อยมีลวยลายลงบนเครื่องหนังเท่าไรนัก จากจุดนี้เองจึงทำให้คุณอภิมุข สังข์วิชัยที่เรียนจบมาทางด้านสถาปัตยกรรมจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยและเคยเป็นดีไซน์เนอร์ให้กับเสื้อผ้ามาก่อนเห็นช่องทางว่าสามารถสร้างสินค้าที่มีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ได้ จึงอยากสร้างสรรค์ผลงานบนเครื่องหนัง และฉวยโอกาสนี้สร้างกิจการของตนเองด้วยในคราวเดียวกัน
อภิมุข ลาออกจากการเป็นดีไซน์เนอร์ให้กับเสื้อแบรนด์หนึ่ง มาเปิดกิจการของตนเองตั้งแต่ปี 2553 โดยตั้งชื่อ แบรนด์ของตัวเองว่า via dante ซึ่งมีความหมายว่า เส้นทางแห่งกวี หรือถนนของกวี ผลิตผลงานเครื่องหนังตั้งแต่กระเป๋า รองเท้า และวัสดุต่างๆ ที่เกี่ยวกับหนังตามที่เขาชอบ นอกจากนี้เขายังนิยมที่จะนำเอาขนสัตว์มาเป็นส่วนประกอบในผลงานดีไซน์เครื่องหนังของเขาให้ดูแตกต่างจากคนอื่น ไม่รวมการฝีมือการเพ้นท์ลายต่างๆ ลงบนผืนหนังที่เขาผลิตอีกด้วย
อภิมุขเล่าต่อว่าในระยะแรกของการเปิดกิจการ สินค้าของเขายังมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายภายในประเทศ ดังนั้น การเลือกสถานที่ขายก็เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างแบรนด์ เขาเลือกตั้งร้านอยู่ที่เอเชียทีคเพราะเป็นศูนย์การค้าที่มีประวัติศาสตร์และมีคนเดินมากเหมาะแก่การทำการค้า สามารถส่งเสริมการตลาดได้เป็นอย่างดี ร้านของเขาเปิดตั้งแต่เวลา 16.00-23.00 น.
ขณะนี้ “via dante” ไม่มีแผนที่จะขยายธุรกิจออกนอกพื้นที่ เพราะกิจการเพิ่งเริ่มต้น หากขยายหลายสาขาจะลำบากในแง่ของการบริหารจัดการ หากกิจการดีก็เน้นขยายพื้นที่ขายภายในร้านให้มากขึ้น โดยในเดือนสิงหาคมนี้ จะขยายพื้นที่ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ตั้งชื่อว่า via dante Galleria โดยทำเป็น Gallery งานศิลปะ การขยายเช่นนี้จะทำให้แบรนด์ via dante ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
จุดเด่น via dante
จุดเด่นหรือแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ผลงานบนสินค้าของ via dante มาจากศิลปะและภูมิปัญญาของคนไทย งานหลายชิ้นของ via dante สะท้อนถึงรากเหง้าของความเป็นไทย ลายโบราณของไทยๆ อาทิ ลายไทย ลายกนก ลายลูกน้ำ เป็นต้น งานทั้งหมดเป็นงานศิลปะเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาผ่านฝีมือการเพ้นท์ลายของเขา และงานของ via dante ได้มีการจดทะเบียนการค้าและทะเบียนลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553
อภิมุขบอกว่า “ระยะเวลาการเพ้นท์ลายเครื่องหนังแต่ละประเภท ไม่สามารถบอกได้ว่าใช้เวลาเท่าไร เพราะงานศิลปะต้องขึ้นอยู่กับคนทำ ซึ่งงานในแต่ละชิ้นใช้เวลามากน้อยไม่เท่ากัน ส่วนกระบวนการทำได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวทั้งหมด เป็นการฝึกฝนด้วยตนเอง”
อภิมุขจะทำหน้าที่เฉพาะการเพ้นท์ลายลงบนเครื่องหนังเท่านั้น ส่วนกระบวนการผลิต การเย็บ เขาได้ไปจ้างผลิตจากโรงงานเครื่องหนังที่สมุทรปราการ ซึ่งแต่ละเดือนจะมียอดผลิตของกระเป๋าประมาณ 50 ชิ้น รองเท้าประมาณ 100 ชิ้น
ลูกค้าของ via dante
อภิมุขเล่าว่า “กลุ่มเป้าหมายโดยทั่วไปมีอายุตั้งแต่ 15 ปี เป็นต้นไป ส่วนมากมักเป็นผู้หญิง และเป็นคนไทยที่ชื่นชอบผลงานด้านงานศิลปะ ก็จะเข้ามาชมและเลือกซื้อกัน ซึ่งราคาสินค้าแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน โดยราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลัก1,000 บาท เรื่อยไปจนถึงหลักหมื่นบาท โดยในแต่ละเดือนจะมียอดขายประมาณ 2-3 แสนบาท ส่วนในเรื่องของเงินลงทุนไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ เพราะแต่ละเดือนสินค้าก็จะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ในบางเดือนก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย”
ทางด้านแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ via dante มีผลตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเริ่มต้น คาดว่าจะมีอนาคตไกล โดยต่อไปมีนโยบายที่จะส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เพราะเท่าที่สังเกตเห็นว่าเขาให้ความสนใจกับสินค้าในลักษณะนี้อยู่มาก
ด้านช่องทางการส่งเสริมการขายอื่นๆ นั้น ขณะนี้ via dante ได้เปิดช่องทางการสื่อสารสินค้าใน facebook โดยสามารถสั่งซื้อสินค้าได้จากทางช่องทางนั้นได้เช่นกัน
อภิมุขเล่าว่า ด้วยเอกลักษณ์การออกแบบที่ใช้ความเป็นไทยเป็นพื้นฐาน และยังเป็นการสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง จึงไม่ค่อยมีคู่แข่งมากมาย แต่ปัญหาหรืออุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากการที่เป็นรายใหม่ในตลาด ยอดการผลิตของรองเท้าและผลิตภัณฑ์เครื่องหนังอื่นๆ ยังมีจำนวนไม่มากพอที่จะผลิตเอง จึงจำเป็นต้องจ้างผลิต ยอดการสั่งผลิตก็ยังน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับรายใหญ่อื่นๆ ทำให้ซัพพลายเออร์หรือโรงงานผลิตไม่ค่อยให้ความใส่ใจ บางครั้งผลิตไม่ตรงตามกำหนด ทำให้เกิดความล่าช้า
via dante เติบโตอย่างโดดเด่น เอกลักษณ์เฉพาะด้านในงานศิลปะ โดยสลักลวดลายไทยลงบนเครื่องหนัง ทั้งกระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง และสินค้าจากขนสัตว์ต่างๆ เป็นต้น แสดงถึงความเป็นไทยได้อย่างลึกซึ้งเป็นที่สนใจแก่กลุ่มตลาดอย่างญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก