อุตฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนยุทธศาสาตร์ใหม่ หวังสร้างโอกาสเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลก


ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มานานกว่า 40 ปีและเป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งสถานการณ์ของโลกมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ดังนั้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยต้องมีการกำหนดตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Positioning) ใหม่เพื่อให้แข่งขันได้ ดังนั้น จึงได้มีการศึกษาการกำหนดตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัจจุบัน ไทยมีการส่งออกเป็นอันดับที่ 12 ของโลกมีมูลค่าการส่งออกในปี 2556 อยู่ที่ 56,600 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 1.9

อย่างไรก็ตาม ไทยตกอยู่ในกลุ่มผู้นำในตลาดที่กำลังถดถอย (Winner in declining markets) นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกอยู่ในตลาดที่มีการเติบโตค่อนข้างช้า ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศใน AEC แล้วมาเลเซียแซงหน้าไทยไปอยู่ในอันดับที่ 11 มีมูลค่าส่งออก 78,223 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งในตลาดโลก ร้อยละ 2.6 รวมถึงอยู่ในกลุ่มผู้นำในตลาดที่กำลังเติบโต (Winner in growing markets) ซึ่งมาเลเซียจะสามารถเติบโตได้อีกมาก จากการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกในกลุ่ม Semiconductor และ ICT เช่น Nanotechnology, Micro electromechanical systems, Photonics และพลังงานทางเลือก นอกจากนี้ประเทศที่กำลังมาแรง คือ เวียดนาม มีการเติบโตรวดเร็วมาก ในปี 2555  มีมูลค่าส่งออก 37,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 138.6 จากในปี 2554 ที่มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 15,882 ล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ1.3 เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทซัมซุงเข้าไปลงทุนในการผลิต Smart phone และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีโอกาสที่จะขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับไทยได้ในระยะอันใกล้ และอาจแซงหน้าไทยไปในที่สุด

  

         ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวว่า  อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยมีความแข็งแกร่งมากและได้รับการยอมรับ/ความเชื่อถือว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศไทยมีคุณภาพสูงกว่าประเทศอื่น แต่จากพฤติกรรมของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น จึงได้กำหนดตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์เป็น “Mass Customization for Customers Segmentation” โดยเน้นด้านการออกแบบรูปลักษณ์สินค้า และปรับวิธีการใช้งานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค (Life Style) ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ รวมถึงพัฒนาให้สินค้าประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Eco & Environmental Friendly) และในอนาคตอันใกล้จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) เข้ามาใช้ด้วยเพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความฉลาด (Smart Home Appliance) และสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดคนรุ่นใหม่อย่างมาก เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลางที่มีคุณภาพสูงและได้รับความนิยมทั้งในตลาด ASEAN และตลาดโลก

ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ : ผู้ผลิตส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการประกอบหรือผลิตโมดูลอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลาง  จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบขั้นต้นจากต่างประเทศ และต้องส่งออกไปต่างประเทศที่เป็นฐานประกอบขั้นสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Devices) เป็นกลไกสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรม จากการเป็นชิ้นส่วนสำคัญในผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้ากำลัง ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ การเกษตร โดยมีปัจจัยผลักดันคือความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความฉลาด (Smart & Intelligent) และมีขนาดที่เล็กลง (Small Footprint) ปัจจัยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คือ ต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีได้ทัน ดังนั้นตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ คือ “Advance & Effective Electronics Manufacturer” โดยการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัยด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น (Automation) ยกระดับผู้ผลิตจาก OEM ให้เป็น Electronics Manufacturing Service (EMS) โดยการเพิ่มศักยภาพด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรม (Engineering Design) รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์และเครื่องกลจุลภาค (Micro Electromechanical System : MEMS) ใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร ระบบจัดการพลังงานฉลาด (Smart Power) อิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์/เครื่องมือแพทย์/การเกษตร RFID ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontrollers) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ฉลาดขึ้น และ

ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวอีกว่า  อุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลังซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิต/ส่งไฟฟ้าและพลังงาน   มีลักษณะเป็นสินค้าขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ในสถานที่เฉพาะ เพื่อการแปลงรูปหรือส่งผ่านพลังงาน การขายส่วนมากเป็นการทำสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐบาล/องค์กร/บริษัท โดยทิศทางการพัฒนาจะมีแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) มากขึ้น และการพัฒนาเป็นระบบจ่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อให้สามารถควบคุม/ตรวจสอบ/สื่อสารต่างๆ ในระบบการจ่ายไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้ากำลังต้องอาศัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งไทยมีจุดแข็งทางด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ได้รับการยอมรับ  จึงกำหนดให้เป็น “Total Solution Service Provider” เพื่อยกระดับผู้ผลิตไทยให้เป็นผู้ให้บริการครบวงจรที่มีมาตรฐานการติดตั้ง/ให้บริการอย่างมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประเทศใน ASEAN ที่กำลังลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จำนวนมาก จึงต้องมีมาตรการเชิงรุกในการเข้าสู่ตลาดโดยใช้จุดแข็งที่ไทยมีอยู่ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องมาตรฐาน/ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ไทย หรือการเข้าไปสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศต่างๆ ใน ASEAN เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับมากขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ผลิตรุกเข้าตลาดในลักษณะกลุ่มความร่วมมือที่มีสินค้าและบริการอย่างครบวงจร และเร่งพัฒนาความรู้/เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พร้อมให้คำปรึกษา ออกแบบ ผลิตและติดตั้งได้อย่างมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น