เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/57 โตเกินคาด


แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปี 2557 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 (YoY) ซึ่งนับว่าเกินความคาดหมายของตลาดพอสมควร กระนั้นก็ดีการขยายตัวดังกล่าวเป็นอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนมี.ค.2557 เครื่องชี้หลายรายการยังคงมีทิศทางที่ชะลอความร้อนแรงลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (PMI) ที่จัดทำโดย HSBC&Markit Economics ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สู่ระดับ 48.0 จุด ซึ่งบ่งชี้ทัศนคติด้านลบของผู้ประกอบการ ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 17.6 (YTD, YoY) ซึ่งต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.9 (YTD, YoY)  ขณะที่การส่งออกในเดือนมี.ค. ก็ยังคงหดตัวร้อยละ 6.6 (YoY) ต่อเนื่องจาก 2 เดือนแรกที่รวมแล้วหดตัวร้อยละ 1.7 (YoY) แม้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบจากการรายงานเลขส่งออกเกินจริงในปีที่แล้วก็ตาม นอกจากนั้น ปริมาณเงิน (M2) ณ สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2557 ขยายตัวเพียงร้อยละ 12.1 (YoY) ซึ่งเป็นอัตราลดลงเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นสุดเดือนมี.ค.ของปีก่อน ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 15.7 (YoY) มีเพียงการค้าปลีก (Retail Sales) เท่านั้นที่ขยายตัวเร่งขึ้นจาก 2 เดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 12.2 (YoY) ในเดือนมี.ค.2557  ภาพโดยรวมจึงยังคงสะท้อนโมเมนตัมที่อ่อนแรงลงของเศรษฐกิจจีน

ดังนั้น การที่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกขยายตัวสูงกว่าคาดที่ร้อยละ 7.4 จึงมิได้บ่งบอกนัยในเชิงบวกของเศรษฐกิจจีนมากนัก โดยประเด็นสำคัญที่ควรจับตามองในระยะข้างหน้า อยู่ที่ความคืบหน้าของกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างเสถียรภาพระยะยาว ซึ่งจะช่วยสะท้อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยนำไปสู่การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในอนาคตได้มากกว่าตัวเลขจีดีพีในขณะนี้ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการเงิน เพื่อควบคุมการขยายตัวของธนาคารเงา (Shadow Banking) ตลอดจนหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังควรจับตาการผลักดันการยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และการจัดตั้งระบบประกันเงินฝาก ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ในการจัดสรรทรัพยากรแก่ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี อาจต้องส่งผลกระทบต่อธนาคารขนาดเล็กอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจจีนในปี 2557 คาดว่า ทางการจีนคงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหวังผลการเติบโตในระยะสั้น ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินขนาดใหญ่อาจไม่เกิดขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นไปได้ที่ทางการจีนอาจมีมาตรการเพื่อประคองเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Mini Stimulus) โดยเฉพาะมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก และประชาชนในชนบท อาทิ การที่นายกรัฐมนตรีหลี่        เค่อเฉียง ได้เปิดเผยกับสื่อจีนเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2557 ว่ามีแผนการออกพันธบัตรมูลค่า 1.5 แสนล้านหยวน (ราว 24.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อดำเนินการสร้างเส้นทางรถไฟเป็นระยะทางกว่า 6,600 กิโลเมตรในปี 2557 ซึ่งมากกว่าในปีที่แล้วราว 1,000 กิโลเมตร พร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ อีกราว 2-3 แสนล้านหยวน (ราว 32.2-48.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) พร้อมกันนั้น รัฐบาลจีนได้เตรียมขยายเวลาการลดหย่อนภาษีร้อยละ 50 แก่กิจการขนาดเล็กไปจนถึงสิ้นปี 2016 (พ.ศ. 2559) และขยายเพดานให้กิจการขนาดเล็กที่มีรายได้พึงประเมิน (Taxable Income) สูงกว่า 60,000 หยวนแต่ไม่เกิน 100,000 หยวนสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้อีกด้วย

ด้วยทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อรักษาเป้าหมายที่ผสมผสานระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กับการประคองอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับเหมาะสมของรัฐบาลจีน ด้วยนโยบายการคลังเชิงรุก (Proactive Fiscal Policy) และนโยบายการเงินขยายตัวอย่างระมัดระวัง (Prudent Monetary Policy) เมื่อประกอบกับสัญญาณเชิงบวกของการส่งออกที่อาจเริ่มก่ออานิสงส์ต่อเศรษฐกิจจีนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2557 (สะท้อนโดยองค์ประกอบย่อยด้านคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออก (New Export Orders) ที่มีทิศทางที่ดีขึ้นในเดือนมี.ค.2557) ทำให้คาดว่า จีนน่าจะสามารถประคองการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2557 ได้ที่ราวร้อยละ 7.4 ซึ่งใกล้เคียงเป้าหมายของทางการจีนที่กำหนดไว้ประมาณร้อยละ 7.5

 

ความท้าทายในระยะข้างหน้า

                ในระยะข้างหน้า คงยากที่จะปฏิเสธว่า มีอีกหลายปัจจัยรุมเร้าทางเศรษฐกิจที่จีนต้องผ่านพ้นไปให้ได้ โดยเฉพาะผลข้างเคียงของนโยบายปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม ที่ส่งผลต่อการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม การคุมเข้มการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น ที่อาจมีผลชะลอการลงทุนในประเทศ รวมไปถึงการปฏิรูปภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งอาจกระทบต่อเนื่องถึงสภาพคล่องของระบบธนาคารเงา (Shadow Banking) และกระทบเชื่อมโยงต่อภาคธุรกิจในจีน  โดยในระยะข้างหน้า คาดว่า มาตรการที่ทางการจีนจะยังคงบังคับใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุม Shadow Banking คือการควบคุมสภาพคล่องในตลาดเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินมากขึ้น และอาจกระทบสภาพคล่องของ Shadow Banking  รวมถึงของภาคธุรกิจบางรายในจีนได้ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องหรือพึ่งพาแหล่งเงินทุนจาก Shadow Banking มาก อาทิ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้าง รวมไปถึงธุรกิจที่ถูกกดดันจากนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว อาทิ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหล็ก ซิเมนต์ และการต่อเรือ ซึ่งอาจกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเสถียรภาพของภาคธุรกิจโดยรวมในจีนในระยะสั้น และอาจกระทบทำให้เศรษฐกิจจีนลดความร้อนแรงลงในปีนี้

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยที่มีคู่ค้าเป็นธุรกิจในจีน ควรเฝ้าจับตาความสามารถในการชำระเงินของคู่ค้าอย่างใกล้ชิด โดยหากพบสัญญาณผิดปกติด้านเครดิต ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาปรับนโยบายการให้เครดิตการค้าตามความเหมาะสม นอกจากนั้น ผู้ส่งออกจากไทยไปยังจีนควรเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินในภูมิภาค อันเป็นผลเชื่อมโยงจากความผันผวนของเงินหยวนที่มากขึ้นในปีนี้จากนโยบายปฏิรูปกลไกอัตราแลกเปลี่ยน โดยผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาทำสัญญา Forward หรือ Hedging เพื่อป้องกันการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากผลกระทบของความผันผวนของค่าเงินที่อาจเกิดขึ้นได้