“The Angel Light” ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง รอดเพราะเจาะตลาดเฉพาะ


“ตะเกียงนางฟ้า” หรือ “The Angel Light”  เป็นเครื่องหมายการค้าที่คุณ วราวุธ ดำรงรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คูซาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดจดไว้กับสินค้าของเขาที่คิดค้นขึ้นมาเอง

“The Angel Light” เป็นตะเกียงที่ทำมาจากแก้วโดยการออกแบบของคุณวราวุธเอง ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผาไหม้เพื่อให้เกิดแสงสว่างเป็นเบนซินที่ผ่านการสังเคราะห์โดยผสมสารเคมีที่ขจัดกลิ่นและควันออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตั้งแต่ทำงานในบริษัทน้ำมันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาเปิดกิจการของตัวเองทำตะเกียงขาย

 

คุณวราวุธเล่าให้ฟังว่า เขาออกมาตั้งกิจการเมื่อวัยกลางคนแล้ว เขาได้สะสมทั้งความรู้และเงินทุนในระดับหนึ่งประกอบกับธุรกิจที่เขาจะเริ่มต้นใช้เงินลงทุนไม่มากนัก จึงไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุน แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่การหาตลาดให้กับตะเกียงเบนซิน “The Angel Light” ของเขา

 

“แรกเริ่มเราหาตลาดอย่างสะเปะสะปะ วิ่งเข้าหาเทรดดิ้ง ตัวแทนจำหน่ายมองไปที่ตลาดแมส ทำอยู่ 3 ปีมีแต่ปัญหา ไหนจะต้องมีสินค้าตัวอย่าง ไหนจะต้องดูแลเรื่องสต๊อก สินค้าหาย ตอนหลังขายไม่ดีตัวแทนให้เราออก เราก็ออก”คุณวราวุธกล่าว

 

นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในช่วงตั้งกิจการใหม่ๆ คือการควบคุมการผลิตให้ซัพพลายเออร์ผลิตแก้วหรือเป่าแก้วให้เป็นไปตามความต้องการรูปแบบและดีไซน์ของ“The Angel Light” เป็นเรื่องยากที่ต้องฟันฝ่าไปให้ได้

 

สิ่งที่ทำให้ “The Angel Light” ประสบความสำเร็จคือการมุ่งเข้าเจาะตลาดเฉพาะเจาะจงจำพวกโรงแรมและร้านอาหาร โดยในระยะแรกก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ เพราะมีปัญหาว่าราคายังแพงกว่าการจุดแสงสว่างจำพวกตะเกียง แต่ด้วยดีไซน์และรูปแบบการใช้งานที่สะดวก สะอาดทำให้ได้รับการยอมรับในเวลาต่อมา และใช้เวลาเพียงปีเดียวก็สามารถคืนทุนได้แล้ว

 

“ขายตรงดีกว่ามาก สินค้าเราไม่ได้ทำแมส ทำโรงแรมต้องสร้างความแตกต่าง แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เราทำตลาดจำเพาะเจาะจง เราทำไดเร็กซ์  ทำให้ได้มาร์จินสูงเพราะไม่ต้องผ่านตัวกลาง”คุณวราวุธกล่าว

ลูกค้าของ “The Angel Light” ปัจจุบันนี้เป็นโรงแรมและร้านอาหารทั้งภายในและต่างประเทศ ลูกค้าที่เป็นกลุ่มโรงแรมในประเทศได้แก่ กลุ่มศรีพันวา สตาวู้ดกรุ๊ฟ  แอคคอร์ดกรุ๊ฟ เซ็นธารากรุ๊ฟ อมารีกรุ๊ฟ เป็นต้น ส่วนลูกค้าต่างประเทศจะส่งออกไปยังโรงแรมในประเทศสิงคโปร์ โรงแรมในมัลดีฟ เป็นต้น

ทุกวันนี้ตะเกียง “The Angel Light” มุ่งขายตรงเข้าสู่โรงแรมและร้านอาหารเป็นหลัก จะมีขายปลีกบ้างแต่ต้องมีการซื้อผ่านเว็บไซต์ โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 200 บาท ไปจนถึงหลักหลายพันบาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบและดีไซน์  งานที่ส่งเข้าโรงแรมต้องมีเอกลัษณ์และมีดีไซน์ที่โดดเด่น “The Angel Light” ได้รับรางวัลการออกแบบ จีมาร์คจากญี่ปุ่นเป็นเครื่องการันตี

 

“The Angel Light” ส่วนมากจะเป็นลูกค้าเก่าเป็นฐานอยู่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของ“The Angel Light” เป็นวัสดุสิ้นเปลือง ใช้แล้วหมดไป จึงต้องมีการซื้อซ้ำ มีลูกค้าบางรายที่ไปซื้อจากที่อื่น แล้วคุณภาพไม่ถึงพอกลับมาจะซื้อกับทาง “The Angel Light”ก็จะไม่รับประกันเรื่องคุณภาพ

 

คุณวราวุธกล่าวสรุปว่าเคล็ดลับของการสร้างความสำเร็จให้กับ “The Angel Light” คือการสร้างความแตกต่างด้านดีไซน์ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า สร้างความสวยงามควบคู่ไปกับความสะดวกในการใช้งานและบริการที่ดีต่อลูกค้าเพื่อให้ยืนหยัดเป็นลูกค้าประจำได้อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าของเขากว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าประจำและมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน