มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวลงอีกครั้งในเดือนมี.ค. 2557 โดยเป็นผลจากการหดตัวต่อเนื่องของสินค้ากลุ่มเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร และเหล็ก/ผลิตภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้าง ขณะที่ การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้ง เนื่องจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าจากตลาดศักยภาพ (โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน-5 จีนและออสเตรเลีย) ตลอดช่วงไตรมาส 1/2557 ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ตามที่คาดหวังมากนัก
อนึ่ง แม้ภาพรวมการส่งออกในไตรมาส 1/2557 จะยังไม่บ่งชี้ภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนให้เห็น แต่มูลค่าการส่งออกรายเดือนที่เริ่มไต่ระดับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในช่วงเดือนก.พ.และมี.ค.ที่ผ่านมา ก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางที่ดีขึ้นของสินค้าส่งออกสำคัญบางรายการ ซึ่งหากว่า สัญญาณบวกดังกล่าวมีความชัดเจนมากขึ้นในระยะข้างหน้า ก็น่าจะช่วยหนุนจังหวะการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยได้
เดือนมี.ค. 2557 หดตัวลงอีกครั้ง
การส่งออกเดือนมี.ค. 2557 มีมูลค่า 19,940.2 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 3.12 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.43 (YoY) ในเดือนก.พ. โดยการส่งออกไปยังตลาด G3 และตะวันออกกลางที่ขยายตัว (สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.6 YoY สหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 3.0 YoY ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.6 YoY และตะวันออกกลางขยายตัวร้อยละ 1.30 YoY) ถูกลดทอนภาพบวกลงด้วยคำสั่งซื้อที่ยังลดน้อยลงจากตลาดสำคัญหลายตลาด โดยเฉพาะจีน (หดตัวร้อยละ 11.2 YoY) อาเซียน-5 (หดตัวร้อยละ 16.3 YoY) และออสเตรเลีย (หดตัวร้อยละ 24.1 YoY) ขณะที่ การส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 0.7 (YoY) เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน
ในด้านสินค้าส่งออกนั้น การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ยังหดตัวต่อเนื่องนับจากต้นปี อีกร้อยละ 6.7 (YoY) นำโดย การส่งออกยางพารา กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ไก่แปรรูป และอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ขณะที่ ฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน กดดันให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 0.79 (YoY) นำโดย สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็ก/ผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าขั้นกลางบางชนิด อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกสำคัญของไทยอื่นๆ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง รถยนต์นั่ง/ส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยังขยายตัวได้ในเดือนมี.ค.
ภาพการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของสินค้า/ตลาดส่งออกสำคัญหลายรายการดังกล่าวข้างต้น ฉุดให้ภาพรวมการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/2557 หดตัวลงที่ร้อยละ 1.00 (YoY) ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.03 (YoY) ไตรมาส 4/2556 โดยหากไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่ค่อนข้างผันผวนตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลกแล้ว การส่งออกของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 2.8 (YoY) ซึ่งคงต้องยอมรับว่า ภาคการส่งออกของไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่ท้าทายต่อเส้นทางการฟื้นตัว
จากภาพรวมนับจากต้นปี 2557 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรที่ยังคงหดตัว ได้ลบล้างภาพบวกของการเริ่มฟื้นตัวในสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าน่าจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในปีนี้ พบว่า เริ่มมีสัญญาณบวกในบางตลาด/สินค้าส่งออก ขณะที่ สินค้าบางรายการยังคงอยู่ในช่วงรอสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในช่วงเข้าสู่ฤดูกาลผลิต/จัดจำหน่ายประจำปี ซึ่งหากว่า ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ภาพต่างๆ ทยอยปรากฏชัดเจนมากขึ้น ก็น่าจะช่วยเสริมให้ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มสดใสมากขึ้นเช่นกัน โดยกลุ่มสินค้าดังกล่าว มีดังนี้
กลุ่มสินค้าที่มีภาพทยอยฟื้นตัวจากช่วงหลายเดือนก่อนหน้า ได้แก่ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้าและวงจรพิมพ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะโทรทัศน์และเครื่องปรับอากาศ รถยนต์นั่ง/ส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสินค้าทุน/สินค้าขั้นกลางประเภทเครื่องจักรกล/อุปกรณ์ และเม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อในตลาด CLMV ตลาดตะวันออกกลาง และการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกไปยังตลาด G3 ที่สดใสนี้ ก็ทำให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ สามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้เช่นกัน ขณะที่ การส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลังและข้าว ก็เติบโตดีตามคาดจากอุปสงค์ในจีนที่ยังเติบโตต่อเนื่อง และการส่งออกไปยังบางประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศในทวีปแอฟริกาที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามว่า สินค้าในกลุ่มนี้จะยังสามารถรักษาทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าในบางหมวดอาจได้รับอานิสงส์จากปัจจัยเชิงฤดูกาลที่ทำให้การส่งออกมีการเร่งตัวขึ้นในบางเดือนของไตรมาสแรกของปี
กลุ่มสินค้าที่ต้องรอคอยสัญญาณบวกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเครื่องประดับเงิน/ทอง และเครื่องประดับเทียม ที่ยังคงหดตัวตามการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ถูกกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP เต็มรูปแบบที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (แม้ว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณี/เครื่องประดับในภาพรวมจะขยายตัวในระดับสูงจากผลของการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น) สินค้าขั้นกลางประเภทเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และด้าย/ผ้าผืนที่หดตัวตามแรงฉุดของการส่งออกไปยังตลาดจีนที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังชะลอตัว รวมทั้งสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป เนื่องจากติดปัญหาด้านอุปทานวัตถุดิบ ทำให้การส่งออกกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ยังคงหดตัว เช่นเดียวกับไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็น/แช่แข็งที่ยังต้องรอการฟื้นกำลังซื้ออย่างเต็มที่ในตลาดสหภาพยุโรป รวมทั้งอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำตลาดในญี่ปุ่นและสิงคโปร์
โดยสรุป แม้การส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2557 ยังคงหดตัวร้อยละ 1.00 (YoY) ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 1.03 (YoY) อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการเริ่มมีสัญญาณบวกของการฟื้นตัวท่ามกลางอานิสงส์จากตลาดศักยภาพอย่าง CLMV ตะวันออกกลาง รวมทั้งการค่อยๆ ฟื้นคืนมาของกำลังซื้อในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการ ทั้ง คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์นั่ง/ส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่มรวม เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยังสามารถบันทึกอัตราการเติบโตได้ในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะสามารถเป็นแรงเสริมที่ช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยสามารถปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2557 ไว้ที่ร้อยละ 5.0 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 3.0-6.0) ในขณะนี้ โดยอาจมีการทบทวนประมาณการอีกครั้ง หากสถานการณ์การส่งออกในช่วงไตรมาส 2/2557 ไม่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามที่คาด เนื่องจากคงต้องยอมรับว่า เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายทั้งจากความไม่แน่นอนของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่ยังมีทิศทางชะลอตัว ซึ่งไม่เพียงจะกดดันให้คำสั่งซื้อสินค้าจากไทยฟื้นตัวล่าช้าแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหลายตัวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ภาวะการแข่งขันจากประเทศคู่แข่ง ปัญหาด้านอุปทาน/วัตถุดิบการผลิตของสินค้าส่งออกบางรายการ รวมทั้งประเด็นความเชื่อมั่นของคู่ค้าต่างประเทศในการผลิต/ส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการไทย ก็ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการปรับกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดในช่วงที่เหลือของปีนับจากนี้ไป