ICT SMEs ไทย ปรับโฉมรุกตลาด AEC อย่างมั่นคง


ICT SMEs ไทยเตรียมพร้อมขยายธุรกิจเกี่ยวกับ IT เดินหน้าก้าวสู่ AEC โดยชี้แนวทางการทำธุรกิจอย่างมั่นคง ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการ IT ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาศักยภาพธุรกิจ เพื่อการแข่งขันภายในประเทศและออกสู่ตลาด AEC พร้อมทั้งเผยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนส่งเสริมธรุกิจอย่างครบถ้วน

AEC โอกาสของ ICT SMEs ไทย

นายยงยศ พรตปกรณ์ รองประธานคณะกรรมการกลุ่มธุรกิจบริการและการลงทุน ประธานคณะอนุกรรมการธุรกิจและการเชื่อมโยง กล่าวถึงโอกาสของ ICT SMEs ไทยในอาเซียนว่า การทำธุรกิจที่เกี่ยวกับ ICT นั้นต้องมีแหล่งเงินทุน เพื่อที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจของตนเองด้วย ทั้งนี้ก็พบว่าประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ต้องการเปิดเสรีการค้าเพื่อลดภาษีลง แต่ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ต้องการเพียงเปิดเสรีการบริการให้มากขึ้น เนื่องจากเราต้องมีการพัฒนาจุดด้อยให้ดีขึ้นกว่าเดิม สำหรับเรื่องการทำธุรกิจด้าน ICT โดยส่วนใหญ่มักคิดว่า ICT เป็นเพียงการบริการสื่อสารโทรคมนาคม หรือการบริการธุรกิจ แต่ ICT เป็นการบริการด้านอื่นๆด้วย ทั้ง E-Service หรือซอฟแวร์ต่างๆ เป็นต้น หากเมื่อเปรียบเทียบโอกาสอุตสาหกรรม ICT ไทย กับช้างไทย ต้องมีการศึกษาว่า เราควรที่จะใช้ประโยชน์ช้างทางด้านไหนบ้าง เช่น ตัดงาเพียงแค่ขาย เมื่อช้างตายเอากระดูกมาเป็นโครงสร้างในการเรียนรู้ หรือใช้เป็นสนามรบทางการค้า แต่อย่างไรก็ตามอย่ามอง AEC เพียงแค่การค้าอย่างเดียว แต่ต้องมองอีกมุมจากการใช้ประโยชน์มากกว่าการขาย และต้องดูว่าโอกาสต่างๆมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

โอกาสของไทยต่อการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคใน AEC นั้นมักเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค และเป็นศูนย์ต่อการกระจายสินค้าของอาเซียน ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี อย่างยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรเป็นต้น และเป็นศูนย์กลางด้านการบริการของภูมิภาค โดยเฉพาะการท่องเที่ยว,การศึกษาและสุขภาพ รวมไปถึงประเทศไทยยังได้ประโยชน์จากการค้าข้ามชายแดน คาดว่าในปี 2558 จะมีมูลค่ามากกว่า 1.25 ล้านล้านบาท ฉะนั้นโอกาสของไทยต่อการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคต้องให้ IT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ ทั้งการกระจายสินค้า เป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า การบริการ และการลงทุน เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ด้านธุรกิจที่มีโอกาสพัฒนาเป็นอย่างมากคือ ด้านอาหารและเกษตร  เพราะประเทศไทยถือว่าสินค้าที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง และด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่วนด้านการท่องเที่ยวนี้เหมาะอย่างมากที่ ICT จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาธุรกิจ เนื่องจากจะเห็นได้ว่า ตอนนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไปเที่ยวที่ไหนก็ต้องมีการอัพโซเชียลตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นอีกช่องทางที่จะสามารถพัฒนาได้

ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ขณะนี้นับว่าต้องดูสภาพแวดล้อมด้วย เพราะการเอื้ออำนวยความสะดวกในการแบ่งปัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมทางด้าน ICT ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนด้านการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับอุตสาหกรรม ICT ดังนั้นโดยส่วนใหญ่ 90% ต้องการที่จะไปขายต่างประเทศ หากผู้ประกอบการต้องการที่จะทำธุรกิจด้าน IT สิ่งสำคัญต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่หากไม่ประสบผลสำเร็จ ควรพยายามผลักดันด้วยตนเองโดยการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ อย่างผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ IT เข้ามาช่วยเหลือดันธุรกิจให้ได้

ความต้องการของผู้ประกอบการ SME ICT กับการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน

คุณกิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด กล่าวถึงการทำธุรกิจทางด้านซอฟแวร์ว่า ในเริ่มแรกของการทำธุรกิจต้องมีการล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่จำเป็นที่จะต้องจับทางให้ถูก ซึ่งธุรกิจด้านซอฟแวร์นี้ กว่าจะมั่งคงได้ต้องใช้ความอดทน และเวลา รวมไปถึงต้องขายให้ได้ ซึ่งขณะนี้มีรายได้ ประมาณ 20 ล้านบาท แต่อยากให้ได้ถึง 40 ล้านบาทเหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าที่จ้างคนงานเพิ่ม เนื่องจากหลายคนเข้ามาทำงาน เมื่อเราได้สอนการวิธีการทำไป ไม่กี่วันก็ลาออก เพราะเขาเหมือนมาเรียนรู้หาประสบการณ์แล้วก็ไป ฉะนั้นจึงเรียกได้ว่าหาคนยากกว่าเงิน  อีกทั้งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีกลุ่มคนที่เล่นอินเทอร์เน็ต คือกลุ่ม JEN X,Y,C กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญด้าน IT พอสมควร และสิ่งที่เรามองว่าหากกลุ่มคนเหล่านี้มาบวกกับกลุ่ม เบบี้บูม เพื่อพัฒนาซอฟแวร์ คาดว่าน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะเขามีไอเดียและความรู้ที่แตกต่างกัน และสามารถจุดประกายอะไรได้อีกหลายๆอย่าง และที่สำคัญการทำซอฟแวร์ เมื่อต้องการเงินลงทุน อย่างแรกคือพึ่งธนาคาร ดังนั้นต้องทำบัญชีด้วย หากไปร่วมมือกับธนาคารใดเช็คห้ามเด้ง ต้องชำระให้ตรงเวลา ไม่เช่นนั้นอาจเสียเครดิตได้ อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจต้องมีความมุ่งมั่น และอดทน

นายยงยศ พรตปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่คอนเน็คชั่นสำคัญกว่า ประเทศไทยเป็นคนเริ่มต้น AEC แต่ไม่สามารถไปไกลได้ ฉะนั้นโอกาสของประเทศไทยมีอยู่มาก อย่าง Google หลายคนอาจคิดว่า ทำการบริการด้าน Google ได้รายได้จากส่วนไหน แต่ในทางกลับกันผู้คนหันมาเข้าใช้โทรศัพท์มากขึ้น มีความต้องการทางสื่อออนไลน์ ดังนั้นโอกาสมีเยอะสำหรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจด้านซอฟแวร์ หากมีการประชุมที่ไหนเกี่ยวกับ IT ควรเข้าไปร่วมด้วย เพราะอาจเป็นหนทางความรู้ให้ธุรกิจ IT ของตนเองได้

อาจารย์ธัชชัย อินทะสุข หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนร์ทกรุงเทพ กล่าวถึงแผนธุรกิจว่า ในการทำธุรกิจต้องมีการเตรียมการ ประชุมวางแผน กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจหรือเป้าหมาย หลังจากนั้นวางแผนกลยุทธ์แต่ละหน่วยงานและกำหนดยุทธวิธีแล้วดำเนินตามแผนขั้นตอน รวมไปถึงต้องตรวจสอบควบคุม และหาแผนยามเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไว้ด้วย อีกทั้งการเริ่มทำธุรกิจต้องมาวิเคราะห์จุดแข็ง และจุดอ่อนภายในบริษัท เช่น วิเคราะห์ประวัติการดำเนินธุรกิจ ทักษะขององค์กร การบริหารจัดการ การตลาด การควบคุม นวัตกรรมใหม่ การทำงานของบุคลากร และการเงิน ทั้งยังต้องวิเคราะห์โอกาสทางด้านปัจจัยภายนอกด้วยว่า สภาพแวดล้อม การตลาด การแข่งขัน นั้นเป็นอย่างไร หรือปัจจัยภายนอกที่มาจากการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีหรือสังคม เพื่อให้รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเรารู้จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสและข้อจำกัดแล้ว ต่อมาควรวิเคราะห์เพื่อพัฒนาสู่กลยุทธ์ทางธุรกิจ

การกำหนดเป้าหมายของธุรกิจ ต้องดูว่าปัจจุบันธุรกิจเราอยู่ตรงไหน จุดมุ่งหมายใดที่ธุรกิจเราต้องการ และจะทำอย่างไรถึงจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้  อย่างไรก็ตามสินค้าประเภท IT ต้องมี 7P’s คือ1.Product (ผลิตภัณฑ์) 2.Price(ราคา)  3.Place(สถานที่) 4.Promtion(การส่งเสริมการขาย) 5.People(บุคลากร) 6.Physical(สิ่งที่ลูกค้าสัมผัสได้) 7.Process(กระบวนการ) ส่วนทางด้านการผลิตนั้น ต้องมีการป้อนวัตถุดิบที่เหมาะสม ด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ ลดการสูญเสีย และมีความปลอดภัย อีกทั้งลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

กลเม็ดการเขียนแผนธุรกิจให้โดนใจสถาบันการเงิน

อาจารย์จริมจิต เกิดบ้านชัน” ผู้ช่วยคณบดีคณะบริหารธุรกิจ และหัวหน้าสาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยนร์ทกรุงเทพ กล่าวถึงการขอสินเชื่อกับธนาคารว่า การที่ต้องการสินเชื่อของธนาคาร อันดับแรกควรมีแผนธุรกิจที่ดีโดยการลงมือทำแผนธุรกิจด้วยตนเอง สถานการณ์ภายนอกมีความเสี่ยงต่อการลงทุนไหมการบริหารจัดการบุคคลเป็นอย่างไร การตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายต้องระบุให้ชัดเจน อีกทั้งระบบบัญชีต้องมีการบันทึกที่ดี ดังนั้นการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินใช้หลักพื้นฐาน 5C คือ 1.Charactre ลักษณะของผู้กู้ 2.Capacity ความสามารถในการชำระหนี้ 3.Capital สัดส่วนการลงทุนของผู้ที่เป็นเจ้าของ 4.Collateral หลักประกัน 5.Condition เงื่อนไขอื่นๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น