“SME Bank” เดินหน้าปล่อยเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาท


ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) สถาบันการเงินที่มีบทบาทและหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไทยทั่วประเทศ ตลอดระยะที่เปิดดำเนินการได้ทำการปล่อยสินเชื่อที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และไม่ว่า SMEs ไทยจะประสบกับปัญหาทางด้านการเงินที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านใดก็ตาม SME Bank ทั้ง 95 สาขาทั่วประเทศ ก็ยังจะคงบทบาทของการเป็นสถาบันการเงินหลัก ที่ให้บริการและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง

 

แหล่งทุน” ฉบับนี้ เปิดวิสัยทัศน์และนโยบายสินเชื่อกับ คุณปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ กับโครงการ ผนึกกำลัง 21 หน่วยงานรุดช่วยเหลือ SMEs และอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ คุณวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคุณวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ร่วมให้ข้อมูลถึงความร่วมมือกับโครงการซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานคือเจ้าภาพหลัก และโอกาสนี้ SMEs ไทยยังจะได้รับรู้ถึงรายละเอียดและสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อของ SME Bank ในโอกาสต่อไป

 

๏ ผนึก 21 หน่วยงาน ร่วมบูรณาการ SMEs

 

โครงการล่าสุด “ผนึกกำลัง 21 หน่วยงาน รุดช่วยเหลือ SMEs” โดย SME Bank ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่ เชื่อมหน่วยงานพันธมิตรสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ บสย. บูรณาการความร่วมมือด้านเงินทุนการบริหารจัดการข้อมูล การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ และการช่วยเหลือด้านการตลาดและสังคมเพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ไปในทิศทางเดียวกัน

 

โดยทั้ง 21 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 3. กรมโรงงานอุตสาหกรรม 4. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 5. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 6. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 7. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 8. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 9. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 10. สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 11. สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย 12. สถาบันยานยนต์ 13. สถาบันพลาสติก 14.สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 15. สถาบันไทย-เยอรมัน 16. สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ17. สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 18. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 19. สถาบันอาหาร 20. สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดย มี 21. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

 

๏ “SME Bank” กับบทบาทหลักเรื่องปล่อยสินเชื่อ

 

คุณปาริฉัตร กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำในลักษณะที่ให้หน่วยงานที่ร่วมโครงการ มีส่วนร่วมในการให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และได้เพิ่มการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดอย่างยั่งยืนของกิจการ หน่วยงานต่างๆ จะทำหน้าที่คัดสรรหาผู้ประกอบการ SMEsที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบอยู่ ซึ่งควรเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และต้องการแหล่งเงินทุน ให้ส่งต่อมายัง SME Bankเพื่อจะได้รับสินเชื่อ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเป็นรูปธรรม และเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการนี้ 8 พันล้านบาท

 

 

 

 

๏ นโยบายช่วย SMEs จากวิกฤตการเมือง

 

ลูกค้า SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเมือง เป็นอีกกลุ่มที่ SMEs ต้องเร่งรุดให้ความช่วยเหลือ โดย SMEs ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินจากวิกฤตดังกล่าว สามารถติดต่อเข้ามาที่ธนาคารได้ โดยSME Bank กำหนดพักการชำระเงินต้น ให้เหลือเพียงการชำระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน คาดว่าจะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2557 ในอันดับแรกกำหนดเป็นกลุ่ม SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท 

 

เดิมที SME Bank ได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้ ไว้ที่จำนวน 27,000 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น ส่งผลให้ยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารในไตรมาสแรก มียอดการปล่อยสินเชื่อเพียง 2,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าไปมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการชะลอการซื้อ ดังนั้นจึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่ทาง SME Bank อาจจะต้องลดเป้าการปล่อยสินเชื่อลง เพื่อให้สอดคล้องตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เหลือ 20,000 ล้านบาท

 

๏ สินเชื่อรายย่อย “Small SMEs”

 

สำหรับสินเชื่อรายย่อย “Small SMEs” กำหนดวงเงินสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการสามารถกู้ไปเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ หรือเพื่อขยายลงทุน เสริมสภาพคล่องธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ หรือสถานประกอบการให้เติบโตต่อไป และเพื่อให้เป้าหมายธุรกิจ โดยสินเชื่อมีจุดเด่นคือ กู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาท ผ่อนชำระนาน 7 ปี แถมปลอดเงินต้น 1 ปี ช่วยให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องแบกภาระต้นทุนสูงในช่วงเริ่มต้น และยังอำนวยความสะดวกให้ผู้กู้ที่ไม่มีผู้ค้ำประกัน เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล สามารถกู้โดยให้ บสย.ช่วยค้ำประกันได้  ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เปิดให้ยื่นกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2557
 

๏ สินเชื่อ “Smile Factoring”

 

ส่วน สินเชื่อ “Smile Factoring” กำหนดวงเงินสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการSMEs เสริมสภาพคล่องธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวโดยสินเชื่อ Smile Factoring จะรับซื้อลูกหนี้การค้าที่รับโอนสิทธิ์จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน ที่แปรรูปจากระบบราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

สัดส่วนการรับซื้อสินเชื่อหลังส่งมอบงาน หรือหลังส่งมอบสินค้าสูงสุดไม่เกิน 80% ของมูลหนี้ที่โอนสิทธิ์ ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับไม่เกิน 180 วัน ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ MFR+1% ต่อปี และลูกค้าเดิมธนาคารให้กรณีพิเศษคิดค่าวิเคราะห์โครงการเพียง 50% ของค่าธรรมเนียมปกติ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อใช้บริการสินเชื่อ Smile Factoring ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557

 

๏ ทุนหมุนเวียนเพื่อการประกอบอาชีพ

 

คุณวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านเงินทุนนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีบริการให้กู้ยืมเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนใน อัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ผ่าน “โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการประกอบอาชีพ” ด้วยงบประมาณรวมกว่า 40 ล้านบาท ตั้งเป้าเสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 300 ราย

 

 

ทั้งนี้ แบ่งวงเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยออกเป็น 4ระดับ คือ 1. วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท 2. เกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 3. เกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท และ 4.เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี ปัจจุบันสามารสนับสนุนสินเชื่อแก่ SMEs และวิสาหกิจชุมชนแล้วกว่า 23,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 1,600 ล้านบาท และจากการเก็บข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2545-2556 โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดการจ้างแรงงานใหม่แล้วกว่า 35,000 คน

 

แนวทางการสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้นนั้น ได้มอบนโยบายว่า นอกจากจะคำนึงเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว ควรพิจารณาแนวทางอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญหา ความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการ การบริหารจัดการที่ดี ตลอดจนด้านเป็นธุรกิจเพื่อสังคม และธุรกิจสีเขียว เป็นต้น”

 

๏ บสย. รั้งท้ายโครงการด้านค้ำประกันสินเชื่อ   

 

บสย.จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประกอบการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านการเงิน การบริหารจัดการ ข้อมูลด้านวิชาการ การพัฒนาผู้ประกอบการ และด้านการตลาดและสังคม โดยอยู่ภายใต้นโยบาย และยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรมต่อไป

 

คุณวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า การค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ภายใต้ยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทของกระทรวงอุตสาหกรรม บสย. มียอดค้ำประกัน SMEs กับโครงการ PGS 5 คงเหลือ 170,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาช่วยค้ำประกันให้ในโครงการนี้ 8,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อประมาณ 40 ล้านบาท คาดว่าจะค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ได้ประมาณ 5 ล้านบาทต่อราย เบื้องต้นหน่วยงานภาครัฐจะหารือร่วมกันในการนำโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากยอดค้างชำระ 90 วัน มาช่วยเหลือโครงการดังกล่าว โดยจะใช้แนวทางลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันเหลือร้อยละ 1.5

 

จากความร่วมมือในการลงนาม 21 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการครั้งสำคัญของหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ SMEs โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ เพื่อช่วยให้ SMEs เดินหน้าฝ่าวิกฤติและสามารถเติบโตได้แบบยั่งยืน เป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือด้านการเงิน และมิติของการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการให้สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดของกิจการ