คาดเฟดปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ต่อเนื่อง หลังจากทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความชัดเจนขึ้น


เฟดน่าจะปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือนมาที่ระดับ 35 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ในการประชุมวันที่ 17-18 มิถุนายน 2557 แม้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/2557 จะหดตัวลง จากปัจจัยด้านสภาพอากาศ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในช่วงต่อไปน่าจะขยายตัวได้มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) น่าจะมีมติให้ปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 45 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน เหลือ 35 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน หลังเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงบ่งชี้ถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจที่น่าจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1/2557 เป็นผลจากสภาพอากาศที่เลวร้าย รวมถึงปัจจัยทางเทคนิคจากการปรับตัวลดลงของสินค้าคงคลัง ในขณะที่มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะกลับเข้าสู่ระดับการขยายตัวตามศักยภาพมากขึ้น อันส่งผลให้เฟดน่าจะทยอยปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง และสิ้นสุดการซื้อสินทรัพย์ในช่วงปลายปี 2557 นี้

           เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่หดตัวลงในไตรมาส 1/2557 จากสภาพอากาศที่เลวร้าย ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเครื่องชี้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น ผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่สำรวจโดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ที่ให้ภาพการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมการผลิต ขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ก็ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 79%ใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติ อันบ่งชี้ว่าการลงทุนของภาคการผลิตน่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

             เครื่องชี้ภาคการจ้างงานบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งนี้ หากพิจารณาพัฒนาการของตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากช่วงที่เฟดมีการประชุมในเดือน เมษายน 2557 จะพบว่าภาพของการฟื้นตัวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยการจ้างงานนอกภาคการเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000ตำแหน่งต่อเดือน ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยมีค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งการจ้างงาน 197,000 ตำแหน่ง/เดือน ขณะที่การฟื้นตัวของตำแหน่งงานนับตั้งแต่ช่วงต่ำสุดในเดือน ก.พ. 53 มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 8.8 ล้านตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าจำนวนคนตกงานในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจำนวน 8.7 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานก็ทรงตัวอยู่ในระดับ 6.3% เทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่อัตราการว่างงานสูงถึง 10%

             เงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น โดยพัฒนาการของเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 2%YoY อันเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาอาหาร รวมทั้ง การปรับขึ้นของค่าเช่าที่อยู่อาศัย อันสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น 

ทั้งนี้ ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2557 หดตัวจากผลของสภาวะอากาศที่เลวร้าย รวมทั้ง การปรับตัวลดลงของสินค้าคงคลัง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) น่าจะมีมติให้ปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 45 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน เหลือ 35 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ในการประชุมวันที่ 17-18 มิถุนายน 2557 นี้

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ยังคงต้องติดตามในระยะข้างหน้า เพื่อประเมินจังหวะในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต และอาจเป็นปัจจัยที่กระทบต่อความผันผวนของกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนโลก คงได้แก่

•             การเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจของเฟดในรอบการประชุมครั้งนี้ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการครั้งก่อน (เดือน มีนาคม 2557) มากน้อยเพียงใด หลังจากที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/2557 หดตัวลง ซึ่งรวมถึงมุมมองของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และการคาดการณ์ทิศทางเงินเฟ้อของเฟดในอนาคต

•             ข้อมูลขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่เหลือของปีว่าจะสามารถรักษาระดับการขยายตัวในระดับสูงกว่าระดับศักยภาพได้หรือไม่  รวมถึง ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดอาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อีกระยะหนึ่ง หลังสิ้นสุดการซื้อสินทรัพย์ลง โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างเร็วในครึ่งแรกของปี 2558 หากพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้สามารถขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพ หรือการเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินระดับ 2.5% อย่างไรก็ตาม เฟดอาจจะตัดสินใจชะลอการการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป ในกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้

นอกจากท่าทีของเฟดต่อการส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายการเงินในภายภาคหน้า ประเด็นการดูแลขนาดของงบดุลของเฟดที่มีขนาดใหญ่กว่า 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  คงเป็นอีกประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดน่าจะยังคงขนาดสินทรัพย์งบดุลต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งได้ แม้ว่าเฟดจะเริ่มทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งนี้ การประชุมเฟดในรอบเดือน เมษายน 2557 ได้มีการระบุถึงการเตรียมพร้อมของเฟดในการใช้เครื่องมือทางการเงินในการดูแลการส่งผ่านมาตรการทางการเงิน หลังจากที่เฟดสิ้นสุดการซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบของการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ต่อตลาดการเงินไทยยังคงอยู่ในขอบเขตที่จำกัดเนื่องจากเป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล้ว ในขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ (External Balance) ของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับสูง และมีหนี้ต่างประเทศในระดับค่อนข้างต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็กลับมาเกินดุลอีกครั้ง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ปรับตัวดีขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งคงจะต้องจับตาพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดีเพียงใด รวมไปถึง การส่งสัญญาณถึงจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ที่อาจจะส่งผลให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนรอบใหม่ในอนาคต

กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดน่าจะยังคงดำเนินการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณลงอีก 10 พันล้านดอลลาร์ฯ ในการประชุมครั้งที่ 4 ของปี 2557 ในวันที่ 17-18 มิถุนายน 2557 นี้ ท่ามกลางเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการของภาคการผลิต การจ้างงาน รวมทั้ง อัตราเงินเฟ้อ หลังจากที่แรงกดดันด้านสภาพอากาศและการปรับลดสินคงคลัง ซึ่งกดดันให้เศรษฐกิจหดตัวในไตรมาส 1/2557 เริ่มคลายตัวลง สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น คาดว่าการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดไม่น่าจะส่งผลต่อประเด็นเชิงเสถียรภาพโดยรวมของไทยมากนัก ในขณะที่ต้องจับตาพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า รวมไปถึง การส่งสัญญาณถึงจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ที่อาจเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อกระแสการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในอนาคต รวมถึงอาจทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดการเงินไทยในระยะสั้นบ้างก็ตาม