นักออกแบบผลิตภัณฑ์มือทองผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการ


คุณสมชนะ กังวาลจิต หรือคุณแชมป์ เจ้าของรางวัลออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์กว่า 15 รายการ เป็นตัวอย่างของ SMEs ที่เริ่มต้นจากทักษะความชอบในงานที่ตนเรียน จนสามารถเปิดกิจการเป็นของตนเองภายใต้ชื่อ PROMPT DESIGN

 

เริ่มมีแววตั้งแต่เรียน

                คุณสมชนะ กังวาลจิต เจ้าของและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท PROMPT DESIGN จำกัด กล่าวว่า สายที่เขาเรียนคือ ศิลปะอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นวิชาที่เรียนมาทางด้านการออกแบบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ พอเรียนขึ้นปีที่ 2 ก็ไปแข่งขันการออกแบบแล้วได้รางวัลมา ต่อมาก็ได้ทุกปี ตอนจบใหม่ๆ เขาได้รางวัลรวมกันแล้วกว่า 15 รางวัล

                “ผมได้รับรางวัลมามากจนรู้สึกเฉยๆ  มันเป็นความภูมิใจ แต่ทางบ้านของผมรู้สึกดีใจกับรางวัลที่ผมได้มากกว่า” คุณสมชนะหรือคุณแชมป์กล่าว

                และจากรางวัลที่ได้รับนี่เองเป็นสิ่งการันตีสร้างความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้เขาได้รับงานเล็กๆ น้อยๆ ทำตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา ทั้งๆ ที่หลักสูตรของเขาต้องเรียนถึง 5 ปี

 

จบแล้วเป็นมือปืนรับจ้าง

                ด้วยรางวัลที่การันตีเขาอยู่ ส่งผลให้หางานได้ไม่ยาก หลังจากจบออกมาก็ไปสมัครเป็นมืออาชีพด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ และด้วยประสบการณ์จากการไปแข่งขันประกวดรางวัลในต่างประเทศ  นอกเหนือจากงานประจำแล้ว  เขายังมีงานเสริมทำซึ่งเป็นงานที่ได้จากบุคคลที่รู้จักฝีมือเขาตั้งแต่สมัยเรียน และจากสิ่งสั่งสมเหล่านี้เองเป็นบันไดสำคัญส่งเขาให้สามารถมีกิจการของตนเองในเวลาต่อมา คุณแชมป์ใช้เวลา 3 ปีในการหาประสบการณ์จากภายนอก จึงตัดสินใจตั้งกิจการของตนเองภายใต้ชื่อ  “PROMPT DESIGN”

                คุณสมชนะบอกว่า “ ตอนนั้นใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน  มันเริ่มมาจากที่กรอบความคิดของที่ทำงานเดิมกับความเป็นตัวตนของเรามันไม่ตรงกัน  ไม่ใช่ว่าใครดีหรือไม่ดี แต่ความคิดเราอาจไม่ตรงกัน  เราอยากที่จะเสนอความเป็นตัวเอง  มากกว่าที่จะยึดติดอยู่ในออฟฟิศ  ก็เลยตัดสินใจลาออกมา”

 

เป็นเถ้าแก่เองมันไม่ง่าย

            คุณสมชนะเล่าว่าการจัดตั้งธุรกิจเป็นเรื่องง่าย แต่การบริหารต่อไปให้ยั่งยืนเป็นเรื่องยาก พอมาทำธุรกิจเต็มตัว เขาต้องนำงานเสริมมาเป็นรายได้ประจำ ต้องออกไปพบลูกค้าและกลับมาทำงานตามที่ได้รับคำสั่งมา นับเป็นภาระหนักจึงต้องจ้างพนักงาน แต่การจ้างพนักงานก็นำมาซึ่งภาระและปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่ง การบริหารงานบุคคลถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดทักษะและเป็นจุดอ่อนของเขา

“การบริหารคนถือเป็นอุปสรรค์มากที่สุดในการทำงาน     เพราะยังมองไม่ค่อยทะลุ  พอบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็มีปัญหาเรื่องคน  เราเคยคิดจะจ้างบริษัทมาดูแลเรื่องคน  เหมือนกับที่บริษัทใหญ่ๆ จะจ้างบริษัทอื่นมาดูแลในส่วนนี้ ซึ่งก็คือการผลักภาระหน้าที่ตรงส่วนนั้นให้กับอีกบริษัทไปเลย  เราเคยคิดแต่ก็ทำไม่ได้  งานนี้มันไม่ใช่งานที่จะใช้แค่แรงงาน   มันเป็นแรงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์   เพราะฉะนั้นแรงงานจะทำหน้าที่ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ผมต้องการแน่นอน  ผมจึงต้องลงมาแก้ไขปัญหาเองตลอด  แต่มันก็ดีตรงที่เราได้เรียนรู้  ส่วนข้อเสียของมันก็คือเราเสียเวลาแน่ๆ   5 ปี ผมว่าการเรียนรู้เรื่องคนยังน้อยไปด้วยซ้ำ  ยังต้องการเรียนรู้เรื่องนี้อีกซักพักใหญ่ๆ  หาวิธีหรือระบบการจัดการที่น่าจะถูกต้อง  เรื่องคนถือเป็นเรื่องที่ปวดหัวที่สุดแล้วสำหรับผม” คุณสมชนะกล่าว

 

ความหมายของบรรจุภัณฑ์

                ด้วยความเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์มาตลอดชีวิตการทำงาน ทำให้คุณสมชนะได้นิยามงานของตนเองได้อย่างน่าสนใจ เขากล่าวว่า “การออกแบบ พูดง่ายๆก็คือ วัจนภาษา  ซึ่งก็คือภาษาพูด เป็นงานที่เราต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราพุดให้ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วมันพูดไม่ได้ นี่คือหน้าที่ของนักออกแบบ  แล้วภาษาที่สื่อออกไปต้องเข้ากับกลุ่มเป้าหมายของเราด้วย เพราะมันเป็นการสื่อสารผ่านบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นทางภาพหรือทางอักษร”

                เขาเล่าว่าบรรจุภัณฑ์แตกต่างจากสื่อโฆษณาหรือโบร์ชัวร์ เพราะบรรจุภัณฑ์เวลาออกแบบแล้วมันจะมีอายุที่ยืนยาวกว่า เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าและผลิตภัณฑ์ และมีความเป็นเอกลักษณ์ และต้องแข่งขันกับคู่แข่งในท้องตลาดอยู่ตลอดเวลา ในขณะนี้สื่อโฆษณาหรือโบร์ชัวร์ ทำขึ้นมาเพื่อให้ข่าวสารเป็นครั้งคราว ศิลปะในการออกแบบงานทั้งสองอย่างจึงแตกต่างกัน

                ปัจจุบันนี้  “PROMPT DESIGN” ดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างชาติที่ต้องการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของเขาให้สอดคล้องระเบียบปฏิบัติของคนไทย ซึ่งการปรับเปลี่ยนลักษณะนี้ต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์เดิมของสินค้าเป็นส่วนหลัก  ส่วนลูกค้ารองลงมาเป็นสินค้าไทยที่ต้องการสร้างบรรจุภัณฑ์ ที่นอกเหนือจากการหีบห่อสินค้าที่ดีแล้ว ยังต้องการการถ่ายทอดเอกลักษณ์ของสินค้าไปในคราวเดียวกัน