สถานการณ์การส่งออกหลังปรับลดภาษีของประเทศในกลุ่มอาเซียน สิงคโปร์เป็นผู้นำส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดรองลงมาเป็นอินโดนีเซีย ส่วนไทยยังอยู่ในระดับแนวหน้าของการขยายตัว
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแข่งขันด้านสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดอาเซียนหลังอาเซียนปรับลดภาษี สิงคโปร์ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนมากที่สุด แต่อินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์และไทย ตามลำดับ และในปี 2556 (ม.ค.-ก.ย.) สิงคโปร์ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสินค้าอุตสาหกรรมมากที่สุดในอาเซียน แต่ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีอัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556และเมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศในอาเซียน เป็นดังนี้
ก่อนอาเซียนลดภาษี (ปี 2550-2552) หลังอาเซียนลดภาษี (ปี 2553-2555)
1. สินค้าอุตสาหกรรมของไทยในตลาดอาเซียน ก่อนอาเซียนลดภาษี (ปี 2550-2552) ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 90.33 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไปอาเซียนทั้งหมด และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้ลดลงเหลือร้อยละ 89.85 ในช่วงหลังอาเซียนลดภาษี (ปี 2553-2555) และเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าจะพบว่า ก่อนและหลังอาเซียนลดภาษี ไทยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องจักร/อุปกรณ์สำนักงานในตลาดอาเซียนมากที่สุด แต่สินค้าที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากที่สุดหลังอาเซียนลดภาษี คือ ปิโตรเลียม ส่วนในปี 2556 (มกราคม-กันยายน) สัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 89.20
2. สินค้าอุตสาหกรรมของมาเลเซียในตลาดอาเซียน ก่อนอาเซียนลดภาษี (ปี 2550-2552) มาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 93.49 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไปอาเซียนทั้งหมด และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้ลดลงเหลือร้อยละ 91.62 ในช่วงหลังอาเซียนลดภาษี (ปี 2553-2555) และเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าจะพบว่า ก่อนและหลังอาเซียนลดภาษี มาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกเครื่องจักร/อุปกรณ์สำนักงานมากที่สุด แต่สินค้าที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากที่สุดหลังอาเซียนลดภาษี คือ สิ่งทอ สำหรับ ในปี 2556 (มกราคม-กันยายน) มาเลเซียมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 92.80 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 91.68
3. สินค้าอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียในตลาดอาเซียน ก่อนอาเซียนลดภาษี (ปี 2550-2552) อินโดนีเซียมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 86.45 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไปอาเซียนทั้งหมด และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้ลดลงเหลือร้อยละ 84.69 ในช่วงหลังอาเซียนลดภาษี (ปี 2553-2555)และเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าจะพบว่า ก่อนและหลังอาเซียนลดภาษี อินโดนีเซียมีมูลค่าการส่งออกปิโตรเลียมมากที่สุด และเป็นสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากที่สุดหลังอาเซียนลดภาษี ส่วนในปี 2556 อินโดนีเซียมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 88.46 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 84.45
4. สินค้าอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ในตลาดอาเซียน ก่อนอาเซียนลดภาษี (ปี 2550-2552) ฟิลิปปินส์มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 94.10 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไปอาเซียนทั้งหมด และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 94.34 ในช่วงหลังอาเซียนลดภาษี (ปี 2553-2555) เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าจะพบว่า ก่อนและหลังอาเซียนลดภาษี ฟิลิปปินส์มีมูลค่าการส่งออกเครื่องจักร/เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้ามากที่สุด (ไม่รวมอุตสาหกรรมอื่นๆ) แต่สินค้าที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากที่สุดหลังอาเซียนลดภาษี คือ อุปกรณ์การขนส่ง ส่วนในปี 2556 ฟิลิปปินส์มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 91.20 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 94.62
5. สินค้าอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ในตลาดอาเซียน ก่อนอาเซียนลดภาษี (ปี 2550-2552) สิงคโปร์มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 98.00 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไปอาเซียนทั้งหมด และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้ลดลงเป็นร้อยละ 97.49 ในช่วงหลังอาเซียนลดภาษี (ปี 2553-2555) และเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าจะพบว่า ก่อนอาเซียนลดภาษี สิงคโปร์มีมูลค่าการส่งออกเครื่องจักร/เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้ามากที่สุด ส่วนหลังอาเซียนลดภาษีสิงคโปร์มีมูลค่าการส่งออกปิโตรเลียมมากที่สุด และเป็นสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากที่สุดหลังอาเซียนลดภาษี สำหรับในปี 2556 (มกราคม-กันยายน) สิงคโปร์มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 97.18 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 97.41 ซึ่งในช่วงมกราคม-กันยายนของปี 2555 และปี 2556 สิงคโปร์มีมูลค่าการส่งออกปิโตรเลียมมากที่สุด แต่สินค้าที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากที่สุดในช่วงมกราคม-กันยายน ปี 2556 คือ เคมีภัณฑ์
ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับผลการวิเคราะห์ Constant Market Share หรือ CMS ของประเทศอาเซียนเป็นรายสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดอาเซียนนั้น พบว่า ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนที่มีความได้เปรียบในภาพรวมที่ลดลงหลังอาเซียนปรับลดภาษี เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันลดลง และมีความเสียเปรียบด้านโครงสร้างสินค้า (ภาพที่ 2) ส่วนในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2556 ไทยมีความได้เปรียบในภาพรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากมีความสามารถในการส่งออกเพิ่มขึ้นในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ส่วนประเทศอินโดนีเซียหลังอาเซียนปรับลดภาษี สินค้าอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียมีศักยภาพที่ลดลง กล่าวคือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียในอาเซียนยังคงมีความได้เปรียบในภาพรวมแต่มีความได้เปรียบลดลง เนื่องจากมีความเสียเปรียบด้านการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน มกราคม-กันยายน 2556 อินโดนีเซียได้เปรียบในภาพรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้นในมาเลเซียและสิงคโปร์ และสำหรับประเทศฟิลิปปินส์ หลังอาเซียนปรับลดภาษี สินค้าอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์มีศักยภาพที่ดีขึ้น กล่าวคือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ในอาเซียนมีความได้เปรียบในภาพรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 4) แต่ในช่วงเดือน มกราคม-กันยายน 2556 ฟิลิปปินส์ เสียเปรียบในภาพรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากส่งออกสินค้าได้น้อยลงในไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หลังอาเซียนปรับลดภาษี ประเทศอินโดนีเซียและไทย เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากที่สุด