เครื่องสำอางใหม่ ครบวงจรสวย รวยด้วยแบรนด์ตัวเอง


ธุรกิจเครื่องสำอางและความงามเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตและขยายอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้ในปัจจุบันจะอยู่ในยุคเศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดเคืองก็ตาม แต่การบริโภคเครื่องสำอางในปัจจุบันคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะคนในยุคปัจจุบันทั้งเพศชาย เพศหญิง และทุกๆ ช่วงวัย ต่างให้ความสนใจใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพ ความงาม และผิวพรรณ รวมทั้งการดูแลตัวเองมากขึ้น มีความต้องการอยากให้ตัวเองดูดีขึ้น ดังนั้น ธุรกิจด้านความงาม คลินิกดูแลรักษาผิวพรรณ เครื่องสำอางแบรนด์ชั้นนำต่างๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย เพื่อเพิ่มการรองรับกับความต้องการที่สูงขึ้นทุกปี

 

ทึ่ง! มูลค่าตลาดความงาม 4 แสนล้านบาท

คุณเกศมณี เลิศกิจจา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เคยให้ข้อมูลกับ “นิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย” ว่า ตลาดอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทยกลุ่ม สกินแคร์ มีมูลค่าสูงถึง 400,000 ล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเพื่อผิวขาวถึง 48% ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแบบทั่วไป 43% และผลิตภัณฑ์บำรุงแบบให้คุณประโยชน์เฉพาะ 9% แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตลาดบน 20% ตลาดกลาง 26% และ 54% อยู่ในกลุ่มตลาดล่าง

 

ถือว่า “สกินแคร์” เป็นตลาดที่ใหญ่มาก และขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งกลุ่มสินค้าก็มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มคอสเมติกส์ กลุ่มอาหารเสริม กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลรูปร่าง กลุ่มคลินิกความงาม และกลุ่มสปา ซึ่งมีการแข่งขันทางการตลาดสูง ธุรกิจในแต่ละกลุ่มล้วนคิดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาตีตลาดอยู่ไม่ขาดสายทำให้มูลค่าตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

สมรภูมิสกินแคร์ ตลาดบน – กลาง – ล่าง

ด้วยมูลค่าตลาดความงามนับแสนล้านบาท ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสกินแคร์ อาทิ ครีมบำรุงผิวหน้า ผิวกาย ครีมกันแดด ครีมลดเลือนริ้วรอยแห่งวัย รวมไปถึงเวชสำอางรักษาสิว ฝ้า ในเซ็กเม้นต์ต่างๆ นั้น ตั้งแต่ตลาดบนไปจนถึงตลาดล่าง ล้วนแข่งขันกันอย่างดุเดือด ด้วยการออกผลิตภัณ์ใหม่ๆ เข้ามาตีตลาดกันอย่างคึกคัก

 

ในส่วนตลาดบน ครีมเคาน์เตอร์แบรนด์ต่างๆ จะออกใหม่ในเทรนด์ที่คล้ายกัน เน้นหนักในเรื่องของสารสกัดจากธรรมชาติ 100% รวมถึงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ที่มีเป็นที่นิยมอยู่ขณะนี้ ซึ่งลอนซ์ออกมาสู่ตลาดให้เห็นกันตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ แต่ไม่เน้นเรื่องราคาขาย ส่วนใหญ่จะมีราคาสูงมาก เพราะผู้ซื้อในกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง จึงแข่งขันกันในเรื่องรายละเอียดและคุณภาพของส่วนผสมมากกว่า ซึ่งผู้บริโภคมีน้อย แต่มีมูลค่าตลาดสูง

 

ด้านผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันกันในตลาดกลาง เทรนด์ของสินค้าจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงาน หรือกลุ่มที่เรียกว่า First Jobber ที่มีอายุระหว่าง 25-30 ปี มีกำลังซื้อที่ดีอยู่ในระดับกลาง สินค้าที่ออกมาแข่งขันกันต่างตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้
ทั้งด้านราคาที่สมเหตุสมผลกับคุณภาพ ผู้ผลิตอาจจะลดส่วนผสมบางอย่างที่มีราคาสูง และทดแทนสารสกัดที่ผลิตในประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่า แต่คุณภาพก็ยังอยู่ในระดับกลาง ปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มนี้ มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น

 

ส่วนตลาดล่าง ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด กินพื้นที่เค้กก้อนใหญ่ถึง 54% ของมูลค่าตลาดรวม 4 แสนล้านบาท แม้ว่าคุณภาพและราคาจะอยู่ในระดับล่างก็ตาม แต่สินค้ากลุ่มนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการมาก ถือเป็นฐานการบริโภคส่วนใหญ่ของประเทศไทย การแข่งขันทางการตลาด จึงเป็นการเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีรูป รส กลิ่น สี ที่หลากหลายเข้ามาทำการตลาดแทน และพบว่าส่วนใหญ่มีฐานการผลิตในประเทศ จึงทำให้มีราคาถูก

 

เทรนด์ของสารสกัดที่นิยมมาผลิตเป็นเครื่องสำอางประทินผิวในปี  2557 นี้  หลายท่านอาจเคยได้ยินจนชินหู เช่น สารสกัดจากหอยทาก คอลลาเจน กลูต้าไธโอน สเต็มเซลล์ โกรท แฟคเตอร์ นมผึ้ง และพิษผึ้ง ซึ่งเป็นส่วนผสมที่โรงงานรับผลิตชั้นนำต่างๆคุ้นเคย และรู้จักเป็นอย่างดี สารเหล่านี้เป็นสารสกัดใหม่ที่เข้ามารุกตลาด การเลือกโรงงานรับผลิตที่ดีก็ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องของสารสกัด และทันกระแสนิยมอยู่เสมอ

 

อย่างไรก็ตามธุรกิจความงามล้วนพยายามสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ให้เป็นที่นิยมของตลาด ท้ายที่สุดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จด้วยกำไรล้นหลาม กลยุทธ์หนึ่งที่หนีไม่พ้นคือเรื่องของการลดต้นทุนทางการผลิต หากมีโรงงานรับผลิตที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการสร้างโรงงาน บริการการออกแบบโลโก้ การจัดหาบรรจุภัณฑ์ต่างๆ โรงงานรับผลิตที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพดี ถือเป็นตัวเลือกในการลดต้นทุนที่น่าสนใจ

 

“ผลกำไร” ดึงดูดใจ จ้างผลิตติดแบรนด์ตัวเอง

การทำเงินกับธุรกิจเครื่องสำอาง ถ้าไม่อยากลงทุนมาก ก็อาจจะเฟ้นหาแบรนด์สินค้าคุณภาพ และขอเป็นตัวแทนจำหน่ายแบบกองทัพมด ขายไปจนกระทั่งมีความคิดหรือมีฐานลูกค้าแล้ว จึงค่อยๆ เริ่มทำแบรนด์ตัวเองแล้วมาจ้างโรงงานผลิต แต่การที่จะเดินเข้ามาจ้างผลิตเป็นยี่ห้อตัวเอง มันจะมีการลงทุนที่มากขึ้น ทั้งเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ฉลาก โลโก้ ค่าการตลาด และสร้างแบรนด์

 

ผลกำไรที่ได้ขึ้นกับ “ขนาดของธุรกิจ”เครื่องสำอางเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำไรดี ความสำเร็จขึ้นกับว่าคุณไปจ้างใครผลิต บางคนจ้าง
ในตัวเลขสูง บางคนจ้างในตัวเลขที่ต่ำ สมมติ ถ้าคุณมีแบรนด์ตัวเอง คุณต้องซื้อบรรจุภัณฑ์และทำสินค้าเป็นสต็อก แล้วค่อยๆ จำหน่าย คือคุณจะทำ 10 ชิ้นแล้วจำหน่าย มันไม่สามารถทำได้ อย่างต่ำคุณต้องทำออกมา 100 ชิ้น ถ้าโรงงานนั้นรับทำและต้องการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย 

 

เหตุผลที่ส่วนใหญ่โรงงานต้องการให้สั่งจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องของความหยิ่งหรือไม่แคร์ลูกค้า แต่การผลิตครีมบางตัวอยู่ที่เครื่องจักรด้วย เพราะเครื่องจักรบางตัวจะระบุไว้ว่าต้องทำงานที่น้ำหนักกี่กิโลกรัม ใบพัด ใบกวนครีมจะต้องกวนที่ปริมาณเท่านี้เครื่องถึงจะทำงานได้ เช่น ถ้าคุณต้องผลิตครีมที่มีความหนืดมากๆ เครื่องเล็กๆ ก็ไม่มีแรงตีพอต้องใช้เครื่องใหญ่ ปริมาณก็ต้องสูง และทุกครั้งหลังการผลิตจะต้องมีการล้างและฆ่าเชื้อเครื่องซึ่งตรงนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง

เลือกแหล่งผลิตอย่างไร ไม่ให้ผิดหวัง

 

วิธีเลือกโรงงานต้องดูเป็นรายบุคคลว่าใครเป็นผู้ผลิต แต่โรงงานรับผลิตในไทยมีมากมาย ง่ายที่สุดในเบื้องต้นให้ดูที่มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์องค์การอาหารและยากำหนดไว้ในการผลิตเครื่องสำอาง เพื่อ
ให้ผู้ประกอบการหรือโรงงานรับผลิต นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพของเครื่องสำอาง ซึ่งจะแบ่งมาตรฐานเป็น 2 ระดับคือ

 

1. โรงงานผลิตเครื่องสำอางขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ที่มีความพร้อมทางด้านเงินทุน เทคโนโลยี และบุคลากร อย.จะสนับสนุนให้มีการยกระดับมาตรฐานการผลิตเครื่องสำอาง ตามเกณฑ์ GMP ที่จะช่วยให้ทุกขั้นตอนของการผลิตเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยเริ่มตั้งแต่ความเหมาะสมของอาคารสถานที่ผลิต อุปกรณ์การผลิต การคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ กรรมวิธีที่ดีในการผลิต บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีทักษะในการดำเนินการ รวมทั้งระบบเอกสารที่ครบถ้วน เพื่อจะได้ผลิตเครื่องสำอางที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

 

2. โรงงานผลิตเครื่องสำอางขนาดเล็ก และอุตสาหกรรมในครัวเรือน มักมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุน เทคโนโลยี และบุคลากร ยากที่พัฒนาการผลิตให้ถึงระดับตามเกณฑ์ GMP ได้ แต่หากไม่ปรับปรุง พัฒนาขั้นตอนการผลิต ผู้บริโภคจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพ ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะการปนเปื้อนของโลหะหนัก และจุลินทรีย์ ดังนั้นจึงมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง เรียกว่า หลักเกณฑ์ว่าด้วยสุขลักษณะที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง (Good Hygienic Practice) หรือเรียกย่อๆว่า GHP ซึ่งจะมีความเข้มงวดน้อยกว่า GMP โดยจะเน้นในเรื่องของความสะอาด และสุขลักษณะที่ดีในการผลิตเครื่องสำอางเป็นสำคัญ

 

ส่วนใหญ่ที่เจอปัญหากันคือเรื่องของมาตรฐานและการผลิต ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของ อย.(www.fda.moph.go.th) จะมีรายชื่อโรงงานที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ GMP หรือขอเข้าไปดูโรงงานผลิตก่อนจะดีมาก อีกปัญหาที่พบบ่อยคือเรื่องความซื่อสัตย์ในการรักษาความลับทางการค้าให้กับลูกค้า ต้องไม่เอาสูตรของลูกค้าไปผลิตขาย หรือ เอาสูตรไปให้ลูกค้ารายอื่นดู ซึ่งเรื่องต้องอยู่ที่การพูดคุยตกลงกัน และขอให้เลือกใช้บริการกับบริษัทที่มีโรงงานผลิตของตัวอย่าง อย่างแรกคือจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่า และเวลาการเกิดปัญหาก็สามารถสืบย้อนกลับล็อตของสินค้าที่มีปัญหาได้