การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS Summit ครั้งที่ 6 ในวันที่ 15-16 กรกฎาคม ที่ประเทศบราซิล เป็นอีกงานสำคัญที่จัดขึ้นต่อเนื่องจากมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งที่ 20 ที่เพิ่งจบลง ก่อนจะนับถอยหลังเข้าสู่การแข่งขันครั้งถัดไปในปี 4 ปีข้างหน้า ที่ประเทศรัสเซียอันเป็นหนึ่งในประเทศเกิดใหม่ที่นับวันจะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเช่นกัน
การประชุมกลุ่ม BRICS ในครั้งนี้สะท้อนความมั่นคงของกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในเวทีโลก ท่ามกลางความเปราะบางเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละประเทศสมาชิกซึ่งต้องเร่งหาทางออก โดยผลการประชุมวันแรกได้ข้อสรุปจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) วงเงินลงทุนเบื้องต้น 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนเงินสำรองอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Exchange Reserve) มูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกในกรณีเกิดวิกฤต ซึ่งขนาดเงินกองทุนดังกล่าวอาจเทียบได้ว่าเป็น “Mini IMF”
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าเศรษฐกิจกลุ่ม BRICS ในปี 2557 จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.4 เป็นการขยายตัวค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกในกลุ่มพร้อมทั้งเกื้อหนุนกันและกัน จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อไทยโดยอ้อมผ่านเครือข่ายการค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศให้เติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม BRICS ในปี 2557 น่าจะมีมูลค่าแตะ 39,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 16.1 ของการส่งออกโดยรวมของไทย และกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นประตูเชื่อมโยง 4 ภูมิภาคของโลก (ประกอบด้วยเอเชีย กลุ่มประเทศรัฐเครือเอกราชหรือ CIS ละตินอเมริกา และแอฟริกา) จะเป็นตลาดศักยภาพที่เสริมการขับเคลื่อนภาคส่งออกโดยรวมของไทยในระยะข้างหน้า
ผนึกกำลัง BRICS … มุ่งหวังอนาคตที่แข็งแกร่งบนความท้าทายทางเศรษฐกิจ
นับตั้งแต่จัดตั้งกลุ่ม BRICS ขึ้นในปี 2544 ตามคำเรียกขานโดยนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงินชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีความน่าสนใจทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก จึงเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนนัก จนกระทั่งการประชุม BRICS Summit ครั้งที่ 5 ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้ประกาศแผนจัดตั้งหน่วยงานป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของประเทศสมาชิก
BRICS Summit ในครั้งที่ 6 นี้ เป็นการผนึกกำลังทางเศรษฐกิจ ผลักดันการรวมตัวด้านการเงินให้เป็นรูปธรรมสานต่อจากการประชุมครั้งก่อน โดยผลการประชุมล่าสุดประกาศจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) โดยมีสำนักงานใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีเงินทุนเริ่มต้นรวม 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นเงินจากสมาชิกประเทศละ 10,000 ล้านดอลลาร์ฯ สามารถให้กู้ยืมได้ 3,400 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้กู้ยืมได้ในปี 2559 นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนเงินสำรองอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Exchange Reserve) มูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับกรณีฉุกเฉินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ประเทศสมาชิกในยามที่เกิดวิกฤตหรือความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยจีนเป็นผู้ออกทุนรายใหญ่ที่สุดเป็นมูลค่า 41,000 ล้านดอลลาร์ฯ บราซิล อินเดียและรัสเซียประเทศละ 18,000 ล้านดอลลาร์ฯ และแอฟริกาใต้ 5,000 ล้านดอลลาร์ฯ เบื้องต้นจากแถลงการณ์ของธนาคารกลางบราซิลระบุว่าสมาชิกสามารถถอนเงินจากกองทุนได้ในวงเงินที่แตกต่างกัน
แนวทางดังกล่าวสะท้อนความเป็นปึกแผ่นของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ชั้นนำ โดยขนาดเงินกองทุนดังกล่าวเทียบได้ว่าเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศขนาดย่อม หรือ “Mini IMF” เลยทีเดียว ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะเพิ่มบทบาททางการเงินของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ให้มีความโดดเด่นมากขึ้น และเข้ามาเสริมกับแนวทางการดำเนินงานของ IMF และ World Bank
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกต่างมีความเปราะบางภายในประเทศ นับเป็นความท้าทายในการก้าวผ่านไปสู่ความแข็งแกร่งอย่างแท้จริงในระยะข้างหน้า อาทิ แนวทางการบริหารประเทศของผู้นำบราซิลในระยะข้างหน้าภายหลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญในเดือนตุลาคมนี้ (เป็นการเลือกตั้งในทุกระดับตั้งแต่ประธานาธิบดี สมาชิกรัฐสภา ผู้ว่าการรัฐ รวมถึงสมาชิกรัฐสภาระดับรัฐฯ) กับโจทย์ด้านเงินเฟ้อและการก่อตัวของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศของรัสเซียที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจในขณะนี้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของอินเดียภายใต้การกุมบังเหียนของผู้นำคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโดยเฉพาะปัญหาในด้านเงินเฟ้อและการขาดดุลแฝดทั้งด้านการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดที่กินเวลายาวนาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนอย่างเข้มข้นท่ามกลางการแก้ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ในระดับสูง และปัญหาสวัสดิการแรงงานในแอฟริกาใต้ที่ปะทุบ่อยครั้งเป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนในประเทศ
โอกาสของธุรกิจไทย … ในเวทีเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่
นอกจากการรวมตัวภายใต้แนวทางของกลุ่ม BRICS แล้ว ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในกลุ่มที่มีลักษณะพึ่งพากันยิ่งช่วยผสานความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แนบแน่นขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันหรือมีทรัพยากรสอดคล้องกับความต้องการระหว่างกัน อาทิ จีนที่มีเครือข่ายธุรกิจกับประเทศต่างๆ อีกทั้งยังเป็นผู้พยุงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลก โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของบราซิล นำเข้าสินค้าธัญพืชและแร่จากบราซิลเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจีนมีผลต่อราคาสินค้าและธุรกิจบราซิล ขณะที่รัสเซียมีความโดดเด่นด้านทรัพยากรพลังงานจึงเป็นผู้ป้อนพลังงานให้แก่จีน เห็นได้จากข้อตกลงด้านพลังงานล่าสุดที่กินระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ขณะที่รัสเซียเองมีแผนเชื่อมท่อส่งพลังงานไปยังอินเดียด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกาก็ยังเป็นปลายทางการลงทุนที่สำคัญของจีน อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและเหมืองแร่ พร้อมกับบทบาทเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบเพื่อการผลิตให้แก่จีนอีกด้วย
การส่งออกของไทยไป BRICS ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2557
การส่งออกของไทย
|
มูลค่า
(ล้านดอลลาร์ฯ)
|
ขยายตัว
(%YoY)
|
สัดส่วน
(%)
|
สินค้า 3 อันดับแรก
|
BRICS
|
14,975
|
-5.1
|
16.1
|
เม็ดพลาสติก ยางพารา เคมีภัณฑ์
|
บราซิล
|
783
|
-17.6
|
0.8
|
รถยนต์/ส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องยนต์สันดาปภายใน
|
รัสเซีย
|
511
|
2.0
|
0.6
|
รถยนต์/ส่วนประกอบ อัญมณี เม็ดพลาสติก
|
อินเดีย
|
2,276
|
3.3
|
2.5
|
เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อัญมณี
|
จีน
|
10,403
|
-5.6
|
11.2
|
ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์
|
แอฟริกาใต้
|
1,001
|
-8.7
|
1.1
|
รถยนต์/ส่วนประกอบ ข้าว เครื่องยนต์สันดาปภายใน
|
การส่งออกไปโลก
|
92,862
|
-1.2
|
100.0
|
รถยนต์/ส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ อัญมณี
|
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หากมองย้อนมายังความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยผ่านภาคส่งออกไปยัง BRICS ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 มีสัดส่วนร้อยละ 16.1 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย เรียกได้ว่า BRICS เป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยทั้งยังช่วยพยุงการส่งออกของไทยไปยังตลาดโลกในระยะข้างหน้า โดยมีจีนเป็นปลายทางการส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทยในกลุ่ม ตามด้วยอินเดียและแอฟริกาใต้ ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS ในระยะข้างหน้าหากสมาชิกในกลุ่มสามารถก้าวผ่านความเปราะบางเชิงโครงสร้างในแต่ละประเทศไปได้ก็น่าจะเอื้อให้เศรษฐกิจของสมาชิกในกลุ่มเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและแข็งแกร่ง จากปัจจุบันที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าในปี 2557 นี้ เศรษฐกิจกลุ่ม BRICS จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.4 แม้จะเติบโตช้าลงจากในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็เป็นการเติบโตที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในกรณีที่เศรษฐกิจกลุ่ม BRICS มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ก็น่าจะเป็นแรงหนุนการส่งออกของไทยไปยังตลาดกลุ่ม BRICS พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปตลาด BRICS โดยรวมทั้งปี 2557 อาจมีมูลค่าแตะ 39,000 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยสินค้าสำคัญที่มีโอกาสเติบโต ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ถึงแม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ BRICS จะไม่โดดเด่นในปีนี้ แต่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีแผนขยายตลาดก็น่าจะเพิ่มความสนใจไปยังกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นตลาดที่คงจะมีบทบาทมากขึ้นนับจากนี้ รวมถึงการที่จีนมีเครือข่ายธุรกิจกับประเทศในกลุ่ม BRICS น่าจะเอื้อประโยชน์ทางอ้อมต่อธุรกิจไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีนในหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้สามารถติดตามธุรกิจจีนเข้าไปขยายการลงทุนใน BRICS ได้อีกทางหนึ่ง เสริมบทบาทจากในปัจจุบันประเทศดังกล่าวก็เป็นประตูการค้าและการลงทุนของไทยในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอยู่แล้ว