ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7 % ต่อไปอีกปี จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนการเพิ่มขึ้นเป็น 10 % ตั้งแต่ตุลาคมปีหน้า จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย คาดเอกชนสามารถปรับตัวได้
สืบเนื่องจากประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหลืออัตราร้อยละ 7.0 (จำแนกเป็นภาษีสำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีร้อยละ 6.3 และภาษีที่จัดเก็บแทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 0.7) ออกไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2558 เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของประชาชน และหลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 เป็นต้นไป อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะขยับขึ้นมาจัดเก็บที่ร้อยละ 10 (จำแนกเป็นภาษีสำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีร้อยละ 9.0 และภาษีที่จัดเก็บแทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 1.0) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าว ดังนี้:-
สำหรับการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7.0 ต่อเนื่องไปอีก 1 ปีนั้น น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศ ที่เพิ่งอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น ให้มีความต่อเนื่องในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปีข้างหน้า ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากภาวะค่าครองชีพและหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่คงต้องยอมรับว่า หากมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 ย่อมจะมีผลต่อทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ไปจนถึงปี 2559 อย่างไรก็ตาม การประกาศล่วงหน้าและคงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7.0 ไปก่อนเป็นเวลา 1 ปีนั้น จะช่วยให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีเวลาปรับตัว ซึ่งน่าจะลดทอนผลกระทบด้านลบที่มีต่อภาคเอกชนไปได้บ้างบางส่วน เพราะจะเอื้อเวลาให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีเวลาทยอยตัดสินใจใช้จ่ายและสต็อกสินค้าได้ก่อนที่จะมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตราใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากภาษีมูลค่าเพิ่มปรับขึ้นไปเป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 จะมีผลกระทบไม่มากต่อภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปี 2558 เนื่องจากกระทบเพียงแค่ 3 เดือนสุดท้ายของปี แต่ผลต่อตัวเลขเงินเฟ้อจะมีมากขึ้นในปี 2559 โดยคาดว่า จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2558 สูงขึ้นไปอีกประมาณร้อยละ 0.4-0.5 จากระดับประมาณการเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.5 ในกรณีที่ไม่มีการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น คาดว่า ผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2558 น่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.8 เร่งตัวขึ้นจากปี 2557 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3
อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ อาจไม่สามารถประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มต่อระบบเศรษฐกิจเพียงลำพังด้านเดียว เนื่องจากคาดว่า ภาครัฐน่าจะอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งแม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มภาษีบางประเภท แต่ก็คงมีการปรับลดภาษีบางประเภทลงมา (ซึ่งที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ ได้แก่ อัตราภาษีที่ผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม แผนการปรับปรุงค่าลดหย่อนสำหรับเงินได้ส่วนบุคคล และมาตรการดูแลภาระค่าครองชีพ) โดยภาครัฐน่าที่จะทยอยเปิดเผยรายละเอียดออกมาในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยผลในเชิงบวกกลับเข้ามาต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมด้วยเช่นกัน ซึ่งการประเมินผลกระทบในปี 2559 นั้น คงต้องรอรายละเอียดมาตรการในด้านอื่นๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น