เอกพงษ์ ตรีตรง “SMEs จงเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยดีไซน์””จงเพิ่มมูลค่าของธุรกิจด้วยการออกแบบดีไซน์”
ประโยคนี้เป็นคำพูดของสถาปนิกและมัณฑนากร แถวหน้าของเมืองไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เอกพงษ์ ตรีตรง คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเจ้าของผลงานเขียน “แต่งร้านให้ได้ล้าน”ที่มองว่าดีไซน์ส่งผลถึงธุรกิจโดยตรงหลายๆ ด้าน ซึ่ง SMEsไทย ยังมองข้ามในส่วนนี้ หากนำดีไซน์เข้ามาเป็นตัวช่วยไม่ว่าจะเป็นในด้านการออกแบบร้าน การตกแต่งภายใน
การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ธุรกิจบริการ โรงแรม ที่พักอาศัยเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งจะส่งให้ผู้บริโภคจดจำในธุรกิจนั้นๆ
สถาปัตยกรรม กับ SMEs
อ.เอกพงษ์ มองว่าธุรกิจ SMEs ไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจภาคการค้า บริการ และอสังหาริมทรัพย์ เหล่านี้มีจุดเริ่มต้นจากการเป็น SMEs ทั้งสิ้น องค์ประกอบหลักSMEs ที่ส่วนใหญ่มองข้ามไป คือ การออกแบบดีไซน์ ซึ่งถือว่าสำคัญมากสำหรับธุรกิจร้านค้า การออกแบบ
ที่ดีนั้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคได้จริงทั้งในเรื่องแรงจูงใจ ความประทับใจ การซื้อซ้ำ รวมไปถึง
การออกแบบ เพื่อกำหนดการจัดวางสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคมีความสนใจและหันมาซื้อสินค้าได้เช่นเดียวกัน
“สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญทำให้ร้านค้าสามารถเพิ่มมูลค่าทั้งในด้านภาพลักษณ์ ไปจนถึงสินค้า
ที่จำหน่ายได้เป็นอย่างดี โดยปกติเมื่อผู้บริโภคเกิดความประทับใจกับสิ่งใดก็จะกลับมาทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ ฉะนั้น
การสร้างความตรึงตาตรึงใจโดยใช้ดีไซน์ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะสิ่งแรกที่ทุกคนจะสัมผัสถึง คือ การมองเห็น”
ตีโจทย์พื้นที่จำกัดให้กับร้านค้า
อ.เอกพงษ์ อธิบายว่า ร้านค้ากลุ่ม SMEs ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก ฉะนั้นการออกแบบจึงต้องทำแบบพื้นที่
จำกัด จำเป็นจะต้องใช้คอนเซ็ปต์การออกแบบ Big space in Small space กล่าวคือ การดีไซน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์
มากที่สุดและมีมิติ ในบางครั้งพื้นที่ขนาดเล็กอาจจะดูมีมิติมากกว่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ฉะนั้นการออกแบบพื้นที่ขนาดเล็ก
ให้แลดูกว้างได้นั้นจะส่งผลดีต่อร้านค้า การใช้พื้นที่ในอากาศก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ หมายถึงการ
จัดร้านโดยใช้ชั้นวางเพื่อวางสินค้า หรือการเลือกใช้วัสดุที่โปร่งเบาในการตกแต่งก็จะสามารถช่วยให้ร้านดูมีพื้นที่มากขึ้น
ผู้ประกอบการร้านค้า SMEs ที่มียอดขายอยู่แล้วส่วนใหญ่จะคิดว่าการตกแต่งร้านเป็นเรื่องสิ้นเปลือง
ในเมื่อสินค้าสามารถขายตัวเองได้อยู่แล้ว การดีไซน์ร้านเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น อ.เอกพงษ์ เห็นแย้งว่า ร้านค้าที่ขายสินค้า
ได้ดีอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องพึ่งการออกแบบตกแต่งร้านนั้นใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะการขายดีใน
ที่นี้จะต้องหมายถึงขายดีและมีราคา หากขายสินค้าดีมากแต่กำไรน้อย นั่นไม่ได้
หมายความว่าจะประสบความสำเร็จ ฉะนั้นสิ่งที่สามารถ “เพิ่มมูลค่า” ให้กับร้านค้าได้คือการดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็น ดีไซน์ร้านค้า ดีไซน์สินค้า เหล่านี้จะเพิ่มคุณค่าของสินค้าและร้านค้าได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ร้านอาหาร หากมีการจัดแต่งแสงไฟที่ดีจะสามารถทำให้อาหารดูน่ารับประทาน รวมไปถึงบรรยากาศของร้านที่มีแสงสว่างที่เหมาะสม ไม่มืดเกินไป ไม่สว่างเกินไป ต้องให้ความรู้สึก
สบาย เป็นต้น ในมุมของธุรกิจที่ขยายในรูปแบบแฟรนไชส์หากมีร้านต้นแบบที่ดีแล้วจะส่งผลให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
จุดอ่อน SMEs ไทยกับการดีไซน์
อ.เอกพงษ์ กล่าวว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของ SMEs ไทยขาดการดีไซน์ที่ดี ซึ่งทำให้เสียโอกาสทางการค้าไปมาก เช่น การออกแบบที่ไม่เข้ากันหรือไม่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่ขาย ยกตัวอย่าง สีภายในร้านดูไม่เข้ากับสินค้า ทำให้การจัดวางสินค้าจมไปกับผนังสินค้าไม่โดดเด่นไม่น่าซื้อ ควรจะใช้สีที่ทำให้สินค้าดูโดดเด่นขึ้น ฉะนั้นการออกแบบที่ดีควรจะทำให้สินค้าดูเด่นขึ้น โดยนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ผสมกับหลักฮวงจุ้ยเข้ามาช่วย และดูพฤติกรรมผู้บริโภคว่าเป็นอย่างไร ประตูทางเข้าอยู่ทิศไหนเหมาะสมหรือไม่ การออกแบบที่ดีเมื่อจัดร้านแล้วลูกค้าสามารถเดินดูสินค้าได้อย่างทั่วถึง สัญจรไปมาได้อย่างสะดวกและเข้าถึงสินค้าได้ทุกชิ้นในร้าน การออกแบบจัดวางสินค้าและตกแต่งร้านมีผลต่อการเพิ่มมูลค่าและโอกาสในการจำหน่ายสินค้าได้เป็นอย่างดี และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือคุณภาพของสินค้า หากการตกแต่งร้านดีแล้วคุณภาพของสินค้าไม่ดี นั่นก็ไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน
หน้าร้านออนไลน์ ได้เปรียบกว่าหน้าร้านจริงหรือ
หลายคนคิดว่าการมีหน้าร้านออนไลน์เป็นการลงทุนน้อยกว่าและไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน แต่ถ้าถามว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการขายออนไลน์นั้นมีหรือไม่แน่นอนว่ามีจำนวนไม่น้อย จากจำนวนเหล่านี้ก็จะพัฒนาจนสามารถเปิดหน้าร้านเพื่อแสดงสินค้า
ข้อได้เปรียบเสียเปรียบของสองอย่างนี้อยู่ที่ การมีหน้าร้านลูกค้าสามารถเห็นสินค้าได้จริง จับต้องสินค้าได้และสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ดีกว่า สำหรับหน้าร้านออนไลน์สร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าโดยที่ไม่ต้องเดินออกจากบ้านไปดูสินค้าเอง
“สิ่งที่ร้านออนไลน์ต้องทำก็คือ การวางคอนเซ็ปต์ของร้านที่ชัดเจน มีไอเดียที่เป็นเอกลักษณ์ ดีไซน์การจัดหมวดหมู่สินค้าให้ค้นหาง่าย รูปภาพต้องเยอะทุกมุมของสินค้า สถานที่ติดต่อจะต้องชัดเจน สรุปได้ว่าสร้างความชัดเจนให้กับร้านในโลกของออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าไว้วางใจที่จะซื้อสินค้า และถ้าดีที่สุดเมื่อธุรกิจสามารถ พัฒนาไปได้ในระดับหนึ่งแล้วสมควรที่จะมีหน้าร้านดีไซน์ให้ลูกค้าอยากที่จะมาดูสินค้าด้วยตัวเอง ถึงอย่างไรพฤติกรรมของลูกค้าก็ยังต้องการเห็นสินค้าและจับต้องได้เสียเป็นส่วนใหญ่” อ.เอกพงษ์แสดงทัศนะ
“อัตลักษณ์” ไทยแข่งขันตลาด AEC
การที่ SMEs ไทยจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศนั้นจะต้อง สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งที่สุด สิ่งที่ SMEs ขาดไป คือ การสร้าง “อัตลักษณ์” ให้กับแบรนด์ รวมไปถึงการสร้างระบบบริหารเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การดีไซน์ จุดนี้หากทำได้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างสบาย การสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์นั้น หลักง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในทันที คือ การทำทุกอย่างให้เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันทั้งหมด เช่น การออกแบบเว็บไซต์ การออกแบบการประชาสัมพันธ์ การออกแบบเสื้อผ้าพนักงาน การ
ออกแบบนามบัตร การออกแบบร้าน ทั้งหมดต้องเชื่อมโยงกันให้เป็นเรื่องราวเดียวเพื่อความเป็นเอกลักษณ์ “เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยมองข้ามไป เพราะอาจจะคิดว่าไม่สำคัญจนลืมมองไปว่าประเทศไทยนั้นมีจุดแข็งอยู่ในตัว คือ ความเป็นไทย ที่ประเทศไหนๆ
ก็ไม่สามารถเลียนแบบได้ทั้ง วัฒนธรรม ประเพณี ความจริงใจ รอยยิ้ม ทั้งหมดนี้ต่างประเทศไม่ได้มีเหมือนไทย หากใครเคยช้อปปิ้งในต่างประเทศก็จะรู้สึกถึงอัธยาศัยที่แตกต่างจากคนไทย เขาไม่ยิ้มแย้ม หน้าตาบึ้งตึงไม่สร้างความน่าประทับใจกับลูกค้า ฉะนั้นจะต้องหยิบเอาจุดแข็งที่ต่างประเทศยกให้ไทยเป็นสยามเมืองยิ้มเข้ามาเป็นตัวช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ” อาจารย์คนดังพูดถึงอัตลักษณ์ไทย
ดีไซน์แฟรนไชส์ไทยแข่งขันต่างประเทศ
ธุรกิจแฟรนไชส์หลายรายของไทยสามารถออกแบบภาพลักษณ์ธุรกิจเป็นอย่างดี แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ดีไซน์ออกมาไม่สามารถดึงดูดลูกค้า รวมไปถึงผู้ลงทุนให้มาซื้อธุรกิจ เพราะรูปลักษณ์ของร้านต้นแบบดูไม่น่าจะสร้างผลกำไรได้ ทำให้เสียโอกาสที่จะขยายธุรกิจต่อไป อ.เอกพงษ์ แนะนำว่า ควรที่จะใช้โครงร่างทางธุรกิจ 360 องศา ใช้ความคิดสร้างสรรค์รอบทิศแล้วประมวลออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ร้านที่ดีจะต้องมีคอนเซ็ปต์หรือธีม แนวทางที่จะทำธุรกิจ ร่วมไปจนถึงโทนสีประจำร้าน แพ็คเกจจิ้งที่ดูดี สรุปได้ว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันยกตัวอย่าง ธุรกิจกาแฟ ที่ปัจจุบันร้านกาแฟสดเปิดจำนวนมาก การแข่งขันเรื่องของรสชาตินั้นไม่สำคัญในยุคนี้ การชงกาแฟให้อร่อยนั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกทั้งผู้ที่จะหลงใหลในรสชาติกาแฟก็จะมีเฉพาะกลุ่มคอกาแฟจริงๆ เท่านั้นที่รับรู้ได้ถึงรสชาติกาแฟที่ดีเป็นอย่างไร ดังนั้น การที่จะแข่งขันได้ คือ จะต้องมีไอเดียร้านที่แตกต่างออกไป เช่น คิดสูตรกาแฟที่สามารถสร้าง
ความแปลกใหม่ บรรยากาศร้านที่แตกต่างจากร้านกาแฟทั่วไป สร้างกิจกรรมเสริมในร้าน หรือหาจุดดึงดูดให้เป็นที่น่าจดจำ เช่น ดื่มกาแฟกับงานศิลปะ กาแฟที่เป็นรสชาติ พิเศษ กาแฟสำหรับเด็ก กาแฟสำหรับวัยรุ่น กาแฟสำหรับผู้หญิง เป็นต้น ยิ่งมีไอเดียที่แตกต่างมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งมีจุดขายมากขึ้น
เทรนด์แต่งร้านในอนาคต
อ.เอกพงษ์ พูดถึงเทรนด์การตกแต่งในอนาคตว่าผู้อยู่อาศัยจะใช้พื้นที่น้อยลงรวมไปถึงร้านค้า สำนักงานต่างๆ แต่จะเน้นการสร้างสรรค์พื้นที่ให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย และลงตัวมากที่สุด อีกทั้งจะนำมัลติฟังก์ชั่นเข้ามาเป็นส่วนช่วยให้ใช้พื้นที่ให้มีความหลากหลาย
สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าจะเน้นไปในทางสื่อสารออนไลน์ที่ทางร้านสามารถสร้างกิจกรรมให้กับลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการขาย สร้างความแปลกใหม่ ตื่นตา ตื่นใจ ให้กับลูกค้า โดยภาพรวมอนาคตจะเน้นหนักไปในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีร่วมกับดีไซน์มากขึ้น
โดยวิธีเหล่านี้ต่างประเทศได้เริ่มทำกันอย่างแพร่หลายมากแล้ว อย่างญี่ปุ่น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในส่งเสริมการขาย หรือออกแบบร้าน หันซ้ายหันขวาจะพบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสร้างความสะดวก สบาย รวดเร็ว เหมาะกับสังคม ปัจจุบันที่ต้องการด้านนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นประเทศไทยในอีก 5 – 10 ปี ข้างหน้าก็คงหนีไม่พ้นเช่นกัน