ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว อาทิ ญี่ปุ่นและยุโรป และอีกหลายประเทศก็กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อาทิ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในขณะที่ ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แสดงว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Societies) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากมองในแง่ของภาคธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว กลายเป็นโจทย์สำคัญที่บรรดาผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการวางแผนและปรับตัว เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกำลังจะกลายมาเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต ซึ่งมีทั้งลูกค้าที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติ
อีก 15 ปีข้างหน้าไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Societies) แล้วตั้งแต่ปี 2548 และกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Societies) ภายในปี 2573 หรือในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งหากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงที่มีประชากรมีอายุต่ำกว่า 60 ปี ในสัดส่วนที่สูง แต่หลังจากนั้น สัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 9 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 12 ในปี 2553 และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 และร้อยละ 25 ในปี 2563 และปี 2573 ตามลำดับ นั่นแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
จากโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไป สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของบรรดาผู้ประกอบการไทย ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่จะต้องเร่งศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มเพิ่มขึน
ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า แหล่งที่มาของรายได้ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจาก รายได้จากการทำงาน บำเหน็จบำนาญกว่าร้อยละ 50 รองลงมาได้แก่ รายได้ที่ได้จากบุตรหลานหรือคู่สมรส ร้อยละ 39 ที่เหลือเป็นรายได้ที่มาจากดอกผลจากการออมหรือการลงทุน ร้อยละ 11 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายหลักของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพ/ยารักษาโรค ถึงร้อยละ 55 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รองลงมา คือ การใช้จ่ายสำหรับที่พักอาศัย ร้อยละ 9 และที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 36 เป็นค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการและการท่องเที่ยว และมอบให้แก่บุตรหลาน เป็นต้น
จากสถิติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุสร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับหลากหลายธุรกิจทั้งที่เป็นธุรกิจสินค้าและธุรกิจบริการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ประเทศ น่าจะเอื้อให้หลากหลายธุรกิจของไทยได้รับอานิสงส์และสร้างรายได้สะพัดไปยังภาคธุรกิจต่างๆ ภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
สินค้าและบริการที่น่าสนใจ
สินค้าอาหาร ที่น่าจะตอบโจทย์ผู้สูงอายุและมีส่วนช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้คือ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ช่วยเสริมให้มีสุขภาพดีขึ้น ช่วยชะลอความเสื่อมถอยของร่างกาย มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม ย่อยง่าย สามารถดูดซึมได้ดี ผลิตภัณฑ์และเมนูมีความหลากหลาย รวมทั้งบรรจุภัณฑ์เปิดใช้ได้สะดวก มีฉลากระบุรายละเอียดส่วนผสม คุณค่าทางโภชนาการที่จะได้รับ และตรารับรองมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย โดยสินค้าอาหารที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารแปรรูปสำหรับผู้สูงอายุ
สืนค้าไลฟ์สไตล์ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ได้รับกระแสการตอบรับจากตลาดผู้สูงอายุมากขึ้น โดยได้รับอานิสงส์มาจากความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัย ที่เริ่มมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต จากสภาพร่างกายที่เริ่มเสื่อมถอย แต่กลับเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อให้ได้รับความพอใจสูงสุดสำหรับสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน สินค้ากลุ่มของขวัญของชำรวย
ธุรกิจบริการผู้สูงอายุ … โอกาสทองที่ไม่ควรมองข้าม
ธุรกิจทัวร์ผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่มีแนวโน้มเติบโต เพราะกลุ่มผู้สูงอายุมักจะเริ่มคิดถึงการ เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลหลังจากเกษียณ ปัจจุบันมีทัวร์ที่ผู้สูงอายุนิยมเดินทางกันมาก ได้แก่ ทัวร์เพื่อสุขภาพ ทัวร์ทำบุญไหว้พระ ทัวร์ชวนชิมอาหาร ทัวร์ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งการท่องเที่ยวดังกล่าวจะทำให้ผู้สูงอายุได้พบปะกับเพื่อนใหม่ๆ ได้รับรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แปลกใหม่จากการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) หรือสถานดูแลคนสูงอายุที่มีบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลให้ความสะดวกแก่ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน กายภาพบำบัด อาบน้ำ การกิน การขับถ่าย การแต่งตัว และมีการเตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการรักษา การให้พยาบาล โภชนาการบำบัด เป็นต้น ปัจจุบันภาคเอกชนให้บริการธุรกิจนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุและลูกหลาน ที่เผชิญเงื่อนไขสภาพบีบรัดทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไม่เอื้ออำนวยให้ลูกหลานมีเวลาอยู่คอยดูแลผู้สูงอายุ และบางรายมีการแยกครอบครัวอยู่กันตามลำพังมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการใช้บริการธุรกิจที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุบางรายจะมีเงินเก็บจากช่วงที่ทำงานในอาชีพส่วนตัว เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งมีสมาชิกลูกหลานในครอบครัวที่มีความพร้อมในการออกค่าใช้จ่าย ซึ่งลักษณะการให้บริการของ Nursing Home จะมีหลายรูปแบบ อาทิ การส่งบุคลากรไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน หรือการเปิดเป็นศูนย์ดูแลเฉพาะ
อาเซียน โอกาสที่มีศักยภาพสูง
ไม่เพียงแต่การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจเพื่อรองรับกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นคนไทยเท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ภาครัฐผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านบริการสุขภาพระดับโลกและเป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เป็นการเปิดตลาดและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ให้บริการ ด้านสุขภาพ ประกอบกับความมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวของไทย กลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่จูงใจหรือดึงดูดให้ผู้สูงอายุชาวต่างชาติเดินทาง เข้ามารับบริการในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระยะสั้น รวมถึงการพำนักอาศัยหลังเกษียณอายุในระยะยาว สะท้อนให้เห็นถึงตลาดที่ขยายใหญ่ขึ้น และนำมาซึ่งโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทย
นอกจากนี้ ธุรกิจสินค้าและบริการของไทยที่มีศักยภาพ ยังมีโอกาสที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในระยะข้างหน้า อีกทั้ง มีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ รวมกว่า 83 ล้านคนในปี 2563 (จากประมาณ 64 ล้านคนในปัจจุบัน) และจะเพิ่มขึ้นเป็น 123 ล้านคนในปี 2573 ซึ่งปัจจุบัน บางประเทศ
อย่างสิงคโปร์ มีโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศไทยแล้ว และอีกหลายๆ ประเทศ อาทิ เวียดนาม และอินโดนีเซียมีโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จึงนับว่าเป็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นของบรรดาผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดส่งออกสินค้าและบริการไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ควรศึกษาช่องทางทางการตลาดหรือหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง และอาจใช้วิธีการเชื่อมโยงสายการผลิตกับผู้ประกอบการรายใหญ่ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ SMEs ไทย
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ไทยในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในการขยายตลาดไปรองรับความต้องการของผู้สูงอายุทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการ SMEs ควรให้ความสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ คุณภาพของสินค้าและบริการ การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากร ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับรสนิยมของผู้สูงอายุ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีตลาดผู้สูงอายุขนาดใหญ่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะด้านอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความต้องการสินค้าและบริการที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองต่อความสุขทางกายและจิตใจในบั้นปลายชีวิต ดังนั้น นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ซึ่งรวมถึง SMEs ที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับการใช้งานหรือรองรับกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการให้กับลูกค้า การเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือแม้แต่พนักงานขายสินค้าและบริการ ที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ที่มีความต้องการเฉพาะด้าน และบางคนก็มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกค่อนข้างสูง อาทิ ประเด็นด้านความแก่ชรา ซึ่งการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงการสื่อสารไปยังลูกค้าจึงอาจต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวให้รอบคอบด้วย
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับโอกาสในการเติบโตของภาคธุรกิจดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะรองรับกับการขยายตัวของตลาดผู้สูงอายุที่เป็นคนไทยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงโอกาสในการดึงดูดให้กลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย รวมถึงโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนได้ด้วย