เป็นคำถามยอดฮิตกันจริงๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผมต้องใช้เวลาตอบคำถามนี้ แน่นอนนักลงทุนมักจะถามบางคำถามที่ลงลึกในรายละเอียดเป็นต้นว่า จดห้างสองคนได้ไม่ จดบริษัทต้องลงทุนอย่างน้อยเท่าไร ใครสามารถเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท เป็นต้น ยืนยันว่ายังมีอีกหลายถามซึ่งคำถามที่ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ต้องใช้เวลาตอบอย่างน้อย 1 ชั่งโมง ทำไมเป็นเช่นนี้ก็ท่านนักลงทุนคิดดูนะครับว่าคำถามเหล่านี้มันเป็นคำตอบที่ทุกท่านจะต้องรู้มาก่อนที่จะท่านจะเดินมาหาแล้ว ซึ่งความเป็นจริงท่านสามารถหาความรู้เหล่านี้ได้จากร้านหนังสือใหญ่ในปัจจุบันมักจะวางขายกันแล้วเป็นมุมกฎหมายโดยเฉพาะทีเดียว ผมจั่วหัวว่าจดห้างหรือบริษัทดี (1) ไว้นะครับดังนั้นแน่นอนเรื่องนี้จะต้องยืดยาวพอสมควรแต่จะไม่ยาวมากจนถึงท่านนักลงทุนต้องรำคาญใจ ทำอย่างไรได้ในเมื่อผมจะได้พบท่านแต่ละครั้งมันยาวนานผมจึงต้องหาเรื่องราวมาคุยเล่นๆกันก่อนจะเข้าเรื่อง เป็นการขายน้ำจิ้มก่อนว่าถูกปากหรือไม่อย่างไร สำหรับเรื่องนี้ผมแบ่งเป็นสองตอน (1) เกี่ยวกับกิจการและความสัมพันธ์ของผู้ลงทุน (2) การบริหารงานและภาษี ทั้งสองเรื่องนี้ผมจะเน้นเฉพาะกลไกของความไม่โปร่งใส ผู้ลงทุนควรรู้ก่อนหมดตัว
การจดห้างหรือบริษัทดีกว่าเป็นคำถามที่ดี ก่อนอื่นท่านต้องพิจารณาวางแผนกิจการของท่านให้รอบคอบก่อน กิจการของท่านต้องใช้เงินลงทุนเป็นอย่างไร ใครบ้างที่จะร่วมลงทุนบ้าง บางกิจการผลประกอบการไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรก็มักจะหาผู้ร่วมทุนยากมาก หรือท่านผู้ลงทุนต้องการจำกัดถึงคุณสมบัติของผู้จะมาร่วมลงทุนด้วยเป็นต้น การตัดสินใจในการจดห้างหรือบริษัทดีจะตัดสินใจยากผมจึงใคร่ขอตั้งข้อสังเกตให้ท่านไว้อย่างนี้นะครับ หากผู้ลงทุนเป็นญาติกันสมควรจดห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลก็ได้ และหากผู้ลงทุนหลากหลาย
ควรจดเป็นบริษัทจะดีกว่า เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องการหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งจะไม่กัดความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ส่วนบริษัทจำกัดความรับผิดไว้เฉพาะจำนวนมูลค่าหุ้นที่ผูกพันอยู่กับผู้ลงทุนเท่านั้นกัน ปัญหาของผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการไม่ไว้ใจการบริหารงานกันภายหลังหากเป็นห้างการเลิกจะเกิดขึ้นได้สูงมาก ส่วนบริษัทนั้นหากเกิดความไม่ไว้วางใจกันในภายหลังผู้ลงทุนมักมีวิธีการจัดการได้หลายวิธี การซื้อหุ้น การขายหุ้นสามารถกระทำได้ง่าย ความเชื่อถือของบุคคลทั่วไปจะให้ความเชื่อถือบริษัทมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่การขายหุ้นในห้างจะกระทำไม่ได้สามารถทำได้แต่ใครละร่วมลงทุนไปกับท่าน ดังนั้นจึงสรุปว่าหากผู้ร่วมลงทุนเป็นญาติๆกันควรจดห้างฯ ส่วนบริษัทควรจดเมื่อมีผู้ลงทุนหลากหลาย ในการร่วมลงทุนความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นสิ่งสำคัญมากนั้นหมายถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของผู้ร่วมลงทุนด้วย เมื่อได้พิจารณาเรื่องผู้ร่วมลงทุนจบกันไป ต้องคำนึงถึงกิจการของท่านด้วยว่ากิจการของท่านมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการอะไร เป็นการวางแผนระยะยาว กิจการของท่านต้องดำเนินธุรกิจอะไร บางธุรกิจหากเป็นห้างหุ้นส่วนจะบริหารกิจการได้ยากกว่าบริษัท หมายถึงการตัดสินใจทำอะไรเรื่องใดๆ ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจต้องคำนึงถึงผู้ร่วมลงทุนด้วยว่ามันเสี่ยงหรือไม่อย่างไรมากน้อยเพียงไหน ผู้ร่วมทุนต้องการรับรู้การบริหารงานมากน้อยเพียงใด มันไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน แต่อย่างบริษัทการบริหารงานจะชัดเจนเป็นไปตามระเบียบที่วางไว้ หากทำตามระเบียบทุกคนย่อมให้การสนับสนุนและรับรอง แต่อย่างไรก็ดีหากการบริหารงานของกิจการในครอบครัวก็มักจะจดเป็นห้างเนื่องจากส่วนใหญ่ผู้นำครอบครัวมักมีตำแหน่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่กิจการก็มักจะเจริญเติบโตได้อย่างจำกัดซึ่งไม่เหมาะกับภาวะปัจจุบันที่มักบริหารงานโดยการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่มีอยู่
เนื่องจากการลงทุน และมีผู้ร่วมทุน ทำกิจการทั้งสองเรื่องที่ผมนำเสนอเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้ลงทุนควรคำนึงเรื่องของผลประโยชน์ให้มากว่ามักจะก่อให้เกิดปัญหา หากกิจการไปได้ดีก็อาจจะมีปัญหากันได้ และหากกิจการไม่ดีก็อาจจะมีปัญหากันได้ด้วยเช่นกัน ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์และกิจการจึงเป็นเรื่องต้นๆที่ทุกท่านจะต้องให้ความสำคัญ ท่านมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และกิจการหรือโนฮาวนั้นๆเป็นของใครท่านต้องคำนึงให้ดี ผู้ลงทุนไม่ควรเป็นแกะดำในฝูง หรือผลประโยชน์ของใครๆย่อมหวงเป็นธรรมดา การคิดให้รอบคอบนอกจากจะไม่เสียเพื่อนแล้วจะทำให้ท่านมีเพื่อนแท้ๆเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในแต่ละครั้งนะครับ
เมื่อได้พิจารณาสองข้อนี้แล้วและตัดสินใจในการลงทุน ท่านต้องติดตามเรื่องการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไว้ เนื่องจากหากอยู่ระหว่างการจดทะเบียนห้างหรือบริษัทก็ตาม การกระทำใดๆของตัวแทนต่อบุคคลภายนอกจะผูกพันบริษัทหรือห้างแม้นการจดทะเบียนจะยังไม่ลุล่วงไปก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อ ผู้ที่เป็นตัวแทนไปดำเนินการจะต้องระมัดระวัง เราจะไม่พูดถึงกิจการที่ประสลความสำเร็จ แต่หากกิจการไม่ประสบความสำเร็จ การเริ่มต้นกิจการมักเป็นประเด็นที่จะก่อให้เกิดความร้าวฉานกันได้ดีทีเดียวในหมู่นักลงทุนด้วยกัน แทนการคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรกลับไปเสียเวลากันการโต้เถียงลงเอยมักจะต่างคนต่างเดิน ท่านระมัดระวังไว้ให้มากเห็นมานักต่อนักแล้ว ซึ่งความเป็นจริงเมื่อกิจการนี้ไม่ดีก็เลิกเสียแล้วหันมาทำกิจการอื่นๆที่ดีกว่า ความสัมพันธ์ของท่านก็ยังเหมือนเดิมแม้นจะไม่ประสบความสำเร็จใช่หรือไม่ครับท่านผู้ลงทุนทั้งหลาย
เอาล่ะครับ สำหรับวันนี้คงจะพอเท่านี้ก่อน คงจะได้พบกันอีกในฉบับต่อไป ซึ่งผมจะต่อเรื่องการบริหารงานและภาษี ขอบคุณมากครับ
ทนายอำพล รัตนมูสิก