การส่งออกไทยหดตัวมากกว่าที่คาดในเดือนสิงหาคม 2557 ที่ร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์จากผลสำรวจรอยเตอร์คาดไว้ที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี และเป็นสถานการณ์ที่แย่ลงกว่าที่หดตัวร้อยละ 0.85 ในเดือนกรกฎาคม 2557 โดยภาวะที่ซบเซาของตลาดส่งออกหลัก และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ส่งผลทำให้ภาพรวมการส่งออกขอองไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.36 ต่อปี ซึ่งอาจคาดการณ์ได้ว่า การส่งออกในช่วงต่อไปจากนี้ ตลอดปี 2557 อาจจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างเต็มที่ตามที่คาดหวังไว้
สถานการณ์ส่งออกล่าสุดเดือนส.ค. 2557 … ยังไร้สัญญาณการฟื้นตัว
มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2557 หดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 18,943 ล้านดอลลาร์ฯ ติดต่อกันที่ร้อยละ 7.40 ต่อปี ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ประมาณ 33 เดือน และต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 0.85 ต่อปี ในเดือนกรกฎคม 2557 โดยเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนโดยเฉพาะการส่งออกทองคำที่มีมูลค่าเพียง 72 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม 2557 หดตัวลงถึงร้อยละ 92.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกที่สูงถึง 1,029 ล้านดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคม 2556 ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป หดตัวลงต่อเนื่องร้อยละ 35.0 ต่อปี และร้อยละ 16.1 ต่อปี ตามลำดับ
แม้การหดตัวของการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2557 จะมีส่วนมาจากผลของฐานเปรียบเทียบ แต่ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวที่ล่าช้าของคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่หดตัวลงร้อยละ 8.5 ต่อปี และร้อยละ 2.6 ต่อปีตามลำดับ อีกทั้งปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ภาคการส่งออกยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรบางรายการของประเทศไทย เริ่มสามารถกลับมาประคับประคองการขยายตัวได้ อาทิ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 30.6 ต่อปี ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวที่ร้อยละ 32.9 ต่อปี และน้ำตาล ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองอยู่ที่ร้อยละ 17.6 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี และแผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามลำดับ
แต่สำหรับการส่งออกไปยังตลาดสำคัญของไทย กลับมาหดตัวลงทุกตลาด ซึ่งสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี ยูโรโซนหดตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี และญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี เช่นเดียวกับตลาดศักยภาพสูงอย่างจีนและอินเดีย ที่หดตัวร้อยละ 14.4 ต่อปี และหดตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งยิ่งเป็นการย้ำว่าการฟื้นตัวของส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี อาจอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น
โค้งสุดท้ายส่งออก…ความท้าทายต่อการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะคาดว่ามูลค่า มูลค่าการส่งออกรายเดือนของไทยว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงเดือนท้าย ๆ ของปี 2557 ตามอานิสงค์จากปัจจัยทางด้านฤดูกาลรับช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ทั้งนี้จากการเร่งใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในตลาดยุโรป จะทำให้ยังคงมุมมองว่า การส่งออกรายเดือนจะสามารถกลับมาบันทึกอัตราการขยายตัวภายในปีนี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฐานมูลค่าการส่งออกที่ต่ำในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2556
ถึงแม้จะยังไม่เห็นภาพสัญญาณการฟื้นตัวที่ไม่แน่ชัดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งในส่วนของจีน ยูโรโซน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งจากภาพรวมการส่งออกที่มีสัญญาณซบเซายาวนานตลอดช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ยังคงหดตัวลงร้อยละ 1.36 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวกลับมาขยายตัวของตัวของภาคการส่งออกในปีนี้ เป็นโจทย์เฉพาะหน้าที่มีระดับความยากเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อส่งออกของไทยยังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ทั้งด้านราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มตกต่ำ ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังก้าวไม่ทันกับเทคโนโลยี รวมถึงผลผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในสินค้ากลุ่มประมง ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2557 อาจหดตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ซึ่งนับเป็นตัวเลขติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่สอง จากที่หดตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2556