ส่งออกรถปี 57 ขยายตัวต่ำกว่าคาดเพียง 1-3% แต่ปี 58 อาจโตได้ถึง 5-10%


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการส่งออกรถยนต์ของไทยปี 2557 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ถึง 3 คิดเป็นยอดการส่งออกรถยนต์ 1.11 ถึง 1.13 ล้านคัน ส่วนในปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการส่งออกรถยนต์ยังมีโอกาสขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 5 ถึง 10 จากความชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

                สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผย ตัวเลขสถิติอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2557 ยังบ่งชี้ถึงทิศทางที่ชะลอตัวลงของตลาดในประเทศ และการผลิต โดยเฉพาะยอดส่งออได้พลิกกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 เดือนที่ผ่านมา  ตอกย้ำถึงทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ที่อาจซบเซารุนแรงกว่าที่เคยคาด ขณะที่แรงส่งด้านบวกที่เคยมองว่าจะได้จากตลาดส่งออกนัน้อาจน้อยกว่าที่ประมาณการไว้พอสมควร ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นว่า จากทิศทางดังกล่าวคงไม่สามารถจะผลักดันยอดการผลิตรถยนต์โดยรวมให้พุ่งขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 2 ล้านคันได้ในปี 2557

ส่งออกรถยนต์ปี 57 เผชิญแรงกดดันจากตลาดหลัก ส่งผลให้ขยายตัวต่ำกว่าคาด

                หลังจากที่การส่งออกรถยนต์ของไทย ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ก็เกิดการพลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาด้วยยอดส่งออก 89,550 หดร้อยลงร้อยละ 13.1 ต่อปี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และเป็นการหดตัวลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อีกร้อยละ 2.4 ต่อเดือน ไม่เพียงเท่านั้น ยอดส่งออกเดือนสิงหาคมที่ผ่านมายังเป็นยอดส่งออกที่ต่ำที่สุดนับจากเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีวันหยุดมากส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกน้อยกว่าเดือนอื่นๆ อยู่แล้วตามฤดูกาล ) ทำให้ความคาดหวังที่การส่งออกรถยนต์ในปีนี้จะเป็นแรงผลักดันหลักสำคัญให้การผลิตรถยนต์โดยรวมสามารถทำตัวเลขได้เหนือระดับ 2 ล้านคันนั้นลดน้อยถอยลงไปค่อนข้างมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ายอดส่งออกรถยนต์ของไทยตลอดทั้งปี 2557 นี้อาจจะทำได้เพียง 1,110,000 ถึง 1,130,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 1 ถึง 3 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ทำได้ 1,094,089 คัน เพียงเล็กน้อย ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ก็ลดลงกว่าที่หลายฝ่ายเคยมองกันว่าอาจจะทำได้ถึง 1,200,000 คัน พอสมควร โดยตลาดหลักซึ่งไทยส่งออกรถยนต์ไปเป็นมูลค่าสูง 10 อันดับแรกที่มีการหดตัวลงแรงและมีส่วนอย่างมากที่ทำให้การขยายตัวลดลงกว่าที่เคยคาด ได้แก่ ออสเตรเลีย (อันดับ 1) ญี่ปุ่น (อันดับ 10) และอินโดนีเซีย (อันดับ 4) ซึ่งมูลค่าการส่งออกรถยนต์ไปยัง 3 ประเทศนี้ ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 รวมกันแล้วมีมูลค่ากว่า 3,271.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมของไทยในช่วงเดียวกัน และการหดตัวลงของทั้ง 3 ประเทศนี้ เป็นการหดตัวลงทั้งตลาดรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ 3 ประเทศนี้ที่มูลค่าการส่งออกรถยนต์หดตัวลงเช่นกัน ร้อยละ 12.9 และ 1.4 ตามลำดับ และจุดที่น่าสังเกตซึ่งแตกต่างไปจาก 3 ประเทศส่งออกหลักข้างต้น คือการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังง 2 ทวีปนี้ มีการขยายตัวที่ดีในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ตรงกันข้ามกับการส่งออกรถยนต์เพื่อพาณิชย์ที่ต่างก็หดตัวลงพอสมควร ทำให้โดยรวมแล้วการส่งออกไปยัง 2 ทวีปดังกล่าวหดตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาใต้ และเปรู ซึ่งนับว่าเป็นตลาดหลักของไทยเช่นเดียวกัน

ปี 58 การส่งออกรถยนต์ไทยได้รับปัจจัยหนุนมากขึ้น แต่ยังมีประเด็นพึงระวังในตลาดหลัก

                สำหรับปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยไปต่างประเทศค่อนข้างมาก และคาดว่าจะเป็นแรงผลักดันให้กับการผลิตรถยนต์ไทยนับจากนี้ไป โดยปัจจัยบวกสำคัญที่น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกรถยนต์ในปีหน้า คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเด่นชัดมากขึ้น การเปิดตลาดของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่คาดว่าจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ภูมิภาคของโลก ทั้งนี้การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC ที่น่าจะส่งผลต่อตลาด CLMV ให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกรถยนต์ในปี 2558 นี้มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ราว ๆ ร้อยละ 5 ถึง 10 หรือคิดเป็นจำนวนยอดส่งออก 1,180,000 ถึง 1,240,000 คัน  

                อนึ่งปัจจัยด้านที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยในระยะต่อไปทั้งในปี 2558 เป็นต้นไป ซึ่งถ้าหากพิจารณาเบื้องต้นเฉพาะตลาดส่งออกรถยนต์นั่งหลักของไทยที่หดตัวสูงอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมกันกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งรวมของไทยนั้นพบว่า ในตลาดออสเตรเลีย การส่งออกรถยนต์นั่งของไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากรถยนต์นำเข้าจากประเทศคู่แข่งเดิม คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มากขึ้น หลังจากทั้ง 2 ประเทศได้มีการตกลงลงนามเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันสำเร็จในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาษีนำเข้ารถยนต์จากทั้ง 2 ประเทศนี้ลดลงเหลือร้อยละ 0 ส่วนตลาดญี่ปุ่น  แม้ว่าตลาดในประเทศปี 2557 จะมีการหดตัวลง แต่มูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่งจากต่างประเทศของญี่ปุ่นกลับหดตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ที่ร้อยละ 0.02 และขณะที่มูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทย ซึ่งเป็นอันดับ 5 ในปี 2556 ได้หดตัวลงกว่าร้อยละ 39 แต่การนำเข้ารถยนต์จาก เยอรมนี และสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้กว่าร้อยละ 5.2 และ 10.7 ตามลำดับ สำหรับตลาดอินโดนีเซียนั้น เคยเป็นตลาดนำเข้ารถยนต์นั่งหลักของไทย ปัจจุบันก็ได้มีการขยายกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน (LCGC = Low Cost Green Car) ซึ่งใกล้เคียงกับรถยนต์อีโคคาร์ของไทย และยังมีแผนที่จะส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ไปยังตลาดส่งออกเดียวกันกับไทย เช่น ฟิลิปปินส์ และตะวันออกกลาง เป็นต้น แม้ว่าอาจจะยังมีจำนวนไม่มากและไม่ใช่รุ่นคู่แข่งกับไทยโดยตรงในระยะแรก ทำให้การส่งออกรถยนต์นั่งของไทยไปยังตลาดอินโดนีเซียคาดว่าจะได้รับผลกระทบอยู่พอสมควร ดังจะเห็นได้จากทิศทางการหดตัวลงของการนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ยังไม่รวม ตลาดอเมริกา ซึ่งมีโอกาสที่อาจโดนประเทศคู่แข่งอยางเม็กซิโกจากค่ายรถหลายสัญชาติเพื่อรองรับตลาดที่กำลังขยายตัวในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง นอกจากนี้ยังรวมถึงแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯที่อาจจะส่งผลต่อทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ และกระทบต่อต้นทุนในการถือครองรถยนต์ที่อาจจะสูงขึ้นในประเทศคู่ค้าของไทยได้ในระยะสั้น        

                กล่าวโดยสรุป  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกรถยนต์ของไทยปี 2557 นี้ น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดหวังไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่น่าจะต้องหดตัวลงค่อนข้างรุนแรงอย่างมิอาจเลี่ยง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการผลิตรถยนต์รวมปี 2557 อาจจะหดตัวสูงถึงร้อยละ 23 ถึง 25 หรือยอดผลิตลดลงไปเหลือเพียง 1.85 ถึง 1.9 ล้านคัน หลังจากตลาดในประเทศเองก็ยังบ่งชี้ถึงทิศทางที่หดตัวอย่างหนักต่อเนื่อง ซึ่งสำหรับค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศหลายรายแล้ว ก็อาจต้องนับว่าปีนี้เป็นปีแห่งการปรับฐานการผลิตไปสู่ภาวะที่สมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลียร์สต๊อกคงค้างที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อการพลิกกลับมาขยายตัวในอนาคต ซึ่งในปี 2558 จะเห็นสัญญาณเชิงบวกที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะ การส่งออกรถยนต์ไทยที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยบวกหลายด้าน ซึ่งจะช่วยหนุนให้การผลิตรถยนต์ในปีหน้านี้กลับมายืนอยู่เหนือระดับ 2 ล้านคันได้อีกครั้งหนึ่ง