Plated: อาหารหรูผ่านไปรษณีย์


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

Plated เป็นบริษัทหน้าใหม่ในประเทศอเมริกาที่ส่งวัตถุดิบและวิธีทำอาหารมื้อหรูที่ดีต่อสุขภาพและไม่เหมือนใครผ่านไปรษณีย์

คนปกติฟังไอเดียนี้เข้าไปคงคิดว่านี่เป็นไอเดียยอดแย่ เพราะว่านอกจากจะแพงแล้วยังต้องเสียเวลาลงมือทำอาหารเองอีก สู้สั่งอาหารให้มาส่งจากร้านอาหารไม่ดีกว่าหรือ

แต่ถ้าหากลองทำความคุ้นเคยกับธุรกิจนี้ จะพบว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับธุรกิจนี้คือการหา niche market ที่แท้จริงของพวกเขาและการทำ logistics ที่เก่งมากๆ เพื่อความสดใหม่ของผักและเนื้อสัตว์ที่มาทางไปรษณีย์

Plated เวิร์คยังไง?

 

1.    ลูกค้าเข้า web ไปเลือกเมนูอาหารอย่างต่ำ 2 มื้อ  มื้อละ 2 serving (สรุปคืออย่างต่ำ 4 จานนั่นเอง)

2.    ราคาตกมื้อละสิบกว่าเหรียญดอลล่าสหรัฐฯ ถือว่าแพงเกือบเท่าไปกินร้านอาหารชั้นกลาง

3.    Plated การันตีส่งทุกอย่างที่คุณต้องการในการทำอาหารทุกมื้อที่คุณสั่งในวันที่กำหนดไว้  ขอเพียงคุณมีน้ำมัน น้ำเปล่า เกลือ พริกไทย และอุปกรณ์เครื่องครัวติดบ้านไว้

4.    พอถึงวันที่ของมาส่ง คุณแกะกล่องเอาวัตถุดิบทุกอย่างออกมาทำอาหารตามสูตรที่ส่งแนบมา

5.    เครื่องปรุง ซอส เนื้อ ผัก ทุกอย่างเขาตวงมาหมดแล้ว เรามีหน้าที่สับๆ กับ ประกอบอาหารเท่านั้น ไม่ต้องชิมยังอร่อยได้

6.    ส่วนมากใช้เวลาประมาณ 30-40 นาทีในการทำ

ความสดของวัตถุดิบ

ที่ผู้เขียนประหลาดใจที่สุดก็คือความสดของผักและเนื้อที่มาทางไปรษณีย์ คนทั่วไปมักต่อต้านไอเดียที่ว่าเราสั่งอาหารทางไปรษณีย์แทนที่จะทำแบบ farm-to-table  แต่ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่มาทางไปรษณีย์ของ Plated นี่แหละคือ farm-to-table ดีๆ นี่เอง

ตกใจมากที่มะเขือเทศที่มาในกล่องนั้นสดกว่าที่อยู่ใน supermarket รอบๆ บ้านผู้เขียนเสียอีก  ปกติเป็นคนไม่ชอบรับประทานมะเขือเทศเลย แต่วันนั้นมันอร่อยมากจนต้องยกเว้น

สาเหตุคือ Plated เค้า source ผักและเนื้อจากผู้ผลิต local ใกล้ๆ ที่ๆ เราอยู่อาศัย  ยกตัวอย่างเช่นผู้เขียนอยู่เมือง Minneapolis เขาก็จะมีโรงงานตั้งอยู่แถวๆ เมือง Chicago ที่ไม่ห่างออกไปไม่ไกลกันเกินไปนัก

ตลาดของ Plated

หลังจากที่ได้ลองสั่ง Plated มา 3 ครั้ง (6 มื้อ) ผู้เขียนคิดว่า Plated กำลังหาลูกค้ากลุ่มที่แคบมากกว่าที่นึกไว้ตอนแรก

ที่แน่ๆ คือกลุ่มลูกค้าของ Plated ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับลูกค้าที่โทรสั่งอาหารมาส่งที่บ้านเป็นประจำ แต่จะเป็นลูกค้าที่มีชีวิตวุ่นวายแต่ยังชอบลงมือทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพและต้องการเรียนรู้วิธีทำอาหารที่ค่อนข้าง exotic ซึ่งใช้เครื่องปรุงหลายชนิดที่ฝรั่งส่วนมากไม่คุ้นเคยแต่ใช้ในปริมาณน้อยจนไม่คุ้มที่จะออกจากบ้านไปซื้อมาตุนไว้เอง  (ลองนึกดูว่าจะมีสักกี่ครั้งที่อาหารอเมริกันต้องการส่วนผสมของน้ำปลา) ไม่แปลกที่กลุ่มลูกค้าหลักก็คือครอบครัวอเมริกันที่ทั้งพ่อทั้งแม่ทำงานหาเงินและมีลูกอ่อน

ข้อดีของ Plated คือเราได้เรียนรู้วิธีทำอาหารแปลกๆ จากชาติอื่นๆ จริงๆ และได้ลองโดยที่ไม่ต้องแห่ไปซื้อเครื่องปรุงมาหลายๆ ขวดทั้งๆ ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ใช้อีกหรือไม่ในอนาคต  ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องปรุง ผัก เนื้อ ทุกอย่าง pre-portion มาหมดแล้ว เทเอาเลย ไม่ต้องตวง ไม่ต้องวัด ไม่ต้องชิมอะไรทั้งนั้น แถมมีรูปสวยงามเป็นตัวอย่างให้เวลาเราจัดวางอาหารบนจาน  เหมาะอย่างยิ่งกับเชฟมือใหม่ที่ทำอาหารช้า ที่สำคัญคือถ้าสั่งเมนูเดิมที่ชอบมาสองครั้งรสชาติที่ออกมาจะไม่แกว่งแม้เราฝีมือไม่ถึง เพราะว่าทุกอย่างวัดมาหมดแล้ว ไม่เหมือนกับเวลาเราเริ่มเรียนทำอาหารจานใหม่ที่ต้องฝึกไม่รู้กี่รอบกว่าจะชำนาญ

ยกตัวอย่างเช่นแซนด์วิชเวียดนามหรือ Bahn Mi  เมนูนี้เป็นอะไรที่ผู้เขียนไม่เคยคิดจะอยากทำ แต่เห็นภาพในเมนูแล้วน่าทานมากเลยลองสั่งมา ปรากฎว่าอร่อยและทำง่ายเหลือเชื่อ  

แต่ความง่ายนั้นก็แปลว่าลูกค้าเดิมอาจจะออกไปซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเมนูเดิมที่เคยสั่งเพราะว่าราคาต้นทุนต่อมื้อนั้นถูกกว่าถ้าจะสั่งจาก Plated อีกรอบ  เมื่อต้นปีนี้ Plated ระดมเงินลงทุนได้ถึง 5 ล้านเหรียญดอลล่าสหรัฐฯ  แต่หากบริษัท Plated ต้องการจะอยู่ในตลาดนี้เป็นเวลานาน พวกเขาจะต้องคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ ที่ใช้วัตถุดิบที่แปลกๆ และหาไม่ได้ง่ายตาม supermarket ทั่วไป

แม้ว่าเราจะสมมุติว่าระบบไปรษณีย์ไทยพัฒนาถึงขั้นที่ว่าสามารถส่งวัตถุดิบแช่แข็งไปแต่ละบ้านทั่วประเทศได้ตรงต่อเวลา 100%  ธุรกิจแบบนี้น่าจะรอดยากในเมืองไทยเพราะร้านอาหารอร่อยๆ นั้นบ้านเรามีให้เลือกกันมากมายเหลือเกิน แถมราคาก็ไม่ได้แพงเหมือนอาหารดีๆ ในต่างประเทศด้วย

สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับคนไทยจึงอาจจะเป็นข้อคิดที่ได้จากความก้าวหน้าของระบบขนส่งและระบบไปรษณีย์ว่ามันเปิดโอกาสให้กับธุรกิจประเภทใหม่ๆ ให้เข้ามาแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมในตลาดได้มากแค่ไหนครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่  “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2557