ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มของไทยในอาเซียน มีโอกาสการขยายสาขาได้ในหลาย ๆ ประเทศ โดย ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และ เวียดนาม เป็นประเทศที่น่าสนใจ แต่มีการแข่งขันสูง จากเจ้าของแฟรนไชส์รายใหญ่อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา
ธุรกิจแฟรนไชส์จึงเป็นวิธีหนึ่งในการขยายตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจ โดยผลสำรวจจาก กรรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถแบ่งธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยได้ 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 238 ราย ธุรกิจบริการ จำนวน 78 ราย ความงามและสปา จำนวน 49 ราย ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 51 ราย และธุรกิจการศึกษา จำนวน 61 ราย และจากผลการสำรวจพบว่าปี 2556 มีธุรกิจแฟรนไชส์รวมทั้งสิ้น 477 รายประกอบด้วยธุรกิจแฟรนไชส์ไทย 452 ราย ธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศ 25 ราย มีมูลค่าตลาดปี 2556 รวมประมาณ 184,120 ล้านบาท ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางมีการจ้างงานเฉลี่ยรายละ 10-50 คนมีรายได้ต่อรายประมาณ 1-5 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่ประกอบด้วยธุรกิจอาหาร ร้อยละ 21.17 เครื่องดื่มและไอศกรีม ร้อยละ 19.12 และธุรกิจบริการ ร้อยละ 10.59 ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยรวมทุกประเภทในธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าการลงทุนขั้นต้นประมาณ 850,000 บาท ต่อ 1 ธุรกิจ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับการลงทุนเฉลี่ยในปี 2552 ซึ่งมีงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 350,000 บาท
จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีจำนวนผู้ประกอบการมากที่สุด บ่งชี้ถึงศักยภาพและความถนัดของคนไทยในด้านการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม จึงมีแนวโน้มว่าจะเกิดการขยายตัวของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น และผลจากการให้ความสำคัญในธุรกิจแฟรนไชส์จากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีที่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยควรมองหาช่องทางในการขยายแฟรนไชส์ในตลาดใหม่เพิ่มเติม และตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก
สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มของไทยในอาเซียน ประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนเมื่อพิจารณาในประเด็นด้านประชากรเมือง ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และ เวียดนาม เมื่อพิจารณารสนิยมของผู้บริโภคพบว่าผู้บริโภคในประเทศสมาชิกอาเซียนมีแนวโน้มยอมรับสิ่งใหม่และยอมรับวัฒนธรรมการบริโภคแบบตะวันตกมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มมีโอกาสเติบโตขยายตลาดได้ ในด้านพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นมักขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการต้องมีการสำรวจอย่างชัดเจนก่อนทำการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์อาหารในประเทศนั้น ๆ ส่วนปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการไทยนั้นอยู่ที่การแข่งขันในตลาดอาเซียนส่วนใหญ่ค่อนข้างสูง จากแฟรนไชส์เจ้าถิ่น และคู่แข่งที่ยึดพื้นที่ทางการตลาดอยู่แล้วอย่างแฟรนไชส์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ A&W, Baskin-Robbins, Domino’s Pizza, Haagen Dazs, KFC, McDonalds, Pizza Hut, Starbucks, Subway, SWENSEN’S และ TCBY เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย อาจทำการเจาะตลาดได้ค่อนข้างยาก
แต่ถึงอย่างไรก็ดีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลา ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ภาครัฐเห็นความสำคัญในการนำรายได้เข้าประเทศจากธุรกิจแฟรนไชส์ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพเพื่อต่อสู้ในตลาดอาเซียนได้อย่างแน่นอน โดยพัฒนาจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งในด้านต่าง ๆ ทั้งความรู้ในด้านกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายมีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เนื่องจากการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ผู้ซื้อและผู้ขายแฟรนไชส์ต้องมีปฎิสัมพันธ์กันภายใต้สัญญา นอกจากนี้คือการประชาสัมพันธ์ การใส่ใจในมาตรฐานของสินค้า และการรวมกลุ่มผู้ประกอบการอย่างเข้มแข็ง รวมถึงความพร้อมในด้านการใช้ภาษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำพาให้ผู้ประกอบการไทย มีศักยภาพมากพอที่จะต่อสู้ในตลาดอาเซียนได้ต่อไป