บิ๊กไบค์มาแรง สวนกระแสตลาด คาดเติบโตสูงถึงร้อยละ 10


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด แม้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของไทยปี 2557 นี้ มีแนวโน้มที่จะหดตัวแต่ตลาดรถจักรยานยนต์มีโอกาสที่จะพลิกกลับมาขยายตัวได้กว่าร้อยละ 1 ถึง 5 โดยเฉพาะบิ๊กไบค์ โอกาสขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2558 สวนกระแสตลาดรวมที่ซบเซา

        สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยตัวเลขสถิติยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2557 ที่จำนวน 135,900 คัน หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 8.7 แสดงให้เห็นถึงทิศทางการหดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้วอย่างต่อเนื่องกว่า 1 ปีครึ่งติดต่อกัน ส่งผลให้ยอดขายรถจักรยานยนต์รวมช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ทำได้เพียง 1,460,500 คัน หดตัวลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึงร้อยละ 16 โดยสาเหตุหลักอย่างที่ทราบกันดีนั่นก็คือ กำลังซื้อของผู้ซื้อหลักในตลาดอย่างเกษตรกรลดลง จากรายได้ที่ลดลงจากภาวะราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ตกต่ำ และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ที่เป็นภาระผูกพันต่อเนื่องอันส่งผลต่อทั้งเครดิตผู้ซื้อและความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้ที่คาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี น่าจะส่งผลให้ตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์กลับไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 ล้านคันในปี 2557 นี้ หลังจากที่ทำยอดขายต่อปีได้สูงกว่า 2 ล้านคันต่อเนื่องมากว่า 3 ปี

                โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์รวมตลอดทั้งปี 2557 น่าจะทำได้ที่ราว 1,740,000 คัน หดตัวลงถึงกว่าร้อยละ 13 จากปี 2556 ที่ทำยอดขายได้ 2,004,498 คัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมจะมีทิศทางที่หดตัวลงค่อนข้างมาก แต่หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาคและรายผลิตภัณฑ์ อาจพบกับทิศทางตลาดที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชากรมีระดับรายได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น และรุ่นรถจักรยานยนต์ที่ผู้ซื้อเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างดี

        แม้ว่าทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมของไทยในปีนี้จะมีแนวโน้มซบเซาลงพอควรไม่ต่างจากตลาดรถยนต์ในประเทศ ทว่าหากแยกเป็นภูมิภาคแล้วอาจเห็นผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน เนื่องมาจากแต่ละพื้นที่สภาพเศรษฐกิจ สังคม และรายได้ของประชากร มีความแตกต่างกัน ทำให้ผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมถึงความกังวลเรื่องปัญหาหนี้แตกต่างกันไป และส่งผลต่อยอดขายรถจักรยานยนต์ในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันตามมา

                จากสถิติการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ของกรมการขนส่งทางบกในแต่ละภูมิภาคเห็นว่า หากคิดเป็นการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เฉลี่ยรายเดือนสำหรับทั่วประเทศในปี 2557 ข้อมูลเดือนมกราคมถึงกันยายน พบว่าหดตัวลงกว่าปี 2556 ร้อยละ 11.7 และอาจแบ่งตลาดออกได้เป็น 2 กลุ่มตามระดับการหดตัวลงของยอดจดทะเบียน คือ กลุ่มที่สถิติการจดทะเบียนหดตัวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก กับกลุ่มที่สถิติการจดทะเบียนหดตัวมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งเราจะเห็นความแตกต่างหลักและน่าจะเป็นตัวบ่งชี้สาเหตุของการที่ตัวเลขจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีอัตราการขยายตัวที่แตกต่างกันด้วย คือ ปัจจัยเรื่องรายได้ ภาระหนี้และพื้นฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค โดยในปีนี้ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของครัวเรือนในภาคเกษตร นับเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบต่อยอดขายรถจักรยานยนต์ในท้องที่ต่างจังหวัด

ทั้งนี้แม้ตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมจะหดตัวลงค่อนข้างมากในปี 2557 นี้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแบ่งประเภทของรถจักรยานยนต์แล้วอาจเห็นทิศทางที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะ ในปี 2557 นี้ รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่มีความจุตั้งแต่ 126 ซีซี กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีการขยายตัวของยอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 19 จากปี 2556 ขณะที่รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดความจุไม่เกิน 125 ซีซี กลับหดตัวลงกว่าร้อยละ 13 เป็นผลให้สัดส่วนยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่เฉลี่ยรายเดือน สำหรับขนาดความจุตั้งแต่ 126 ซีซี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7 ในปีนี้ จากร้อยละ 5 ในปีที่แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถจักรยานยนต์รุ่นใหญ่ดังกล่าวยังได้รับความนิยมและไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหากำลังซื้อที่ซบเซา ดังเช่นรถจักรยานยนต์รุ่นเล็ก แม้จะมีระดับราคาที่สูงกว่า ก็เนื่องมาจากกลุ่มผู้ซื้อหลักของรถจักรยานยนต์รุ่นใหญ่ดังกล่าว เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงสูง ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจุบันความนิยมต่อรถจักรยานยนต์รุ่นใหญ่มีเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ โดยนอกเหนือจากเพื่อใช้งานในการเดินทางทั่วไปแล้ว ยังเพื่อใช้สำหรับงานอดิเรกตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนเมือง

พบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ตลาดรถจักรยานยนต์ประเภทบิ๊กไบค์มีการขยายตัวในปีนี้สูงถึงกว่าร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว และคาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี แม้ว่าปี 2557 จะเป็นปีที่ตลาดโดยรวมอยู่ในภาวะซบเซาก็ตาม โดยทิศทางในอนาคตของตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ก็ดูจะสดใสอยู่พอสมควร เมื่อผู้บริโภคในประเทศให้การตอบรับที่ดี เมื่อรวมเข้ากับปัจจัยเรื่องทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกลุ่มผู้มีฐานะที่จะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ค่ายรถจักรยานยนต์หลายค่ายจากต่างประเทศมองเห็นถึงศักยภาพดังกล่าว และเข้ามาลงทุนเปิดหรือเพิ่มสายการผลิตรถจักรยานยนต์ประเภทบิ๊กไบค์ในไทย ซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตและตลาดรถจักรยานยนต์ประเภทดังกล่าวที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น และจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้นในประเทศ ส่งผลดีต่อผู้บริโภคทั้งในแง่ของราคาขายและทางเลือกที่มากขึ้น

สำหรับทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2557 หลังเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีแนวโน้มจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ซื้อหลักของรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม จากทิศทางของราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ ข้าวและยางพารา ที่ยังไม่น่าจะบ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีนัก ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงกดดันการบริโภคของประชากรอยู่ ทำให้กำลังซื้อจากกลุ่มเกษตรกรนั้นยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นนัก นัก ประกอบกับตลาดรถจักรยานยนต์ไทยเป็นตลาดที่ค่อนข้างอิ่มตัวพอสมควรแล้วโดยปัจจุบันอัตราการถือครองรถจักรยานยนต์ของไทยอยู่ที่ 3 คนต่อ 1 คัน ทำให้โอกาสที่จะขยายตัวได้สูงคงเป็นไปได้น้อย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ปี 2558 นี้ อาจทำได้ที่ระดับตัวเลข 1.76 ถึง 1.83 ล้านคัน หรือขยายตัวร้อยละ 1 ถึง 5 โดยที่ยอดขายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้

อย่างไรก็ตาม จากทิศทางการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของโครงการภาครัฐ เพื่อเป็นไปตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อเตรียมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC และการค้าชายแดนที่จะเพิ่มขึ้นมากตามมา ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในบางจังหวัดในภูมิภาคที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวข้างต้น มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่าจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น หนองคาย นครพนม มุกดาหาร เชียงราย ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ ระนอง และสงขลา เป็นต้น ส่วนประเภทของรถจักรยานยนต์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดความจุตั้งแต่ 126 ซีซี ขึ้นไป โดยเฉพาะ กลุ่มรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ก็น่าจะยังคงได้รับความนิยมอยู่ในระดับสูง และมีโอกาสขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2558 ส่วนตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วไปซึ่งมีขนาดความจุไม่เกิน 125 ซีซี แม้จะมีโอกาสขยายตัวเช่นกัน แต่ก็จะยังคงได้รับแรงกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง