เศรษฐกิจ 2558 มีแนวโน้มคงชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดการณ์ของตลาดทางการจีนคงตั้งเป้าหมายการขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ส่วนโอกาสในระยะยาวของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไปจีนอยู่ที่ความสามารถในการปรับโครงสร้างสินค้าออก
แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในปี 2557 หดตัวลงถึงร้อยละ 7.9 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น จะไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาด แต่ก็สะท้อนถึงนัยของสภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ในฐานะที่จีนเป็นตลาดสินค้าส่งออกที่ใหญ่ที่สุด ทั้งนี้จังหวะการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2557 ที่ร้อยละ 7.4 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา และต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 7.5 ของทางการ ส่งผลต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าหลักอย่างสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าขั้นกลาง อาทิ ยางพารา เคมีภัณฑ์ และกลุ่มสินค้า E&E รวมถึงชิ้นส่วน ที่มูลค่าการส่งออกไปยังจีนหดตัวลงในระดับเลขสองหลัก สอดคล้องกับภาคการผลิตและการส่งออกของจีนที่ชะลอตัวลงในปี 2557 เช่นกัน ตอกย้ำความสำคัญของความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจในรูปแบบของห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาค
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีนในปี 2558 นี้ คาดว่าคงชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางการเน้นสื่อด้านการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ตอกย้ำการคาดการณ์ของตลาดว่าทางการจีนคงตั้งเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2558 ที่ร้อยละ 7.0 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2558 ที่ราวร้อยละ 7.2 ภายใต้แรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่คงส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนไปอีกระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะหน้าที่เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้เราต้องเพิ่มมุมมองที่ระมัดระวัง และมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ โดยมีประเด็นความเสี่ยงเฉพาะหน้าที่น่าจับตา ดังนี้
1. ความเสี่ยงจากภาคการเงิน ท่ามกลางสภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงินโลกในช่วงหลังปี 2552 ทำให้เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตร้อนแรง ขณะที่การปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบของทางการ ทำให้บทบาทของภาคธนาคารเงา(Shadow banking) เด่นชัดขึ้นในฐานะแหล่งระดมทุนของทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาลท้องถิ่น ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อโดยรวมต่อจีดีพีของจีนไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ด้วยต้นทุนการเงินที่สูงกว่า ทำให้สินเชื่อจากภาคธนาคารเงามักไปกระจุกตัวอยู่ที่กิจการที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงที่สูง เช่น ภาคเหมืองแร่และโลหะ และภาคอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ ความเสี่ยงหลักของภาคธนาคารเงาคือ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจที่เสื่อมถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว และแรงกดดันจากอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคงนำไปสู่ประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และอาจสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพรวม ท่ามกลางปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มเป็นที่จับตามองเช่นเดียวกัน เริ่มเป็นประเด็นภายหลังจังหวะการขยายตัวของฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มแผ่วจากปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภาครัฐที่เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อสำหรับการซื้อบ้านหลังที่สอง แหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่งวดลง รวมถึงปัญหาอุปสงค์ที่ไม่สมดุลกับอุปทาน ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าวส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมค่อนข้างมาก เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 13.0 ของจีดีพี อีกทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องยังมีผลทางจิตวิทยาผ่านความมั่งคั่งของครัวเรือนที่ลดลง (Wealth effect) รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคการเงินผ่านการเสื่อมค่าของหลักประกันเงินกู้ เนื่องจากการปล่อยกู้แทบทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์จีนเป็นการปล่อยกู้โดยใช้อสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน แม้ว่าล่าสุดทางการจีนจะออกมาผ่อนคลายกฎเกณฑ์การซื้อบ้านหลังที่สองเพื่อกระตุ้นอุปสงค์จากผู้ซื้อ ทว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์คงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะในการฟื้นตัว และบทบาทในฐานะตัวกระตุ้นเศรษฐกิจก็คงต้องลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นที่ยังมีความเปราะบาง รวมถึงกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในหลายๆ ภูมิภาคของโลก ที่ยังคงมีปัญหาด้านเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก ประกอบกับแนวโน้มการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตที่ที่ภาคธุรกิจจีนหันไปลงทุนผลิตสินค้าในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ท่ามกลางความสามารถทางการแข่งขันของจีนเองที่ถดถอยลง รวมถึงภาพลักษณ์และคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทอาหารของจีน ที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก ทำให้คาดว่าปี 2558 คงเป็นอีกปีหนึ่งที่จีนจะไม่สามารถคาดหวังให้การส่งออกเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาคึกคักได้ สะท้อนจากภาพรวมการส่งออกของจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3 นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่หลายๆ ประเทศผลักดันการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม อันส่งผลให้ค่าเงินของหลายๆ ประเทศปรับตัวลดลง ขณะที่จีนมีการตรึงค่าเงินหยวนไว้กับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่า ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าจีนในตลาดโลกลดลง ทั้งนี้ ยังต้องติดตามมาตรการทางด้านค่าเงินที่ทางการจีนอาจนำออกมาในระยะข้างหน้าต่อไป หลังจากที่จีนมีการขยายช่วงความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อต้นปี 2557
อย่างไรก็ดี ปี 2558 ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะ “New normal” ซึ่งทางการคงต้องใช้เครื่องมือเชิงนโยบายทั้งการเงินการคลังในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม ท่ามกลางข้อจำกัดในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายแบบระมัดระวัง เช่น โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอาจลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Ratio) ลงเพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยกู้มากขึ้น และการดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุก ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังจะส่งผลทางบวกต่อความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวของจีนด้วย จึงทำให้คาดว่า ประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น คงอยู่ในภาวะที่สามารถบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2558 แม้จะชะลอลงต่อเนื่อง ทว่า การส่งออกของไทยไปยังจีนน่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นด้วยผลของฐาน หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะขยายตัวในช่วงร้อยละ (-0.5)-4.5 โดยสินค้าส่งออกหลักดั้งเดิม กล่าวคือ ยางพาราและสินค้าขั้นกลาง ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการส่งออกของจีนที่ชะลอตัวลง ขณะที่ มันสำปะหลังและผลไม้ยังคงเป็นสินค้าดาวเด่น
โอกาสในระยะยาวของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไปจีนคงอยู่ที่ความสามารถในการปรับโครงสร้างสินค้าออก จากเดิมที่เน้นการส่งออกกลุ่มสินค้าขั้นกลาง มาเพิ่มสัดส่วนในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคให้มากขึ้น สอดคล้องไปกับแนวนโยบายในการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของทางการจีนที่เน้นการบริโภคภาคครัวเรือน การใช้ช่องทางการขายสินค้าใหม่ๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดจีน เช่น ช่องทางการค้าปลีกออนไลน์ และรวมถึงการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ทางเมืองตอนในและภาคตะวันตกของจีน ซึ่งระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นเมืองคงสูงขึ้นเป็นลำดับต่อไป