มาตรการ QE แรงหนุนเศรษฐกิจไทย คาดการณ์เงินสะพัด 4 หมื่นล้านบาท


        ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการ QE อย่างเต็มรูปแบบ อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 6 หมื่นล้านยู โร ทำให้ค่าเงินยูโรยังมีแนวโน้มอ่อนค่า พร้อมกดดันผลตอบแทนตราสารหนี้ไม่ปรับสูงขึ้นส่งผลเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย

        จากสถานการณ์เศรษฐกิจของยูโรโซนทรุดตัว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนฟางเส้นสุดท้ายคือ เงินเฟ้อที่พลิกไปอยู่ร้อยละ 0.2 ในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป ECB ตัดสินใจประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และเมื่อรวมกับตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเริ่มซื้อก่อนหน้านี้แล้ว เป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนมีนาคม ไปอย่างน้อยจนถึงเดือนกันยายนปีหน้า นั่นหมายความว่า ECB อัดฉีดเงินเข้าระบบถึง 1.1 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 40 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบ 4 เท่าของ GDP ไทยต่อปี

         เมื่อเทียบมาตรการ QE ของยุโรปล่าสุดกับ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งเคยเข้าซื้อสินทรัพย์สูงถึง 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึงแม้เมื่อเทียบเม็ดเงินโดยตรง QE ของ ECB จะน้อยกว่าของเฟดประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่หากนำขนาดของเศรษฐกิจมาพิจารณา พบว่าการเข้าซื้อต่อเดือนของ ECB อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของ GDP ของยูโรโซน สูงกว่าของ FED ที่ร้อยละ 0.5 ดังนั้น TMB Analytics จึงมองว่าการขยับครั้งใหญ่ของอีซีบีในครั้งนี้ อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในยูโรโซนได้ไม่มากก็น้อย

         แน่นอนว่าเมื่อ ECB ออกมาตรการใหญ่ขนาดนี้ ย่อมมีผลต่อตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลังการประกาศค่าเงินยูโรจากระดับประมาณ 37.8 บาทต่อยูโร ให้อ่อนค่ามาอยู่ที่ 37 บาทต่อยูโร TMB Analytics มองว่าค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่า จากเม็ดเงินที่จะทยอยไหลเข้ามาในอนาคต โดยประเมินว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาน่าจะไหลเข้าไปในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนยังต้องระวังความเสี่ยงที่ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี เม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาน่าจะอยู่ในระดับสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3 พันล้านบาทต่อเดือนในช่วงท้ายของปีที่แล้ว และกดดันให้ผลตอบแทน (yield) ของตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป