คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โครงการช่วยเหลือ SMEs


คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium : SMEs) ตามที่รองนายกรัฐมนตรี เสนอ
 
        พลเอก  ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) เป็นประธานการประชุม  ซึ่งที่ประชุมได้มติเห็นชอบให้นำโครงการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งโครงการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย และ 5 มาตรการ ดังนี้ 
                   
1. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) 
        เพื่อช่วยเหลือประคับประคองผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และสถาบันการเงินเอกชนชะลอการปล่อยสินเชื่อ และส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่พอจะมีศักยภาพ จำเป็นต้องปรับปรุงกิจการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้สามารถก้าวข้ามวัฏจักรขึ้นเป็นขนาดกลาง และเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community :  AEC) สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาด AEC ได้ เป็นการสร้างเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการมีสถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน
 
2. โครงการ Machine Fund 
        เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และกระบวนการผลิตให้แก่ SMEs โดยการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องจักร ให้มีประสิทธิภาพ รองรับการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงขึ้น และการขาดแคลนแรงงานในอนาคต และเพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ
 
3. มาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institutions : SFIs) 
        สามารถผ่อนปรนการวิเคราะห์สินเชื่อให้กับ SMEs ที่ติด Blacklist กับเครดิตบิวโร (บริษัท ข้อมูลเครดิต จำกัด) เพื่อให้ SFIs อื่นที่เข้าร่วม สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีประวัติ Black List ในเครดิตบิวโรได้ โดยพิจารณาจากความตั้งใจของผู้ประกอบการ  สถานะ และการประกอบธุรกิจในปัจจุบันของผู้ประกอบการ SMEs
 
4. มาตรการผ่อนปรนการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) วันที่ 17 ธ.ค.57  
        โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยกู้แก่ลูกค้า ซึ่งได้ขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น และทำให้วงเงินใหม่เกิน 15 ล้านบาท (ก่อนวันที่ คนร. มีมติห้าม) เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย และ ลูกค้ารายใหม่ที่มีศักยภาพไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายเช่นเดียวกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว 
 
5. มาตการเพิ่มวงเงินที่รัฐบาลชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs 
         ในปีแรกที่ให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และช่วยให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน และมีการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น                
 
6. มาตรการชะลอการโอนอำนาจจากกระทรวงการคลัง กรณีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) 
        ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว
 
7. มาตการทบทวนการกำหนดตัวชี้วัด (Key Performance Indicator : KPI) 
         ของ SFIs ให้สอดคล้องกับพันธกิจโดยให้พัฒนาจากผลกำไรเป็นตัวชี้วัดหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  โดยมีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับพันธกิจในการพัฒนาและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทั่วไป เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs  โดยไม่พิจารณาจากผลกำไรเป็นตัวชี้วัดหลัก
 
8. โครงการขยายสาขาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 
         ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตในพื้นที่เศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญ และเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการของ ธพว. ได้อย่างสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่าย
 
9. โครงการจัดตั้ง Website 
        เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายสินค้า และบริการ SMEs รายย่อย เพื่อสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยและในกลุ่ม ASEAN+6  โดยเฉพาะ  SMEs ขนาดเล็กและรายย่อยให้เข้าถึงผู้ซื้อทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศได้โดยตรง และเพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหาสินค้าให้กับ SMEs และผู้ซื้อ    
 
10. โครงการศูนย์ให้บริการธุรกิจ SMEs แบบครบวงจร (SME.One-stop Service Center) 
         เพื่อจัดตั้งศูนย์บริการ SMEs ครบวงจร เพื่อกระจายการให้บริการส่งเสริม SMEs ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้เข้าถึงนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริม SME แบบบูรณาการ ลดขั้นตอนระยะเวลาการบริการ และเพื่อสนับสนุนการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาธุรกิจ SMEs ให้เข้มแข็งยั่งยืนเป็นกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคง 
  
         โครงการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของภาครัฐ และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการของ SMEs ซึ่งจะทำให้ SMEs มีความเข้มแข็งและส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวให้สามารถยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้โดยเร็ว