Digital Economy กับ SME โดย ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต


ในระยะนี้เมื่อไปไหนก็ได้ยินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาลกำลังผลักดันเป็นประจำ   นิตยสารและหนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวเรื่องนี้มาก  รายการข่าวโทรทัศน์ก็นำเสนอทั้งข่าวและถ่ายทอดคำบรรยายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ประชาชนได้รับทราบเช่นกัน

               คำถามที่คนทั่วไปสงสัยที่ว่า Digital Economy หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล คืออะไรนั้น มีคำตอบได้หลากหลายมากสุดแท้แต่มุมมอง   ในภาพรวมนั้นเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะกำหนดแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ที่พวกเรารู้จักกันนั่นเอง

               การที่รัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญก็เพราะ  ในความเป็นจริงนั้นการปฏิบัติงานในภาครัฐของไทยนั้นไม่ได้มีความเข้มแข็งทางด้านไอซีทีเท่าใดเลย   ระบบไอซีทีที่ขึ้นหน้าขึ้นตาในภาครัฐก็มีแค่เพียงระบบเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ซึ่งนำไปสู่การให้บริการทำบัตรประชาชนได้รวดเร็ว, ทำหนังสือเดินทางได้โดยไม่ยุ่งยาก, และ เผื่อแผ่ข้อมูลไปให้อีกหลายสิบหน่วยงานใช้ในการตรวจสอบและให้บริการประชาชน.  สำหรับระบบอื่นๆ ที่พวกเราไปเกี่ยวข้องด้วย ก็มีระบบชำระภาษีเงินได้ออนไลน์, ระบบตรวจคนเข้าเมือง, ระบบตรวจสอบพิกัดสินค้าศุลกากร, ระบบการให้บริการในโรงพยาบาล และบริการปลีกย่อยอื่นๆในหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง

               แต่การใช้ไอซีทีของไทยเองยังไปไม่ถึงระดับที่สามารถบูรณาการระบบงานของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน  แม้แต่เวชระเบียนของต่างโรงพยาบาลกันก็ยังไม่สามารถบูรณาการกันได้ 

               ในทางตรงกันข้าม  ระบบในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร, อุตสาหกรรม, ผู้ประกอบการพาณิชย์ทั้งหลายได้ก้าวหน้าไปมาก   การขายสินค้าแบบออนไลน์ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นจนพลอยทำให้บริษัทไปรษณีย์ไทยได้รับอานิสงค์ค่าจัดส่งสินค้าไปด้วย.

               ด้วยเหตุนี้เอง  การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องดีเพราะวัตถุประสงค์หลักก็คือการผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านการสื่อสาร, เครือข่าย และ ระบบไอทีทั้งหลายในภาครัฐให้สามารถจัดทำบริการแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ  หน่วยงานต่างๆ ต้องสามารถเชื่อมโยง และบูรณาการการทำงานร่วมกัน  ต้องให้การสนับสนุนแก่ภาคเอกชนในการใช้ไอซีทีที่ก้าวหน้าในการทำธุรกิจในระดับที่สามารถแข่งกันประเทศอื่นๆได้  และ ต้องจัดทำศูนย์ข้อมูลและศูนย์สารสนเทศที่มีข้อมูลสำคัญที่ภาคเอกชนและประชาชนสามารถเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์ได้ด้วย

               วัตถุประสงค์ที่กล่าวมานี้  ดูเหมือนว่าจะไปเน้นที่ภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ดังกล่าวมาข้างต้น  ตรงนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญต่อมาก็คือ  แล้ว SME จะได้ประโยชน์อะไรและจะต้องทำตามกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลหรือไม่

               คำตอบดูจะชัดเจนอยู่ในตัว  นั่นคือถ้าหากหน่วยราชการทั้งหลายยกระดับการปฏิบัติงานจากการใช้มือและกระดาษไปใช้ระบบดิจิทัล หรือระบบไอทีหมด   การสื่อสารติดต่อของ SME กับหน่วยราชการทั้งหลายก็ต้องใช้ระบบดิจิทัลเช่นกัน  นั่นทำให้ SME ต้องปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจโดยพิจารณานำอุปกรณ์ดิจิทัล (ซึ่งก็คืออุปกรณ์ไอที) มาใช้เป็นเครื่องมือในงานต่างๆอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ทั้งในส่วนที่เป็นงานบริการ, งานขาย, งานผลิต, งานบัญชี, งานสนับสนุนลูกค้า, งานสินค้าคงคลัง, ฯลฯ  และที่สำคัญที่สุดก็คืองานตัดสินใจ

               เจ้าของและผู้บริหาร SME ในปัจจุบันเริ่มรู้จักใช้ข้อมูลและสารสนเทศมากขึ้นกว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว  แต่ข้อมูลและสารสนเทศที่มีเฉพาะที่เกี่ยวกับการผลิตและการบริการของตนเองเท่านั้นไม่เพียงพอแล้ว    SME จะต้องรู้ข้อมูลและสารสนเทศของคู่แข่งทั้งในประเทศและในอาเซียน   SME จะต้องรู้สารสนเทศเกี่ยวกับลูกค้าและพฤติกรรมความชอบของลูกค้าทั้งภายในประเทศและในอาเซียน   SME จะต้องเข้าใจแนวโน้มเกี่ยวกับความคิดของลูกค้า และจะต้องติดตามว่าสังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

               ข้อมูลและสารสนเทศเหล่านี้มาจากสื่อต่างๆมากมายและที่สำคัญก็คือ สื่อสังคม หรือ Social Media ที่กำลังมีบทบาทสำคัญจนถึงขั้นอาจชี้เป็นชี้ตายให้ SME ได้

               ดังนั้นคำถามจึงไม่ใช่ว่า SME จะต้องตามกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลหรือไม่ เพราะไม่ว่ารัฐบาลชุดต่อๆไปจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่  SME ก็ยังคงจะต้องทำตนให้อยู่ในกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกต่อไปอย่างหนีไม่พ้น

               ถึงเวลาแล้วที่  SME จะต้องคิดทบทวนใหม่ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไรทั้งในด้านการพัฒนาให้การดำเนินธุรกิจของตนเองเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น, การจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศให้เป็นระบบและสามารถช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น,  การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้ผลิต, ผู้จำหน่าย, ลูกค้า และ หน่วยราชการเพื่อให้สามารถเห็นโอกาสทางธุรกิจได้ดีขึ้น, การปฏิบัติงานรวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้น,  ตลอดจนทำให้ลูกค้าและผู้รับบริการมีความผูกพันอย่างจริงใจกับตัวเรามากขึ้น.

               ในช่วงที่เรากำลังจะเปิดประตูไปสู่ความเป็นอาเซียน  หน่วยงานราชการก็จะต้องสนับสนุนงานเอกชนมากขึ้น  เอกชนก็ต้องช่วยสนับสนุนงานราชการตามไปด้วยเช่นกัน   เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการสนับสนุนกันและกันในทำนอง symbiosis  ได้เป็นอย่างดี   และนี่อาจจะเป็นทางเดินทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับ SME และประเทศไทยก็ได้.