นักวิจัยสัตว์ป่าไทย ค้นพบค้างคาวแวมไพร์แปลงสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก


          มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทีมนักวิจัยนำโดย ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบค้างคาวสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่าค้างคาวชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Eudiscoderma thongareeae มีชื่อไทยว่าค้างคาวแวมไพร์แปลงทองอารีย์ และชื่อสามัญว่า Thongaree’s Disc-nosed Bat โดยค้างคาวสกุลใหม่นี้จัดอยู่ในวงศ์ค้างคาวแวมไพร์แปลง (family Megadermatidae) แต่มีลักษณะที่แตกต่างจากอีก 4 สกุลที่มีในวงศ์นี้ โดยมีแผ่นจมูกเป็นรูปวงกลม จึงตั้งชื่อสกุลว่า Eudiscoderma ที่หมายถึงแผ่นจมูกเป็นรูปวงกลมคล้ายแผ่นดิสก์ และตั้งชื่อชนิดว่า Eudiscoderma thongareeae เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณศิริพร ทองอารีย์ อดีตหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา ผู้ทำงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ภาคใต้ของไทยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมาตลอดชีวิตราชการจนกระทั่งเกษียนอายุเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว
        บทความการค้นพบและตั้งชื่อค้างคาวแวมไพร์แปลงทองอารีย์นี้ได้รับการตีพิมพ์รายงานอย่างเป็นทางการในวารสารวิชาการ Zootaxa โดยค้างคาวชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกโดยคุณอมร ประจักษ์จิตร หนึ่งในผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นคุณอมรเป็นผู้ช่วยวิจัยของคุณศิริพรที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลา และเข้าใจว่าน่าจะเป็นค้างคาวชนิดใหม่ในสกุล Megaderma ที่พบได้ทั่วไปในเอเชีย แต่หลังจากมีตัวอย่างเพิ่มเติมและคณะผู้เขียนบทความได้เทียบเคียงกับตัวอย่างค้างคาวสกุลอื่นๆในออสเตรเลียและแอฟริกาแล้วพบว่าจริงๆแล้วเป็นค้างคาวสกุลใหม่เลยด้วย
       การตั้งชื่อค้างคาวสกุลใหม่นี้ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งทาง ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข ผู้เขียนหลักของบทความเผยว่า “การพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สกุลใหม่ในยุคปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจสำหรับคนในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะปกติการค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แล้วครั้งนี้เป็นการพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสกุลใหม่ด้วย ยิ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น ค้างคาวสกุลใหม่นี้ยังถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสกุลเดียวที่เป็น endemic genus หรือสกุลที่พบเฉพาะในประเทศไทยที่เดียวเท่านั้น การค้นพบครั้งนี้ช่วยทำให้เราเข้าใจรูปแบบการกระจายและความหลากหลายทางชีวภาพของค้างคาวดียิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นว่างานวิจัยพื้นฐานด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยมีความสำคัญและยังมีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อีกเยอะ”
       ค้างคาวแวมไพร์แปลงทองอารีย์พบได้เฉพาะในป่าดิบชื้นที่ราบต่ำของป่าบาลา จ.นราธิวาสเท่านั้น ซึ่งป่าผืนนี้มีความสำคัญมากในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังต้องการการสำรวจสัตว์ป่าอีกมาก และทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลาบาลากำลังเร่งดำเนินการสำรวจและวิจัยสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าผ่านงานวิจัยทางวิชาการ