“Uber และ Lyft” Taxi สายพันธ์ใหม่จากสหรัฐอเมริกา
ผศ.ดร. คม คัมภิรานนท์
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
[email protected]
การให้บริการรถ taxi มักจะได้รับความนิยมจากผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ๆอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในเมืองนิวยอร์คที่เราเห็น taxi สีเหลืองในหนังที่ให้บริการทั่วเมือง หรือในกรุงเทพมหานครที่มี taxi ให้บริการหลากหลายบริษัท ซึ่งแม้ว่า taxi จะได้รับความนิยมอย่างสูง อย่างไรก็ตามปัญหาของการใช้บริการรถ taxi ก็มีให้พบเห็นอยู่เสมอ เช่นจำนวนรถที่มีน้อย หรือการบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
หลายท่านอาจเคยใช้บริการของบริษัท Uber ที่ได้เข้ามาให้บริการ taxi รูปแบบใหม่ในกรุงเทพฯ โดยผู้โดยสารสามารถเรียก taxi ผ่าน application บน smart phone และสามารถทราบค่าโดยสารล่วงหน้า โดยหักค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตที่ได้ลงทะเบียนไว้กับ application ของ Uber ซึ่งแม้ค่าโดยสารอาจจะแพงกว่าค่าโดยสาร taxi ปกติ แต่ผู้โดยสารจำนวนมากก็ให้ความสนใจใน Uber เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้อย่างดี
ภาพประกอบ: Uber application
ที่มา: https://www.uber.com/features
นาย Travis Kalanick ผู้ก่อตั้งบริษัท Uber ได้แรงบันดาลใจมาจากที่วันหนึ่งเขาต้องรอคอย taxi ที่เมืองปารีส ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บโดยไม่รู้ว่าจะมี taxi ผ่านมาเมื่อใหร่ โดยบริษัท Uber ก่อตั้งในปี 2009 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซาน ฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันให้บริการในกว่า 200 เมืองใน 55 ประเทศทั่วโลก ในปี 2011 บริษัท Uber มีเงินลงทุน (venture capital) จำนวน 49 ล้าน US Dollar และเพิ่มเป็น 2 พันแปดร้อยล้าน US Dollar ในปี 2015 นับเป็นการเติบโตอย่างโดดเด่น ที่ฉีกแนวการทำธุรกิจ taxi แบบเดิมๆ
อีกหนึ่งบริษัทที่เติบโตเร็วเช่นกันคือบริษัท Lyft (ออกเสียงเหมือนคำว่า Lift) ที่ก่อตั้งในปี 2012 ซึ่งเพียง 1 ปีต่อมามีเงินลงทุนถึง 83 ล้าน US Dollar และเพิ่มเป็น 2 พันห้าร้อยล้าน US Dollar ในปี 2015 ใครที่ไปซานฟรานซิสโกอย่าแปลกใจถ้าเห็นหนวดสีชมพูขนาดใหญ่ที่ติดอยู่หน้ารถยนต์บางคัน เพราะนั่นคือสัญลักษณ์ของบริษัท Lyft ที่มักจะทำให้คนที่เห็นอดยิ้มไม่ได้เลยทีเดียว
ภาพประกอบ: สัญลักษณ์หนวดสีชมพูของบริษัท Lyft
ที่มา: http://www.wired.com/images_blogs/business/2013/08/lyft.jpg
ทั้งนี้ บริษัท Lyft ใช้ประโยชน์จาก application บน smart phone เช่นเดียวกันกับบริษัท Uber โดยผู้โดยสารสามารถขอใช้บริการจากผู้ให้บริการที่ขับรถอยู่ในละแวกนั้น ซึ่ง application นี้จะแสดงชื่อผู้ขับ คะแนนความพึงพอใจที่ได้รับจากผู้ใช้บริการก่อนหน้า รวมถึงรูปคนขับและรถที่ขับ
ทั้งบริษัท Uber และ Lyft ต่างนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้โดยสารวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอ taxi แบบไร้ความหวังอีกต่อไป นอกจากนี้ยังตัดปัญหาด้านการจ่ายเงินสด รวมถึงปัญหากรณีที่ผู้ขับ (หรือแม้แต่ผู้โดยสาร) มีกริยามารยาทที่ไม่ดี เพราะทั้งสองฝ่ายจะต้องประเมินความพึงพอใจของกันและกันผ่านทาง application เมื่อสิ้นสุดการให้บริการ ซึ่งคะแนนประเมินจะอยู่ติดกับ profile ของตนไปตลอด ทำให้ผู้ขับ(หรือผู้โดยสาร) สามารถเลือกผู้รับ (หรือผู้ให้บริการ) ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม บริิษัท Lyft ก็มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ต่างจากบริษัท Uber เพราะ Lyft นั้นเน้นทำการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนหนุ่มสาวผู้ชื่นชอบเทคโนโลยี และต้องการประสบการณ์ที่เป็นกันเองระหว่างผู้ขับและผู้โดยสาร ด้วยสโลแกน “Your friend with a car” ซึ่งทำให้เราเหมือนไปนั่งรถเพื่อน แทนที่จะรู้สึกว่าเหมือนไปนั่ง taxi ทั่วไป
แต่เส้นทางธุรกิจของบริษัท Uber และ Lyft ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะคนทั่วไปก็สามารถลงทะเบียนเป็นคนขับรถให้กับบริษัท Uber หรือ Lyft ได้ ถึงแม้ผู้ขับจะต้องทำตามกฎกติกาที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด (ซึ่งรวมถึงรุ่นและอายุของรถที่สามารถนำมาให้บริการ) การทำธุรกิจนี้นี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงทางกฎหมายในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ว่าการให้บริการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของกระทรวงคมนาคมหรือไม่ รวมถึงประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับหากมีการอนุญาตให้การบริการในลักษณะนี้เข้ามาใช้ในประเทศไทย
นอกจากนี้ แต่เดิมรถที่ใช้ขับสำหรับบริษัท Lyft จะต้องติดหนวดสีชมพูหน้ารถด้วย แต่ภายหลังบริษัท Lyft เปลี่ยนไปใช้เป็นหนวดพลาสติกขนาดเล็กที่ติดภายในรถแทนเพื่อลดความเด่นของสัญลักษณ์ดังกล่าว สาเหตุหนึ่งเกิดมาจากความไม่พอใจของคนขับรถ taxi ทั่วไป ที่เพ่งเล็งคนขับรถของ Lyft ซึ่งมาแย่งกลุ่มลูกค้าไป
ใครที่สนใจใช้บริการกับบริษัท Lyft ในกรุงเทพฯคงต้องรอไปก่อน เพราะขณะนี้ให้บริการในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ผู้ที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.lyft.com