เผยกุ้งไทยส่งออกไปสหรัฐฯหลุดข้อกล่าวหาทุ่มตลาด


เผยกุ้งไทยส่งออกไปสหรัฐฯหลุดข้อกล่าวหาทุ่มตลาด ทูตพาณิชย์ชี้ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีฯ FDAมะกันเข้มตลาดคู่แข่งพบยาปฏิชีวนะ-ตายด่วน ระบุเป็นโอกาสเพิ่มการค้าของไทย

น.ส.ประนิตา เกิดพิกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐ เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมกุ้งสหรัฐฯ (The Coalition of Gulf Shrimp Industries: COGSI) ยื่นอุทรณ์คดีกล่าวหา กุ้งนำเข้าจากแหล่งนำเข้า 7 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม จีน เอควาดอร์ อินเดีย และ มาเลยเซีย และ อินโดนิเซีย ส่งผลเสียอุตสาหกรรมกุ้งในประเทศสหรัฐฯ และเรียกร้องให้เรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุด (CVD) ต่อศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US Court of International Trade : CIT)นั้น  ผู้พิพากษา Gregory W. Carman ตัดสินยกฟ้องคดีกุ้งนำเข้าจากต่างประเทศไม่ได้ส่งผลเสียอุตสาหกรรมกุ้งในประเทศสหรัฐฯ

ทั้งนี้ผู้พิพากษามีความเห็นว่า การฟ้องร้องไม่ถูกต้อง และยืนยันว่า คำตัดสินของคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา (US International Trade Commission : ITC ) มีความถูกต้องแล้ว เนื่องจากความเสียหายของอุตสาหกรรมกุ้งสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลาการสืบสวน เป็นผลจากน้ำมันดิบของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมกุ้ง มากกว่าเป็นผลกระทบจากกุ้งนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้แหล่งผลิตในต่างประเทศ(7 ประเทศ) มองเห็นโอกาสและช่องทางการค้า จึงใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องการค้าไม่เป็นธรรม

“คำตัดสินของศาลการค้าระหว่างประเทศเป็นผลให้สินค้ากุ้งนำเข้าจากแหล่งผลิต 5 แห่ง คือ ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย และ บราซิล ไม่ต้องเสียภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซ้ำสอง ให้สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มนำเข้าสินค้ากุ้งของไทยมายังสหรัฐฯ”น.ส.ประนิตา กล่าว

สำหรับภาวะการค้ากุ้งในตลาดโลกนั้น อินเดียประสบปัญหาโรคกุ้ง และ ปัจจุบันองค์การอาหารและยา(FDA) ของสหรัฐฯ ได้เข้มงวดกักกันสินค้าอาหารทะเลนำเข้าจากอินเดีย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย เนื่องจากพบว่า มียาปฏิชีวนะเจือปน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของสินค้ากุ้งของไทย

           นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกสินค้ากุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง)ปี58ของไทย คาดว่าจะมีมูลค่า 1,948.05 ล้านเหรียญฯ หรือ ขยายตัว 5% โดยการส่งออกใน 2 เดือนแรก(ม.ค. – ก.พ. 58)แบ่งเป็นการส่งออกกุ้งสด แช่เย็น     แช่แข็ง และแปรรูป มีมูลค่ากว่า 218 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นปริมาณรวม 19,956 ตัน แบ่งเป็น กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง ปริมาณ 9,228 ตัน เพิ่มขึ้น 7.5% และกุ้งแปรรูป ปริมาณ 10,728 ตัน เพิ่มขึ้น 15.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 

“สินค้ากุ้งของไทยคุณภาพและกระบวนการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ  แม้ว่าช่วง 2 ปี จะประสบปัญหาผลผลิตลดลง การขาดแคลนแรงงาน  และอื่นๆ หากสนับสนุนให้มีการแปรรูป ส่งเสริมความหลายหลายในผลิตภัณฑ์ การขยายตลาด และการจัดระเบียบผู้ประกอบการและยกระดับมาตรฐานด้านสถานที่แปรรูปสัตว์น้ำ คาดว่าจะสามารถส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น”นางนันทวัลย์ กล่าวและว่า สำหรับความแปรปรวนของสภาพอากาศร้อนและแล้งส่งผลต่อความเค็มของน้ำที่มีผลต่อน้ำที่นำมาใช้เพาะเลี้ยงกุ้งในฟาร์ม

ตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร แคนาดา และเกาหลีใต้ รวมกัน คิดเป็นสัดส่วน 84 %ตลาดอื่นที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่  เวียดนาม  322% แอฟริกาใต้ 299% รัสเซีย 112 % อิตาลี 111% และมาเลเซีย 70 %