บทบาทเขตเศรษฐกิจพิเศษในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย


          ความรู้ดี ๆ จากงานสัมมนา One Stop Export Service Center (OSEC) Clinic 2015 เป็นการดำเนินการโดยศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  ในวันพุธที่ 22 เมษายน 2558 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

          คุณพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ที่ปรึกษาด้านนโยบาย (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศณษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้บรรยายในหัวข้อ “เขตเศรษฐกิจพิเศษขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร” ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ บริเวณที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) กำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน การบริหารแรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ การให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และอื่น ๆ ที่จำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ดึงดูด FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) มาเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และแก้ปัญหาความมั่นคง ซึ่งมีกลยุทธ์ คือ สร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เน้นบริเวณชายแดนสำหรับระยะแรก โดยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุน SMEs ไทยและการลงทุนต่อเนื่องของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน จัดระเบียบพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและสินค้าเกษตรลักลอบจากประเทศเพื่อนบ้าน

บทบาทของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งเป็น 3 ระดับได้แก่

1. แต่ละประเทศดำเนินการพัฒนาในส่วนของตนเอง

2. มีความร่วมมือในการพัฒนาระดับ ทวิภาคระหว่าง 2 ประทศแบบไม่เป็นทางการ โดยอาจมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน

3. มีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนาในเรื่องที่ซับซ่อนมากขึ้น เช่น การแก้กฎหมาย/กฎระเบียบ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

            สำหรับแนวทางดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการดำเนินงานภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งรัฐเป็นผู้ให้สิทธิประโยชน์ จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน และปรับกฎระเบียบ เพื่อให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ส่วนประชาชนที่มีส่วนร่วมจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อทรัพยากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และความมั่นคง พร้อมทั้งมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ และมีการกำหนดพื้นที่ตามเขตปกครอง เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ

            พื้นที่ ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 และ 2 ทั้ง 10 จังหวัด ล้วนเป็นพื้นที่ชายแดนบนแนวระเบียงเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (GMS Economic Corridors) ซึ่งสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตในพื้นที่ใกล้เคียงและเขตเศรษฐกิจ รวมทั้งฐานการผลิตของประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในส่วนของ 5 พื้นที่ชายแดน ที่ได้รับพิจารณาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกนั้น ให้ดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป โดยแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมงบประมาณประจำปี 2558 เป็นลำดับแรก จากประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 ขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 ใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย รวม 36 ตำบล 10 อำเภอ พื้นที่รวมประมาณ 1.83 ล้านไร่ (2,932 ตร.กม.) ดังนี้

–  ตาก : 14 ตำบล 886,875 ไร่ (1,419 ตร.กม.) ใน อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด

–  มุกดาหาร : 11 ตำบล 361,542 ไร่ (578.5 ตร.กม.) ใน อ.เมือง อ.หว้านใหญ่ และ อ.ดอนตาล

–  สงขลา : 4 ตำบล 345,187 ไร่ (552.3 ตร.กม.) ใน อ.สะเดา

–  สระแก้ว : 4 ตำบล 207,500 ไร่ (332.0 ตร.กม.) ใน อ.อรัญประเทศ และ อ.วัฒนานคร

–  ตราด : 3 ตำบล 31,375 ไร่ (50.2 ตร.กม.) ซึ่งเป็นพื้นที่ อ.คลองใหญ่ทั้งอำเภอ

และขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย รวม 54 ตำบล 13 อำเภอ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอ นรม. ลงนามในประกาศ ได้แก่

–  หนองคาย : 13 ตำบล 2 อำเภอ ใน อ.เมืองหนองคาย อ.สระใคร

–  นราธิวาส : 5 ตำบล 5 อำเภอ ใน อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ อ.แว้ง อ.ยี่งอ อ.เมืองนราธิวาส

–  เชียงราย : 21 ตำบล 3 อำเภอ ใน อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ

–  นครพนม : 13 ตำบล 2 อำเภอ ใน อ.เมืองนครพนม อ.ท่าอุเทน

–  กาญจนบุรี: 2 ตำบล ใน อ.เมืองกาญจนบุรี

           สำหรับนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจะได้รับการสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 4/2557  โดยสกท. ได้ออกประกาศ คกท. ที่ 4/2557 ลงวันที่ 18 ธ.ค. 57 เรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีสาระสำคัญของการให้สิทธิประโยชน์ จำแนกเป็น 2 กรณี

1) กรณีเป็นกิจการทั่วไป ตามประกาศ คกท. ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับกรณีตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดของประเทศจำนวน 20 จังหวัด

2) กรณีเป็นกิจการเป้าหมายสำหรับ เขตเศรษฐกิจพิเศษตามที่ กนพ.กำหนด ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูงสุด

ในกรณีเป็นกิจการทั่วไป ตามประกาศ คกท. ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับกรณีตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดของประเทศจำนวน 20 จังหวัด จะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ

1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมเป็นเวลา 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี

2. กรณีได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีอยู่แล้ว (กลุ่ม A1 A2) ให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี

3. ให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่า ในการคำนวณภาษี เป็นเวลา 10 ปี 

4. ให้หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้ร้อยละ25 ในการคำนวณภาษี 

5. ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร 

6. ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 5 ปี

7. ให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม ตามที่ BOI จะกำหนด 

8. สิทธิและประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร (ซึ่งจะกำหนดในภายหลัง) 

         ในกรณีเป็นกิจการเป้าหมายสำหรับ เขตเศรษฐกิจพิเศษตามที่ กนพ.กำหนด ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูงสุดได้รับสิทธิประโยชน์คล้ายกันกับกรณีเป็นกิจการทั่วไป ตามประกาศ คกท.  แต่ เปลี่ยนจากข้อที่หนึ่ง การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมเป็นเวลา 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี เป็น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และข้อที่สองกรณีได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีอยู่แล้ว (กลุ่ม A1 A2) ให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี ส่วนข้ออื่น ๆ ใช้เป็นข้อมูลเช่นเดียวกันกับในกรณีเป็นกิจการทั่วไป ตามประกาศ คกท. ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับกรณีตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดของประเทศจำนวน 20 จังหวัด

โดยสิทธิประโยชน์กิจการส่งเสริมการลงทุน มีกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 13 กลุ่มกิจการ ดังนี้

1. อุตสาหกรรมการเกษตร ประมงและกิจการที่เกี่ยวข้อง ( ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา )

2. เซรามิกส์ ( ตาก )

3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง ( ตาก สระแก้ว สงขลา )

4. อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือน ( ตาก สระแก้ว สงขลา )

5. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ( ตาก สระแก้ว )

6. การผลิตเครื่องมือแพทย์ ( ตาก สระแก้ว )

7. อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วน ( ตาก สระแก้ว )

8. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ( ตาก สระแก้ว มุกดาหาร )

9. การผลิตพลาสติก ( ตาก สระแก้ว )

10. การผลิตยา ( ตาก สระแก้ว )

11. กิจการโลจิสติกส์ ( ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา )

12. นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ( ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา )

13. กิจการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ( ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา )