โครงสร้างประเทศไทย ปรับไม่ทันโลก
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
เศรษฐกิจไทยในเชิงโครงสร้างในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ปรับตัวไม่ทันกับการแข่งขันของโลก กล่าวคือ ในขณะที่ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแผ่กว้างและรุนแรง แต่การปรับตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยยังตามไม่ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดัชนี้ชี้วัดที่เห็นได้ชัดคือ การส่งออกและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่งออกไทยในช่วงที่มา อัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4-5% ยิ่งสองปีที่ผ่านมานั้นก็มีการติดลบ และเมื่อเทียบกับในทศวรรตที่ 1980 ถึง 1990 (จนถึงปี 1996) ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 20 % จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก ถ้าดูจากอัตาการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเห็นว่าในช่วงปี 1997 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 4 % ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดของอาเซียน (ยกเว้นบรูไน) และเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 1980 – 1995 ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 8 – 10 % จะเห็นได้ว่า การเติบโตในระยะหลังจะเป็นเพียงครึ่งหนึ่งหรือต่ำกว่าช่วงก่อนหน้านี้ และดัชนีที่แสดงถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงอีกประการคือ คุณภาพทางการศึกษา ปรากฏว่า Global Economic Forum ได้จัดอันดับการศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 8 ของอาเซียน แพ้เวียดนามและกัมพูชา ดัชนีที่ได้กล่าวถึงดังกล่าว ย่อมเป็นภาพฉายถึงปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ปัญหาในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจอาจวิเคราะห์ได้ดังนี้
ประการแรก โลกและภูมิภาคอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา กล่าวคือ เรามีเขตการค้าเสรี (AFTA) ซึ่งหมายถึง สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในอาเซียนเข้าออกระหว่างประเทศสมาชิกมีการเก็บภาษีนำเข้าเท่ากับ 0 และโควตา (NTB) เท่ากับ 0 สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในอาเซียนนั้นหมายถึง สินค้าที่มีการใช้แรงงานและวัตถุดิบ 40% ของอาเซียนประเทศเดียวหรือสองประเทศก็ได้ ก็ถือว่ามีแหล่งกำเนิดในอาเซียนแล้ว ผลดังกล่าวคือ ไม่ใช่แค่สินค้าอาเซียน แต่สินค้าจากทั่วโลกก็จะมีการแปลงสัญชาติเป็นสินค้าอาเซียน ผลของ AFTA ดังกล่าวก็ทำให้สินค้าไทยซึ่งยังมีลักษณะเน้นการใช้แรงงานและวัตถุดิบเป็นหลัก ไม่สามารถแข่งขันในอาเซียนหรือแม้แต่ในไทยได้ เพราะจะมีสินค้าดังกล่าว เช่น สิ่งทอ ที่ผลิตในกลุ่มประเทศ CLMV หรือชิป (Chip) ที่ผลิตในฟิลิปินส์ อินโดนีเซียเข้ามาแข่งขัน นอกจากนี้ไทยยังไม่สามารถแข่งได้ในตลาดโลกเพราะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น เช่น จีน อินเดีย และอื่น ๆ
ประการที่สอง ในช่วงยุคหลังสงครามเย็น (ปี 1989) เป็นต้นมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีการรวมกลุ่มในลักษณะเขตการค้าเสรีและตลาดร่วม ดังนั้นประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มก็จะเสียเปรียบ กล่าวคือ สินค้าเข้าออกต้องเสียภาษีเท่ากับประเทศสมาชิก WTO ที่เรียกว่า MFN Rate แต่ถ้ามีแหล่งกำเนิดในประเทศสมาชิกจะเสียภาษีนำเข้าเท่ากับ 0 ผลคือ สินค้าไทยเมื่อส่งไปประเทศดังกล่าวก็จะเสียเปรียบ เนื่องจากเสียภาษีสูงกว่า นอกเสียจากธุรกิจดังกล่าวจะมีการปรับตัวไปลงทุนเพื่อให้มีแหล่งกำเนิดในประเทศกลุ่มนั้น ๆ การส่งออกของไทยจึงเกิดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ประการที่สาม ระบบการศึกษาของไทยยังอยู่ในสภาพที่สอนให้คนจดจำ แต่ไม่ได้สอนให้เกิดการวิเคราะห์ สอนให้มองแต่ปัจจุบันและอดีต แต่ไม่สอนให้มองไกลไปในอนาคต 5-10 ปี หรือ 10 – 20 ปี ข้างหน้า อีกทั้งระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้เน้นเรื่องคำนวณ ไม่ได้เน้นทาง Reading (การอ่านเพื่อจับประเด็น) ไม่ได้เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และนวัตกรรม มีแต่เน้นจำนวนคนจบปริญญา พูดง่าย ๆ เน้นเรื่องตัวปริญญาแต่ไม่ได้เน้นความรู้จริง ๆ ดังนั้นจึงมีคนเรียนจบปริญญาตรี โท เอก เยอะแยะมากที่เอาเข้าจริงไม่มีความรู้ ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นจะเน้นเรื่องความรู้ เน้นให้รู้จักตนเอง และการใฝ่หาความรู้จึงจะทำให้เจริญ ตัวอย่างเช่น บิล เกตส์ หรือ สตีฟ จ๊อบ ที่ไม่ได้เรียนจบปริญญา แต่รู้จักตนเอง และทำในสิ่งที่ตัวเองรักจนจะประสบความสำเร็จ ระบบการศึกษาของไทยจึงเป็นเหมือนตัวถ่วงและทำให้ไทยตกมาอยู่ที่อันดับ 8 ของอาเซียน กล่าวคือ เวียดนามและกัมพูชา จะเรียนภาษาอังกฤษเพื่อมาใช้งานและต้องการความรู้จริง ๆ ดังนั้นการเรียนแค่ 5 ปีจึงมีความรู้มากกว่าไทยที่เด็กเรียนกว่า 20 ปีแต่ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้
ประการที่สี่ เนื่องจากระบบการศึกษาย่ำแย่ก็สามารถสร้างปัญหาทางการเมืองได้ การเรียนรู้ไม่จริง เชื่อคนง่าย เชื่อแต่ว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ไม่ได้ดูให้ถ่องแท้ว่าประชาธิปไตยหมายถึง กระบวนการที่ต้องชอบธรรมตั้งแต่การเลือกตั้งและการดำเนินงานจนถึงตอนจบ ถ้าเริ่มต้นการเลือกตั้งด้วยการโกงก็นับว่าขาดความชอบธรรม และถ้าไม่ได้โกงแต่บริหารงานแย่ก็นับว่าขาดความชอบธรรมเช่นกัน อีกทั้งตอนจบไม่ยอมออกจากตำแหน่ง โดยในบางประเทศถึงกับต่ออายุการทำงานของตัวเองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ในประเทศที่มีลักษณะเช่นนี้ ถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งและประชาชนมีการศึกษาดี อย่าว่าแต่โกงเลย ถ้าเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์หรือบริหารงานล้มเหลว ประชาชนก็จะออกมากดดันให้ออก ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่ไกลนักของไทย รัฐบาลโกงแล้วโกงอีก ยังมีกองทัพประชาชนมาช่วย ซึ่งกองทัพประชาชนดังกล่าวก็มาจากการหาเสียง แจกเงิน เน้นนโยบายประชานิยม จนในที่สุดก็จะจบลงที่การทำสงครามกลางเมืองถ้าไม่มีการทำรัฐประหารเสียก่อน
ประการที่ห้า เศรษฐกิจของไทยกำลังเผชิญปัญหางบประมาณลงทุนเหลือ 17 % ส่วนที่เหลือคือ งบประมาณประจำที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมากจากนโยบายประชานิยม รัฐจะหารายได้มาได้อย่างไร ในเมื่อประเทศกำลังเสียความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้รายจ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยนเป็นพีระมิดหัวกลับ หมายถึง คนแก่จะมากขึ้น ภาระของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นมหาศาล รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไข จะแก้ไขอย่างไร การจัดตั้งสภาปฏิรูปจะประสบความสำเร็จหรือไม่ยังเป็นปรัศนี