“SME ประหยัดภาษีได้ไม่ยาก”


 

SME ประหยัดภาษีได้ไม่ยาก”

 

เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์

กรรมการผู้จัดการบริษัท จีโนซิส จำกัด

www.gnosisadvisory.com

ที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ การเงิน และแฟรนไชส์

 

 

        ช่วงเวลานี้ (ปลายเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ ต้องเตรียมงบการเงินเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีกันใช่หรือไม่ครับ

       เป็นช่วงเวลาของนักการเงิน นักบัญชี และผู้บริหารของกิจการต้องระดมสมองกันทำงานเพื่อการวางแผนภาษี ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย

       การวางแผนภาษีควรเริ่มต้นตั้งแต่ตั้งกิจการ หรือต้นปีของการดำเนินงาน การทำบัญชีหรือการบริหารการเงินต้องสอดคล้องกับประเภทของธุรกิจที่ทำอยู่ ซึ่งธุรกิจบางประเภทจะได้การลดหย่อนทางภาษี เช่นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งในยุทธศาสตร์ระยะเวลา 7 ปี (2558 – 2564) ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง กิจการเชิงสร้างสรรค์ กิจการหรือบริการที่รองรับการพัฒนา Digital Economy และกิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” 5 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว ตราด และตาก

       อย่างไรก็ดี SME ที่ดำเนินธุรกิจมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และไม่เข้าข่ายประเภทธุรกิจที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน การบันทึกบัญชีทางการเงินอย่างโปร่งใสจะช่วยให้วางแผนภาษีได้ง่ายกว่าปิดบังข้อมูล เพราะปิดอย่างไรก็สามารถตรวจสอบหาข้อเท็จจริงได้ครับ

       ปัญหาที่ผมพบเจอบ่อยๆ สำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีความคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เสียภาษีเงินได้ให้น้อยที่สุด หรือไม่เสียเลยยิ่งดี

       โดยมักจะมาจากการแจ้งรายได้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง หรือมีต้นทุน ค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติ

       แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของการไม่แสดงรายได้ตามจริง ขณะที่ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น มักจะมีเอกสารหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้

       ทั้งนี้….ไม่นับรวมที่สร้างหลักฐานค่าใช้จ่ายปลอมขึ้นมานะครับ

       นอกจากนี้ บันทึกรายการสินทรัพย์บางประเภทที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ทำอยู่ เช่นทำธุรกิจส่งออกแต่มีสินทรัพย์ถาวรเป็นโรงงานหรือมีเครื่องจักรเป็นจำนวนมาก เพื่อลงบันทึกค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่าย เป็นต้น

       พยายามทุกทางเพื่อให้แสดงผลขาดทุนสุทธิในงบกำไรขาดทุน ซึ่งข่าวดีปัจจุบันนี้ธุรกิจ SME ที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นการเสียภาษี อย่างนี้ไม่ต้องพยายามทำงบกำไรขาดทุนแสดงผลขาดทุนเลยครับ และหากมีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียภาษี 15% และมากกว่า 1 ล้านบาทจะเสียภาษี 20% เท่านั้น

       ธุรกิจที่ทำงบการเงินแสดงผลขาดทุนสะสม จะประสบปัญหาในการจัดหาเงินทุนในอนาคต เช่นเมื่อต้องการเงินทุนเพื่อขยายกิจการที่จะต้องติดต่อสถาบันการเงิน เอกสารหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะงบการเงิน และหลักฐานการเสียภาษีที่นำส่งสรรพกร แสดงให้เห็นว่ากิจการมีรายได้น้อย หรือไม่มีผลกำไร

       ถึงแม้ว่าธนาคารจะบอกว่า งั้นเอาตัวเลขจริงๆ มาดู ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นงบจริงรึไม่ หมดความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย

       และหากมีแผนจะนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต การปรับข้อมูลย้อนหลังทำได้ยากมาก ต้องเล่าเรื่องหรือปรับยกเครื่องกันใหม่อีกสักระยะเลย (มากกว่า 2-3 ปี) ให้ตัวเลขกลับมาเป็นความจริง

       เพิ่มเติมการวางแผนภาษีของนิติบุคคล สามารถติดตามดูได้จากสิทธิประโยชน์ที่สรรพกรออกสิทธิใหม่ๆ มาเรื่อยๆ เช่น

  • ค่าเสื่อมราคาในสินทรัพย์ของ SME  สามารถบันทึกในอัตราเร่งได้ด้วยนะครับ เช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรอุปกรณ์ สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ 40% ของต้นทุนที่ได้ซื้อมา  อาคารโรงงาน สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ 25% ของมูลค่าทุนที่ได้ซื้อมา
  • รายจ่ายที่หักได้ 1.25 เท่า ได้แก่ ซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือวัสดุประหยัดพลังงาน
  • รายจ่ายที่หักได้ 1.5 เท่า ได้แก่ เงินสนับสนุนกีฬาตามโครงการยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ
  • รายจ่ายที่หักได้ 2 เท่า ได้แก่ การวิจัยและการพัฒนา การจ้างคนพิการ การฝึกอบรมลูกจ้างและฝึกเตรียมเข้าทำงาน สร้างและรักษาสนามเด็กเล่นสาธารณะ ค่าโรงแรม ห้องสัมมนาเพื่อจัดอบรมให้ลูกจ้าง รายจ่ายร่วมออกร้าน นิทรรศการ งานแสดงสินค้าในและต่างประเทศ

      สามารถตรวจสอบข้อมูลใหม่ๆ ในการวางแผนภาษีเพิ่มเติมได้จากเว็ปไซต์ของสรรพากร www.rd.go.th

      ถ้าผู้ประกอบการใส่ใจเรื่องของการวางแผนทางภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจก็สามารถแสดงรายได้และต้นทุนจริง ในขณะที่ธุรกิจยังมีผลกำไร และสามารถจ่ายภาษีเงินได้ในจำนวนที่ถูกต้องเหมะสม ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเรียกตรวจสอบจากสรรพากรบ่อยๆ ไม่ต้องเตรียมเอกสารหาเหตุผลแอบอ้างให้เสียเวลาและวุ่นวาย

       ไม่ต้องมองหาหรือจ้างนักบัญชี(ที่ไม่มีจรรยาบรรณ)ในราคาสูงเพื่อสร้างงบการเงินไม่จริงขึ้นมา

       ไม่ต้องหาเหตุผลอีกมากมายแก้ต่างข้อมูลในงบการเงิน เพื่อจะโน้มน้าวขอสินเชื่อจากธนาคาร และเงินเพิ่มทุนจากนักลงทุนอื่นๆ

       ความโปร่งใสของข้อมูลทางการเงินจากการตรวจสอบและตรวจทานข้อมูล (Check and Balance) อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ธุรกิจมีมูลค่าชัดเจน และการบริหารจัดการง่ายขึ้น

        หรืออีกนัยหนึ่ง การทำงบการเงินที่ถูกต้องจะประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย และนอนหลับสบายครับ