ตลาดสิ่งทอไทยหดตัว จะอยู่รอดได้ต้องปรับตัวสูง


        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกสิ่งทอของไทยไปยังตลาดโลกปี 2558 จะมีมูลค่าประมาณ 4,400 – 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่เป็นถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกสิ่งทอ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผ้าผืนและเส้นใยประดิษฐ์ ซึ่งยังเป็นสินค้าที่ตลาดเป้าหมายมีความต้องการสูง

        ธุรกิจสิ่งทอ (กลุ่มผ้าผืน เส้นด้ายและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ  ไม่รวมธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม) ยังเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่อยู่ในช่วงชะลอตัว ทำให้ยอดการส่งออกสิ่งทอยังคงหดตัวที่ร้อยละ 6.0 (YoY) หรือมีมูลค่าส่งออก 3 เดือนแรกทั้งสิ้น 1,045.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ผ้าผืนและเส้นใยประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตมากที่สุด ทั้งนี้ หากมองภาพรวมทั้งปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกสินค้าในกลุ่มสิ่งทอของไทยไปยังตลาดโลก มีความเป็นไปได้ว่าจะหดตัวร้อยละ 5.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.0 (YoY) หรือมีมูลค่าประมาณ 4,400-4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อพิจารณารายสินค้า พบว่า สินค้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกสิ่งทอ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผ้าผืนและเส้นใยประดิษฐ์ ซึ่งยังเป็นสินค้าที่ตลาดเป้าหมายมีความต้องการสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในอาเซียนอย่าง กลุ่ม CLMV+I โดยเฉพาะเมียนมา เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่ธุรกิจเครื่องนุ่งห่มยังคงเติบโตสูง จากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นตลาดนำเข้าวัตถุดิบสิ่งทอที่สำคัญในอันดับต้นๆ ได้รับอานิสงส์ไปด้วยในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่สูงมากนัก เพราะราคาสินค้าไทยในขณะนี้มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ อาทิ จีน อินเดียและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีตลาดศักยภาพใหม่ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดียและกลุ่มตะวันออกกลางที่ผู้ประกอบการไทยหันไปเจาะตลาดมากขึ้น ซึ่งแม้สัดส่วนการส่งออกไม่สูงมากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สินค้าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คงต้องยอมรับว่า แข่งขันได้ค่อนข้างลำบากจากอุปสรรคทางการค้าที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ดี ก็ยังมีบางตลาดที่เป็นโอกาส โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมีข้อตกลงกรอบการค้าเสรีด้วย อาทิ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย ชิลี นิวซีแลนด์ ฯลฯ แม้จะเป็นตลาดที่ยังเล็ก แต่ผู้ประกอบการควรจะเข้าไปทำตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่ม Market Share และชดเชยกับยอดการส่งออกในตลาดหลักที่มีแนวโน้มลดลง

        ทั้งนี้ หากมองย้อนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า การส่งออกสิ่งทอของไทยมีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีสาเหตุหลักมาจากภาพการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ในวงการสิ่งทอโลกอย่างจีน อินเดีย ที่มีความได้เปรียบด้านทรัพยากรในประเทศ ทั้งวัตถุดิบ กำลังแรงงาน ที่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำ และทำราคาขายได้ตั้งแต่ต่ำสุดไปจนถึงระดับสูง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่น่าจับตาอย่างอินโดนีเซีย ที่มีพื้นฐานของทรัพยากรที่สนับสนุนในการผลิตสิ่งทอเช่นเดียวกับไทย ก็มีพัฒนาการด้านการผลิตและส่งออกที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะแซงไทยไปอีกขั้น รวมถึงเวียดนาม เสือตัวใหม่ในวงการสิ่งทอโลก ที่เร่งเครื่องส่งออกสิ่งทอป้อนสู่ตลาดโลก ทำให้ยอดการส่งออกสิ่งทอของเวียดนามในแต่ละปีพุ่งแบบก้าวกระโดดและมีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

         ในขณะที่ไทยเอง คงต้องยอมรับว่า ปัญหาด้านโครงสร้างการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานในประเทศทั้งแรงงานในระดับภาคการผลิต ไปจนถึงบุคลากรที่มีฝีมือ ช่างออกแบบ ค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับสูง (เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ) ประกอบกับอุปสรรคทางการค้าที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ อาทิ การสิ้นสุดการได้รับสิทธิ GSP จากประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหภาพยุโรป ความไม่ชัดเจนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยค่อยๆ แผ่วลง เมื่อพิจารณาการทำตลาดสิ่งทอของไทยในอนาคต ในบางสินค้ายังเป็นที่ต้องการของตลาดและมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต อาทิ กลุ่มผ้าผืนและเส้นใยประดิษฐ์ในระดับกลางถึงบนที่เน้นการออกแบบและใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคในอนาคต แต่บางสินค้าปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจแข่งขันได้ยาก โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องแข่งขันด้านราคา ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกสิ่งทอของไทยในระยะข้างหน้า อาจจะต้องวางกลยุทธ์ในการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคปลายทางให้มากขึ้น โดยอาศัยเทรนด์การบริโภคสิ่งทอในตลาดโลกเป็นเข็มทิศนำทาง โดยสินค้าที่ผลิตจะต้องมีคุณภาพและแตกต่าง อีกทั้งมีมูลค่าเพิ่มต่อชิ้นสูงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาโดยตรง

เทรนด์การบริโภคสิ่งทอในตลาดโลก

        เพื่อความอยู่รอดในธุรกิจสิ่งทอในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากการมองเทรนด์ความต้องการที่เกิดขึ้นในตลาดแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ การมองหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายในตลาดศักยภาพและการนำเสนอสินค้าที่มีความแตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งในขณะนี้เทรนด์การบริโภคในตลาดโลกที่น่าจับตา และผู้ประกอบการสิ่งทอไทยมีความสามารถเพียงพอที่จะปรับกลยุทธ์การผลิตสินค้าเพื่อรับกับกระแสดังกล่าว ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภท ดังต่อไปนี้

  • สิ่งทอที่ใช้เป็นวัตถุดิบในสายการผลิตธุรกิจต่อเนื่อง: ธุรกิจต่อเนื่องที่สำคัญที่สุดของสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ คือ ธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม รองลงมาคือ ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีตลาดปลายทางที่สำคัญคือ กลุ่มประเทศผู้ผลิตในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดสิ่งทอสำคัญที่สุดของไทย มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของการส่งออกสิ่งทอของไทยทั้งหมดไปยังตลาดโลก โดยโอกาสที่แฝงอยู่ในตลาดกลุ่มนี้คือ

        1) ธุรกิจต่อเนื่องที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบสิ่งทอ มีแนวโน้มเติบโตสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการเปิด AEC ทำให้เป็นโอกาสทางการค้าที่ดีในการเข้าไปเจาะตลาด ซึ่งตลาดที่น่าจับตามองในภูมิภาคนี้ ได้แก่

  1. เมียนมา สำหรับธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม สินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการคือ ผ้าผืนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานเย็บเสื้อผ้า ในขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตทั้งในส่วนของที่พักอาศัยและโรงแรม เคหะสิ่งทอเพื่อการตกแต่งก็ยังเป็นที่ต้องการอีกมากในตลาดนี้
  2. อินโดนีเซีย ในธุรกิจยานยนต์ของอินโดนีเซียที่กำลังเติบโต จากการขยายฐานการผลิตของนักลงทุนค่ายรถยนต์ต่างๆ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเบาะ เข็มขัดนิรภัย และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ภายในรถยนต์

2) ผู้บริโภคในอาเซียนมีกำลังซื้อสูงขึ้น อีกทั้งยังมีรสนิยมใกล้เคียงกับไทย มีความต้องการสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ดีไซน์ทันสมัย หากผู้ประกอบการสิ่งทอไทยจะเจาะตลาดกลุ่มนี้ นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าในท้องถิ่น ยังสามารถเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติได้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น

        นอกจากนี้ อีกหนึ่งตลาดที่น่าเข้าไปแสวงหาโอกาสสำหรับสินค้าประเภทนี้ก็คือ กลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง เนื่องจากการผลิตในประเทศมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ทำให้ค่าจ้างในธุรกิจสิ่งทออยู่ในระดับสูง สินค้าที่ผลิตได้ในประเทศจึงมีราคาแพงหากเทียบกับสินค้าสิ่งทอที่นำเข้ามา ทำให้สินค้าประเภทสิ่งทอก็ยังเป็นที่ต้องการ โดยมีตลาดศักยภาพที่สำคัญได้แก่ ตุรกี (ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสิ่งทออันดับต้นๆ ของไทย) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เป็นศูนย์กลางการค้าสิ่งทอไปสู่ประเทศที่สามอีกต่อหนึ่ง) และซาอุดิอาระเบีย โดยสินค้าที่มีโอกาสทำตลาดสูง คือ สิ่งทอขั้นกลาง อาทิ ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจที่พักอาศัยและโรงแรมที่ยังเติบโต ยังช่วยหนุนให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มเคหะสิ่งทอเพื่อการตกแต่งที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เทคนิคในการทำตลาดในภูมิภาคนี้ให้ประสบความสำเร็จจะอยู่ที่การนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพดี มีดีไซน์ มีเทคนิคการผลิตที่ทันสมัย อาทิ ผ้าผืนที่กันรังสี UV หรือป้องกันกลิ่นอับ เป็นต้น ในระดับราคาที่สามารถแข่งขันได้ ประการสำคัญคือ เน้นการส่งมอบที่ตรงเวลา เพราะจะต้องมีการส่งออกไปยังประเทศที่สามอีกทอดหนึ่ง รวมไปถึงสามารถสั่งซื้อในปริมาณไม่สูงมากได้

  • สิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Textile): ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยหรือสีย้อมจากธรรมชาติ หรือใช้การผลิตแบบออร์แกนิค 100% ที่ไร้สารเคมีตกค้าง อาทิ กลุ่มเคหะสิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยกัญชง สับปะรด ไหม ผ้าอ้อมเด็กจากฝ้าย เป็นต้น สินค้ากลุ่มนี้สามารถทำตลาดได้ดีในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมผู้บริโภคโลกตะวันตกกำลังอยู่ในยุค Go Green หรือกำลังอยู่ในเทรนด์ของการรักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยผู้นำเทรนด์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นลูกค้าเป้าหมายที่มีความต้องการสินค้าประเภทนี้และมีความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตได้

        หากพิจารณาถึงโอกาสของผู้ประกอบการสิ่งทอไทยในตลาดนี้ อาจจะต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า Niche Market อย่างเช่น กลุ่มผู้สูงอายุหรือเด็ก เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าราคา ในขณะที่สิ่งทอไทยที่คาดว่าจะสามารถทำตลาดได้สูง จะอยู่ในกลุ่มของเคหะสิ่งทอ อาทิ พรม อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ห้องนอน ห้องครัว ห้องรับแขก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอไลฟ์สไตล์ที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เปิดรับนวัตกรรมของสินค้าเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต เช่น สิ่งทอนาโนที่สามารถซัก รีดง่าย ไม่ยับ กันน้ำ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

        อย่างไรก็ดี เทคนิคสำหรับการเข้าสู่ตลาดนี้ที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญอย่างมากก็คือ สินค้าจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสากลทางด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อาทิ EU Flower, REACH, Carbon Footprint ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและมีโอกาสสูงในการเจาะตลาดผู้บริโภค เพราะเปรียบเสมือนการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าไปในตัว สังเกตได้จากยอดการขอรับฉลาก EU Flower ที่มีจำนวนมากขึ้นทุกปี และสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนำอยู่ในอันดับที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่า ทางสหภาพยุโรปต้องการชูประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับปรุงกระบวนการผลิตตามแนวนโยบายนี้

  • สิ่งทอเทคนิค (Technical Textile): ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ/ ประโยชน์ทางด้านเทคนิคมากกว่าความสวยงาม อาทิ ด้านสุขภาพ/การแพทย์ (ผ้าพันแผล/ด้ายเย็บแผล) สิ่งแวดล้อม/การเกษตร (ผ้าคลุมดิน) การกีฬา (ร่มชูชีพ/ผ้ารองเท้ากีฬา) ยานยนต์ (พรม ผ้าหุ้มเบาะ เข็มขัดนิรภัย) เป็นต้น ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้สามารถทำกำไรให้ผู้ประกอบการในระดับสูง เนื่องจากอรรถประโยชน์ในการใช้งานมีมากกว่าสิ่งทอที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด ทั้งนี้ สำหรับสิ่งทอเทคนิคของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ได้แก่ 1) สิ่งทอเทคนิคที่ใช้ในอุตสาหกรรมประเภทยานยนต์ จะพบว่า ผู้ผลิตยานยนต์มีแนวโน้มหันมาใช้สิ่งทอเป็นส่วนประกอบในยานยนต์มากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสิ่งทอเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา และสามารถนำมาปรับใช้งานในยานยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ สินค้ากลุ่มนี้จึงได้รับความสนใจและมียอดส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึง สิ่งทอที่ใช้เป็นอุปกรณ์ในสายโทรศัพท์หรือสายไฟฟ้า สิ่งทอที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต โดยในปี 2557 ที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกถึง 182 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 5.6 (CAGR 2553-2557) 2) สิ่งทอเทคนิคทางการกีฬาและนันทนาการ อาทิ ประเภทเสื้อผ้ากีฬาที่มีคุณสมบัติในการดูดซับเหงื่อ ระบายอากาศ หรือเพิ่มสมรรถภาพขณะที่สวมใส่เล่นกีฬา โดยกลุ่มประเทศที่มีความต้องการสูง ได้แก่ กลุ่มประเทศสหรัฐฯและอียูอย่าง เยอรมนีและอังกฤษ เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์สำหรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society): ปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกอย่างญี่ปุ่น โดยแนวโน้มจำนวนประชากรผู้สูงอายุของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ในปี ค.ศ.2030  รวมไปถึงในแถบตะวันตกอย่าง สหรัฐฯ อังกฤษ อิตาลี สวีเดน และออสเตรเลีย เป็นต้น ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการสินค้าที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจ คุณประโยชน์มากกว่าราคา โดยสินค้าสิ่งทอที่เป็นที่ต้องการของคนกลุ่มนี้ ได้แก่ สิ่งทอประเภทไลฟ์สไตล์ (เครื่องแต่งกาย/ ของตกแต่งบ้าน) สินค้าสิ่งทอประเภท Fashion with Function ที่สามารถสวมใส่ง่าย ดูมีรสนิยม อาทิ ผ้าพันคอ หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น อุปกรณ์พันเข่าที่ทำจากผ้าเพื่อให้สามารถเดินได้สะดวก เป็นต้น