ซื้อทั้งร้าน จะขายเท่าไร


                                     ซื้อทั้งร้าน จะขายเท่าไร

ดร.เรวัต ตันตยานนท์

 

       หัวข้อบทความที่เห็นนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของเศรษฐีขี้หงุดหงิดกับเจ้าของร้านหรือพนักงานขายที่กล่าวคำไม่สบอารมณ์ต่อความร่ำรวยของตนเอง แต่เป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญทางการเงินและธุรกิจที่ SME ควรคำนึงถึงหรือมีความรู้ในเรื่องนี้ไว้บ้างตามสมควร

       วลีที่ยกขึ้นมาว่า “ซื้อทั้งร้าน จะขายเท่าไร” หรือ “ซื้อทั้งบริษัท จะขายเท่าไร” เป็นเรื่องของการตีราคามูลค่าทางการเงินทั้งหมดของธุรกิจของท่านนั่นเอง

       ธุรกิจที่บริหารงานจนประสบความสำเร็จ มีการเจริญเติบโตตลอดเวลาย่อมมีมูลค่าสูงกว่าธุรกิจธรรมดาๆ ที่พออยู่รอด หรือธุรกิจที่ย่ำแย่จะเดินต่อไปได้หรือไม่ยังไม่แน่ใจ ก็คงตีราคาได้ต่ำติดดิน ธุรกิจที่ไปไม่รอด ต้องล้มละลายไปก็พอมีตัวอย่างให้เห็น ซึ่งก็แน่นอนว่าน่าจะมีราคาเป็นศูนย์หรืออาจติดลบไปเลยก็ได้

       มูลค่าเป็นตัวเงินของธุรกิจ อาจมีวิธีการวัดได้หลายแบบ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการดูมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในปัจจุบันว่ามีมูลค่าเป็นตัวเงิน หรือมูลค่าทางบัญชีอยู่เท่าไร

       มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินรวมของกิจการ รวมกับเงินทุนที่เจ้าของนำมาลงทุนและกำไรสะสมที่เกิดจากการทำธุรกิจหักออกด้วยหนี้สินโดยรวมของกิจการ

       สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต อาจนำยอดขายล่วงหน้าที่คาดการณ์ว่าจะขายได้ในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ยอดขายที่คาดว่าจะขายได้ใน 5 ปี หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า มารวมเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าทรัพย์สินด้วยก็ได้

       หากจะมองลงไปในรายละเอียดมากขึ้น ทรัพย์สินของกิจการหรือทรัพย์สินของบริษัท อาจได้แก่ ทรัพย์สินถาวรที่กิจการหาซื้อมาเป็นของตนเอง เช่น ที่ดิน อาคารสำนักงาน โรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง เงินสดที่ถือครองและมีอยู่ในธนาคาร ณ เวลาที่ตีมูลค่า

       ยอดลูกหนี้ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งด้วย เนื่องจากสามารถไปติดตามเก็บหนี้ให้กลายมาเป็นตัวเงินได้ตามภาระผูกพันที่มีอยู่

       ทรัพย์สินอีกส่วนหนึ่งของบริษัท ได้แก่ สินค้าและวัตถุดิบคงคลังที่มีอยู่แล้วนำมาตีค่าเป็นตัวเงิน ในบางกรณีก็จะมีการนำค่าของชื่อเสียงหรือตราสินค้า (แบรนด์) เครื่องหมายการค้า หรือมูลค่าสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทเข้ามารวมตีราคาเป็นมูลค่าทรัพย์สินด้วยก็มี

       ท่านคงเคยเห็นการตีมูลค่าของแบรนด์ดังๆ ทั่วโลกที่มีผู้ประเมินในแต่ละปี และมีมูลค่ามหาศาล เช่น แบรนด์ โคคา-โคล่า (Coca-Cola) ซึ่งเป็นธุรกิจการผลิต มีมูลค่าแบรนด์เป็นอันดับ 1 ของโลกมาหลายปี แต่ปัจจุบันถูกแซงด้วยแบรนด์ของธุรกิจไฮเทคไปแล้ว

       นิตยสารฟอร์บส (Forbes) ตีมูลค่าแบรนด์ของบริษัททั่วโลกในปี 2015 เรียงตามลำดับ ได้แก่ Apple (อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ) 143,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วย Microsoft (ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์) 69,300 ล้านเหรียญสหรัฐ Google (บริการด้านอินเทอร์เน็ต) 65,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

       ส่วนลำดับต่อๆ มา ได้แก่ Coca-Cola, IBM, McDonald, Samsung, Toyota ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งที่ถือว่าต้องนำมารวมในการตีมูลค่าของกิจการก็คือ เงินที่เจ้าของนำมาลงทุนในกิจการ กับกำไรสะสมที่เกิดจากผลการดำเนินธุรกิจ มูลค่าในส่วนนี้ทางบัญชีหรือการเงินมักจะใช้คำศัพท์เรียกว่า “ส่วนของเจ้าของ”

       ในด้านหนี้สินที่จะต้องนำมาหักลบออกจากมูลค่าทรัพย์สิน ได้แก่หนี้สินทางการเงินที่เป็นเงินกู้ยืมหรือสินเชื่อที่ขอมาจากสถาบันการเงินต่างๆ หนี้สินทางการค้า เช่น เจ้าหนี้วัตถุดิบ อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ยังชำระไม่หมด รวมถึงหนี้สินจากสาธารณูปโภคที่ค้างชำระ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ เป็นต้น

       เมื่อนำทั้งหมดมารวมกันก็จะได้สิ่งที่เรียกว่ามูลค่าทางบัญชีของธุรกิจ ซึ่งเป็นมูลค่าโดยตรงที่วัดได้จากฝีมือการบริหารธุรกิจของเจ้าของ หากเจ้าของธุรกิจเห็นว่ามูลค่าจากธุรกิจทั้งหมดยังไม่คุ้มกับแรงความคิด แรงกาย แรงใจ และอื่นๆ ที่ได้ทุ่มลงไปให้กับธุรกิจก็อาจบวกเพิ่มลงไปในมูลค่าของธุรกิจตามที่เห็นสมควรก็ได้

      ดังนั้น เมื่อ SME ได้ทราบพื้นฐานเบื้องต้นทางการเงินเหล่านี้ก็จะพอประมาณได้ว่า มูลค่าของธุรกิจของตนเองในขณะนี้ควรจะตีราคาเป็นตัวเงินได้สักประมาณเท่าไร

       เมื่อมีมหาเศรษฐีจากกลุ่มประเทศอาเซียนสนใจที่จะแหย่เท้าเข้ามาเล่นในตลาดบ้านเราโดยอาศัยธุรกิจ SME ที่ท่านทำอยู่เป็นฐาน ท่านก็จะเจรจาต่อรองโดยไม่เสียเปรียบหรือสูญเสียโอกาสที่ควรจะได้ไป เศรษฐีเหล่านี้มักจะตาคมอยู่แล้ว เห็นมูลค่าและศักยภาพของเรา โดยเราอาจยังไม่ทันคิดหรือยังไม่รู้เลยว่าธุรกิจของเรามีมูลค่าเท่าใด

       SME ไทยในยุคการเข้ามาของ AEC ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เตรียมรุก หรือเตรียมรับ ควรสนใจในเรื่องการบริหารการเงินของธุรกิจไว้ด้วย ตอนนี้ใครอยู่เฉยๆ คงจะไม่ได้แล้วล่ะครับ