ใช้ข้อมูลเป็นเห็นโอกาสธุรกิจ


                                                ใช้ข้อมูลเป็นเห็นโอกาสธุรกิจ

ครรชิต มาลัยวงศ์

            การปฏิบัติงานและการบริหารจัดการต่างๆ ไม่ว่าในหน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ, บริษัทข้ามชาติ, SME หรือแม้แต่งานส่วนตัวของตนเองล้วนจำเป็นต้องใช้ข้อมูลตลอดเวลา.  ในอดีต  เรามักจะพึ่งพาอาศัยแต่เฉพาะความจำของตนเอง หรือของผู้ช่วยเท่านั้น.  เมื่อการปฏิบัติงานมีปัญหาและเราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหา   เราก็ต้องตัดสินใจไปตามความรู้สึก หรือความคิดของตนเองว่าน่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้.  ถ้าโชคดี  การตัดสินใจก็ถูกและทำให้เราแก้ปัญหาได้.  แต่…ส่วนใหญ่แล้ว  การตัดสินใจมักจะผิดพลาดเป็นส่วนใหญ่.   การบริหารประเทศไทยมีปัญหาเรื่องข้อมูลมาโดยตลอด  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ประเทศไทยเดินหน้าถอยหลังสลับไปเรื่อยๆโดยไม่ประสบความรุ่งเรืองสักที.

            ข้อมูล  หมายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์, สินค้า, วัตถุดิบ, การดำเนินการ, ลูกค้า, การใช้จ่ายและการรับเงิน, กฎระเบียบราชการ, พนักงาน, ซัพพลายเออร์ ฯลฯ  ที่กิจการของเราต้องประสบ.  แต่เดิมมา บริษัทห้างร้านขนาดเล็กมักจะจดเฉพาะข้อมูลสำคัญเป็นลายมือลงในสมุดทำการของตนเอง.  เมื่อเกิดความสงสัย  ก็พลิกสมุดทำการอ่านข้อมูลเหล่านั้น.   ปัจจุบันนี้ ข้อมูลทุกด้านล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น  ดังนั้นการจดข้อมูลเก็บไว้เป็นลายมือจึงไม่พอเพียงแล้ว.  บริษัทห้างร้านจำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูล (database) เก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์.

            การจัดเก็บข้อมูลนี้  จำเป็นจะต้องจัดเก็บเป็นเรื่องๆแยกจากกัน  แต่มีกรรมวิธีเชื่อมโยงข้อมูลเรื่องหนึ่งไปยังเรื่องอื่นๆได้.  ยกตัวอย่างเช่น  เราสามารถเชื่อมโยงว่าลูกค้าแต่ละคนซื้อสินค้าอะไรไปบ้าง, ซื้อเมื่อใด, เป็นเงินเท่าใด,  ผ่านเซลส์ชื่ออะไร, สินค้ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ฯลฯ.  การที่จะทำให้แฟ้มข้อมูลต่างๆในฐานข้อมูลเชื่อมต่อกันได้นั้น  มีประเด็นสำคัญอยู่สี่เรื่อง คือ…

1.      จะต้องกำหนดชื่อข้อมูลต่างๆไว้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

2.      จะต้องรู้ว่าข้อมูลแต่ละเรื่องนั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง

3.      จะต้องรู้ว่าข้อมูลแต่ละเรื่องนั้นมีที่มาอย่างไร และ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ

4.      จะต้องรู้ว่าผู้ปฏิบัติหรือผู้บริหารต้องการได้รายงานอะไรบ้าง

เมื่อมีรายละเอียดเหล่านี้แล้วจึงจะสามารถออกแบบและสร้างฐานข้อมูลได้อย่างเหมาะสม.  การออกแบบและสร้างฐานข้อมูลในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่ยากมากนัก.   ห้างร้านที่มีพนักงานที่สนใจไอทีและการใช้คอมพิวเตอร์ ก็สามารถเรียนรู้ได้ง่าย.  แต่ถ้าหากฐานข้อมูลมีเนื้อหาจำนวนมาก  ทางที่ดีควรใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาจะดีกว่า.

การมีฐานข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ  แต่ถึงจะมีแล้วแต่ไม่ใช้งานก็ไม่เกิดประโยชน์.  การใช้ฐานข้อมูลนั้นมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงอยู่หลายเรื่องอีกเหมือนกัน.  ที่สำคัญคือ…

1.      การมีผู้รับผิดชอบฐานข้อมูลแต่ละเรื่อง.  ในเมื่อเราจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลหลายเรื่อง และแต่ละเรื่องก็อาจจะมีผู้รับผิดชอบต่างแผนกต่างคนกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบข้อมูลแต่ละเรื่องให้ชัดเจน  คือ ให้ดูแลข้อมูลให้ถูกต้องเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ.  เราอาจจะเรียกว่าผู้รับผิดชอบนั้นเป็นเจ้าของข้อมูลก็ได้  แต่ต้องเน้นว่าเจ้าของที่แท้คือบริษัท.  หน้าที่ของเจ้าของข้อมูลคืออำนวยความสะดวกในการใช้ฐานข้อมูล  ไม่ใช่หวงเก็บเอาไว้คนเดียว.

2.      การจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่แรกเกิดขึ้น.  ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งหากไม่รีบจัดเก็บไว้ในขณะที่กำลังเกิดข้อมูล  เราก็อาจจะไม่มีทางได้ข้อมูลนั้นมาอีก.  เปรียบเสมือนกับภาพดาวตก ถ้าหากเราไม่สามารถ่ายภาพดาวตกบนท้องฟ้ายามราตรีได้ทันทีที่เกิดปรากฏการณ์นั้น  เราก็ไม่มีวันจะได้ภาพดาวตกดวงนั้นมาอีกเลย.

3.      การเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆเข้าด้วยกัน  ยกเว้นฐานข้อมูลที่เป็นความลับบริษัท หรือ ข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่นข้อมูลพนักงาน.  ในกรณีเหล่านี้  เราจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด  หากมีข้อมูลหลายด้าน แต่เชื่อมโยงกันไม่ได้ก็เปล่าประโยชน์. หรือ เชื่อมโยงได้ แต่มีผู้นำข้อมูลเรื่องส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด บริษัทก็เสียหาย.

4.      กำหนดตัวบุคคลและหน้าที่ในการใช้ฐานข้อมูลให้เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ.  ผู้ใช้ทุกคนจะต้องมีรหัสผ่านสำหรับเข้าถึงฐานข้อมูล  และเมื่อเข้าถึงแล้วก็ยังใช้ได้เฉพาะในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น.  รหัสผ่านนั้นจะต้องกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง  ไม่ใช่มีรหัสเดียวแต่ใช้ไปตลอดชีวิต.

5.      การสำรองข้อมูลและฐานข้อมูลเอาไว้เป็นระยะ  เพื่อให้มั่นใจว่าหากฐานข้อมูลเสียหายไปด้วยประการใด  เราก็ยังสามารถนำฐานข้อมูลที่สำรองไว้กลับมาปรับให้เป็นปัจจุบันและใช้ได้อีก.

6.      ข้อมูลทุกรายการจะต้องมีกรรมวิธีในการวิเคราะห์ให้เป็นสารสนเทศ (information) ที่ทำให้เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น.   ข้อมูลที่เก็บไว้นั้นเป็นรายละเอียดที่หยุมหยิมมากมาย  จนทำให้เราไม่เห็นภาพของเหตุการณ์อย่างแท้จริง. เปรียบเสมือนเราเข้าไปในป่า  เห็นต้นไม้ใหญ่เล็กจำนวนมาก.  เราเห็นแต่ใบ ดอก ผล และ ต้น  แต่เราอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่านี่เป็นป่าอะไร มีขอบเขตแค่ไหน. 

7.      ข้อมูลคือรายละเอียดของต้นไม้ ส่วนสารสนเทศคือสภาพของป่า.  ดังนั้น SME ที่มีฐานข้อมูลใช้อย่าเพิ่งพอใจที่มีข้อมูล.  ต้องหาทางนำข้อมูลมาประมวลให้เป็นสารสนเทศให้ได้ด้วย.

               เรื่องข้อมูลยังมีประเด็นน่าสนใจอีกมากเพราะทุกวันนี้ข้อมูลได้กลายเป็นวิทยาการสำคัญ คือ Data Science ไปแล้ว.  ดังนั้นเราจะมาพูดคุยเรื่องข้อมูลนี้ต่อไปอีกสักพัก.